นัดพบแพทย์

ศีรษะยิ่งโตยิ่งฉลาดจริงหรือ

24 Sep 2016 เปิดอ่าน 13431

คุณแม่คนหนึ่งถามว่า ศีรษะลูกของเธอเล็กกว่าเด็กอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน
เช่นนี้แล้วจะทำให้ลูกฉลาดน้อยกว่าเด็กที่มีศีรษะโตกว่าด้วยหรือไม่?
ฟังคำถามของคุณแม่ท่านนี้แล้วต้องทำให้คิดตาม รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ ก็อาจกำลังคิดตามอยู่ด้วยเช่นกัน
แต่เราไม่ต้องรอให้คุณต้องสงสัยนาน เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจเรื่องศีรษะของลูกกันค่ะ

การทำงานของกะโหลกศีรษะ

พญ.รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ หน่วยพัฒนาการเด็กภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า
กะโหลกศีรษะที่หลายคนคิดว่าเป็นเพียงกระดูกชิ้นเดียวกัน
ความจริงแล้วในช่วงแรกเกิดกะโหลกศีรษะของคนเรา ประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้น
เมื่อเราโตขึ้นกระดูกกะโหลกศีรษะหลายชิ้น ก็จะเชื่อมต่อเข้าด้วยกันจากรอยประสานของกะโหลกศีรษะ
จนกลายเป็นกระดูกกะโหลกชิ้นเดียวในที่สุด ทั้งนี้เพื่อเปิดทางสะดวกให้กับการขยายตัวของสมองนั่นเอง

นอกจากนี้ในเด็กเล็กยังมีส่วนของศีรษะที่รองรับการขยายตัวของสมอง
นั่นก็คือบริเวณกระหม่อมด้านหน้าและด้านหลังของศีรษะ เพราะกระหม่อมด้านหน้าและหลัง
ซึ่งยังไม่พัฒนาเป็นกระดูกของกะโหลก เป็นเพียงแต่แผ่นเยื่อบางๆ จะปิดช้ากว่าส่วนอื่นๆ
กล่าวคือ กระหม่อมหลังซึ่งมีรูปสามเหลี่ยมอยู่บริเวณท้ายทอย จะค่อยๆ ปิดเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 6 สัปดาห์
และกระหม่อมหน้าซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมจะค่อยๆ ปิดเมื่ออายุประมาณขวบครึ่ง

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ สมองขยายตัวขึ้นไปดันกระดูกของกะโหลกศีรษะ ที่มีอยู่หลายชิ้นให้ค่อยๆ ขยายตัวออก
ทั้งนี้ธรรมชาติได้สร้างกลไกในลักษณะนี้
เพื่อรองรับการขยายตัวของสมอง ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงขอบปีแรกนั่นเอง

โดยปกติเมื่อทารกแรกเกิดลืมตาดูโลก แพทย์จะตรวจสุขภาพร่างกายของเด็กโดยรวม
รวมทั้งวันเส้นรอบวงศีรษะของเด็กด้วย
(การวัดขนาดเส้นรอบวงของศีรษะ
จะมีเกณฑ์เริ่มวัดจากส่วนที่นูนที่สุดของกลางหน้าผากเหนือคิ้ว วนไปรอบศีรษะ
โดยด้านหลังต้องให้ผ่านส่วนที่นูนที่สุดของท้ายทอย)
ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเด็กแรกเกิดปกติจะมีเส้นรอบวงศีรษะประมาณ 35 ซม.
หลังจากนั้นใน 3 เดือนแรกจะเพิ่มขึ้นอีกเดือนละประมาณ 1.5-2 ซม.

3 เดือนถัดไปจะเพิ่มขึ้นอีกเดือนละประมาณ 1 ซม.และหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเดือนละ 0.5 ซม.
จนกระทั่งครบขวบปี (หลังขวบปีไปแล้วจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และจะไม่โตขึ้นอีกเมื่อเป็นผู้ใหญ่)
ซึ่งถ้าเป็นดังนี้ แพทย์ก็จะบันทึกว่าเด็กมีการเพิ่มขึ้นของเส้นรอบวงศีรษะที่ปกติ
โดยอาจมีค่าเฉลี่ยที่มากหรือน้อยหว่านี้ได้เล็กน้อยจากปัจจัยดังนี้

1. อายุ เช่น เด็กแรกเกิดจะมีค่าเฉลี่ยเส้นรอบวงศีรษะประมาณ 35 ซม.
จากนั้นก็จะค่อยๆ โตขึ้นเมื่อครบขวบปีก็จะมีค่าเฉลี่ยเส้นรอบวงศีรษะประมาณ 45-47 ซม.

2. เพศ เด็กผู้ชายจะมีค่าเฉลี่ยเส้นรอบวงศีรษะโตกว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 1-2 ซม.

3. พันธุกรรม ในครอบครัวอาจมีลักษณะพันธุกรรม เช่น โครงสร้างของรูปร่างโตกว่าคนอื่น
เนื่องจากมีโครงกระดูกที่โตกว่า จึงอาจทำให้กะโหลกศีรษะโตกว่าเกณฑ์เล็กน้อย เด็กที่เกิดมาก็จะตัวโต
และมีขนาดเส้นรอบวงศีรษะที่มากกว่าเด็กอื่นได้เล็กน้อยเช่นกัน
หรือบางครอบครัวมีพันธุกรรมที่ทำให้ศีรษะโตกว่าครอบครัวอื่น โดยที่รูปร่างปกติ

แต่ถึงเด็กจะมีปัจจัยที่ทำให้ศีรษะใหญ่กว่าเด็กอื่นอยู่ใน 1 ใน 3 ข้อนี้
แต่ค่าเส้นรอบวงศีรษะต้องอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยปกติ เพราะถ้าโตกว่าค่าเฉลี่ยปกติขึ้นไปอีก
ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะมีเนื้อที่สมองมาก
แต่เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า เด็กกำลังป่วยเป็นโรคที่ต้องวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ยกตัวอย่าง

● มีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังที่ผิดปกติ หรือมีการอุดตันของทางเดินของน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง
คือภายในกะโหลกศีรษะ นอกจากหมองและเส้นเลือดแล้ว ยังมีน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง
ซึ่งถูกสร้างและดูดกลับหมุนเวียนตลอดเวลา แต่ถ้ามีการอุดกั้นของทางเดินของน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง
น้ำนี้ก็จะไม่ถูกถ่ายเทและดูดกลับ ทำให้มีน้ำอยู่ในสมองมาก ซึ่งจะมีแรงไปดันสมองและกะโหลก
กะโหลกศีรษะจึงขยายตัวออกเร็วกว่าปกติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ต่อไป แรงดันในสมองที่สูงขึ้นจะกดเบียดสมอง
ทำให้การเจริญเติบโตของสมองต้องชะงักตัวลงได้

● รอยประสานของกะโหลกศีรษะปิดเร็วกว่าปกติ
อย่างที่กล่าวแล้วว่า เมื่อแรกเกิดกระดูกของกะโหลกมีอยู่ด้วยกันหลายชิ้น
แล้วจะค่อยๆ ประสานกันเป็นกระดูกชิ้นเดียวเมื่อโตขึ้น แต่ถ้ารอยประสานของกะโหลกศีรษะปิดเร็วก่อนเวลา
เนื้อสมองก็จะหาทางออกโดยไปดันส่วนของกะโหลกที่ยังไม่ปิด
ดังนั้นถ้าผู้ป่วยที่รอยประสานของกะโหลกศีรษะ ในส่วนที่เชื่อมระหว่างด้านซ้ายกับด้านขวาปิดเร็วกว่าปกติ
เนื้อสมองจะหาทางออกด้วยการขยายตัวไปในแนวหน้าและหลัง ทำให้หน้าชัดเจน
ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยการผ่าตัด
เพื่อเปิดรอยประสานของกะโหลกศีรษะที่ปิดเร็ว ให้สามารถเพิ่มเนื้อที่ของชั้นการขยายตัวของสมองได้

ทั้งนี้ถ้าหากแพทย์นัดตรวจสุขภาพของเด็ก แล้วพบว่าเส้นรอบวงของสมองเด็กใหญ่หรือเล็กกว่าปกติ
จากเกณฑ์ปกติของเด็กทั่วไป หรือมีรูปร่างของศีรษะที่ผิดปกติ แพทย์จะพิจารณาตรวจเพิ่มเติม
ถ้าพบว่าเด็กมีความผิดปกติจริง ก็ต้องรีบแก้ไขก่อนที่จะมีผลต่อการทำงานของสมอง
ซึ่งเด็กทุกคนควรได้รับการติดตามการเติบโตของศีรษะอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในขวบปีแรก

รูปร่างของศีรษะกับความเชื่อ

ความเชื่อที่ว่าเด็กศีรษะทุยจะฉลาดกว่าศีรษะแบน เพราะว่าถ้าเด็กนอนหงายแล้ว กะโหลกจะถูกทับให้ศีรษะแบน
สมองในส่วนนั้นก็แบน จึงไม่สามารถขยายตัวออกไปได้อย่างเต็มที่ และเด็กศีรษะทุยจะฉลาดกว่า
เพราะเมื่อศีรษะทุย สมองก็จะมีพื้นที่ในการขยายตัวของเนื้อสมองออกไปได้อีกเล็กน้อย
จึงทำให้เด็กศีรษะทุยฉลาดกว่าเพราะมีเนื้อสมองมากกว่านั้น ความเชื่อดังกล่าวนี้ไม่เป็นความจริง!

พญ.รวิวรรณ ชี้แจงว่า ในเด็กแรกเกิดที่มีการเจริญเติบโตปกติ สมองจะเติบโตตามปกติด้วยทุกวัน
โดยสมองก็ยังคงขยายขนาดขึ้น ไม่ว่าจะนอนหงายมากหรือนอนตะแคงมากก็ตาม
เพราะว่าถ้าเด็กจะนอนหงายมากจนทำให้เกิดแรงกดทับจนเด็กมีศีรษะแบน ก็แบนอย่างที่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหา
เพราะโดยทั่วไปแล้วกะโหลกศีรษะของคนปกติ จะมีรูปร่างลักษณะที่ไม่ต่างกันอย่างชัดเจน
เว้นแต่คนกลุ่มนั้นจะมีลักษณะผิดปกติ ที่ทำให้เกิดโรคที่ต้องรักษาดังที่กล่าวไปแล้ว


สิ่งที่ทำให้กะโหลกของคนเราแตกต่างกันออกไปบ้างเล็กน้อย ได้แก่

● ลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้รูปร่างศีรษะคล้ายพ่อแม่

● สิ่งแวดล้อม ส่วนไหนที่ได้รับแรงกดทับจาการนอนมากๆ อาจทำให้ส่วนนั้นมีลักษณะแบนลงได้
แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากหรือชัดเจน ถ้าต้องการให้เด็กศีรษะทุยก็อาจให้เด็กนอนตะแคง
โดยพยายามให้นอนสลับทั้งสองข้างในเวลาที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ศีรษะมีลักษณะสมดุล

ความฉลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของสมอง

มีลักษณะของรูปร่างของกะโหลกศีรษะที่ต่างกัน ไม่สามารถบอกได้ถึงความฉลาดหรือพัฒนาการได้
ต้องดูไปในแต่ละคน จริงอยู่ที่ว่าสมองที่เกี่ยวกับความฉลาดจะอยู่บริเวณส่วนหน้า
แต่การนอนตะแคงเพื่อให้ศีรษะทุย จะดีในแง่ของของลักษณะรูปร่างของศีรษะที่สวยงามมากกว่า

ส่วนในเรื่องของความฉลาดนั้น ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของสมองของแต่ละคน
ว่าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ศีรษะจะแบนหรือทุยจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ
แต่สำคัญที่การฝึกพัฒนาการทำหน้าที่ของสมองที่มีอยู่ ให้ทำงานได้อย่างเต็มที่มากกว่า

ฉะนั้นศีรษะของเด็กคนไหนจะใหญ่โตกว่าใครไม่ใช่เรื่องสำคัญ
สำคัญแต่จะทำอย่างไรที่จะบริหารเนื้อสมองที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ
การพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพทุกครั้งที่แพทย์นัด
การส่งเริมพัฒนาการของเด็กให้เต็มไปตามวัย
การส่งเสริมความสามารถในทางที่เด็กถนัดและชอบ
ก็ถือเป็นการเริ่มต้นในการส่งเสริมที่ดี ที่จะทำให้เจ้าตัวน้อยของคุณฉลาดได้ค่ะ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=anotherside&month=07-2010&date=01&group=25&gblog=336