นัดพบแพทย์

สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต ทำวัยรุ่นสายตาสั้นเร็วขึ้น

27 Sep 2016 เปิดอ่าน 968

 หนุ่มๆ สาวๆ สมัยนี้ติดแท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน ฯลฯ โดยหารู้ไม่ว่าเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้สายตาสั้นและเอียงเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น โดยกูรูด้านสายตาอย่าง พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตา มาเผยเคล็ดลับการถนอมสายตาในงานแถลงข่าว “ความร่วมมือของ 2 ผู้นำในการแก้ปัญหาสายตา” ของบริษัท หอแว่นกรุ๊ป จำกัด และศูนย์รักษ์สายตาโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งภายในงานได้นำวิทยาการใหม่ๆ และข้อมูลมานำเสนอถึงการป้องกันและแก้ปัญหาทางสายตา ณ ร้านหอแว่น ชั้น 2 สยามพารากอน
       
       พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตา เผยว่า “ยุคนี้ควรให้ความสำคัญกับสายตา ตรวจครั้งแรกตั้งแต่ก่อนวัยเรียน 3 ขวบเป็นต้นไป เพราะเด็กยุคใหม่จะมีปัญหาเรื่องสายตาขี้เกียจร่วมด้วย ควรรับรู้และกระตุ้นการทำงานเสียแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้วิถียุคใหม่ ทั้งเรียน ทำงาน ทำให้ไม่อาจปฏิเสธนานาเทคโนยีได้ คุณหมอจึงขอให้สูตรสำหรับการถนอมสายตาของตัวเอง 20 20 20 ป้องกันอาการตาแห้ง ซึ่งจะส่งผลให้ระคายเคือง ตาอักเสบ ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นเพราะใช้สายตานานๆ ให้นั่งทำงานแค่ 20 นาที พักสายตา 20 นาที เช่น ไม่มองจอ หลับตา มองระยะไกลที่มีสีเขียวๆ ฟ้า เพราะให้ความรู้สึกสบาย มองไกลไปสัก 20 ฟุต โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง จะเป็นระยะที่สบายมาก แล้วกลับมาทำงานใหม่”
        “กรณีสายตาล้า อย่าฝืน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้เปลี่ยนโฟกัส ลุกออกไปทำโน่นนี่ก่อน พร้อมหมั่นตรวจสายตาปีละครั้ง ถ้ามองไม่ชัดแล้ว ควรใส่แว่นสายตา ป้องกันอาการสั้นและเอียงรุนแรงขึ้น นอกจากนี้การรับประทานอาหาร ผักห้าสี ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ก็มีส่วนช่วยได้มากค่ะ”
       
       แต่หากใครมีเจอปัญหาด้านสายตาแล้ว การแก้ปัญหาก็ไม่ได้ยาก ภาคี ประจักษ์ธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท หอแว่นกรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงการแก้ปัญหาสายตาของคนในปัจจุบันว่า แนวโน้มปัญหาด้านสายตาที่พบในช่วงวัยรุ่น วัยเรียน จะประสบปัญหาเรื่องสายตาสั้น เอียง ส่วนใหญ่จะเลือกใส่แว่นตา พอเข้าวัยทำงานจะเจอปัญหาเรื่องสายตาสั้น เอียง และมักพบปัญหาตาเมื่อยล้าเนื่องจากการทำงานหน้าจอเป็นเวลานานๆ และกลุ่มคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มักจะพบปัญหาเรื่องสายตายาว และสายตายาวสูงอายุเพิ่มเข้ามา ซึ่งจะมีปัญหาในการมองมากกว่า 1 ระยะ ซึ่งกลุ่มนี้จะตัดแว่นปีละ 1-2 ครั้ง และแก้ไขด้วยการใส่แว่นสายตา 2 เลนส์ หรือเลนส์โปรเกรสซีพ แต่หากบางคนที่สายตาคงที่แล้ว อาจแก้ปัญหาด้วยการทำเลสิค ที่เป็นการรักษาแบบถาวร และไม่ต้องคอยใส่แว่ะในการทำกิจกรรมต่างๆ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องอาศัยทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย
       
       “การแก้ปัญหาสายตานั้น ควรเลือกร้านแว่นสายตาที่ได้มาตรฐาน มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัยรองรับ เพราะสายตาคนเรามีเพียงคู่เดียว หากเกิดอะไรขึ้นมันไม่คุ้ม” ภาคี กล่าวทิ้งท้าย

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9570000055314