นัดพบแพทย์

สมุนไพรกับเบาหวาน: ข้อควรระวัง 

06 Oct 2016 เปิดอ่าน 3022

สมุนไพรเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานจนเกิดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนต่างๆ สมุนไพรหลายชนิดเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากตามชุมชนและที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุผลนี้ร่วมกับความเชื่อที่ว่าสมุนไพรมาจากธรรมชาติจึงไม่มีอันตรายต่อร่างกายทำให้ผู้ป่วยหันกลับมาใช้ยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อไม่พอใจผลการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้การโฆษณายาสมุนไพรบางประเภทมักอวดอ้างถึงแต่สรรพคุณต่างๆ เพื่อการรักษาโดยไม่ได้กล่าวถึงผลข้างเคียงที่อาจพบได้

            จนถึงปัจจุบันข้อมูลการศึกษาถึงประโยชน์ของสมุนไพรยังมีน้อย ขาดการรวบรวมอย่างเป็นระบบ ผลข้างเคียงก็พบได้ไม่แตกต่างจากยาแผนปัจจุบัน แต่ยังอาจขาดการตรวจสอบมาตรฐานการผลิตซึ่งอาจทำให้ส่วนประกอบทางยาเปลี่ยนแปลงไปหรือปนเปื้อนสารพิษ เช่น โลหะหนักต่างๆ ความเชื่อที่ว่าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อไตนั้นไม่เป็นความจริงเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ผลมะเฟืองชนิดเปรี้ยว ถ้ารับประทานปริมาณมากในครั้งเดียวก็ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้จากการตกตะกอนของสารออกซาเลตในท่อไตได้

            ยาสมุนไพรบางชนิดยังทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงได้โดยตรง ยกตัวอย่างเช่น ไคร้เครือ ซึ่งเคยใช้เป็นส่วนผสมในยาหอมแก้ลมวิงเวียน มีส่วนประกอบของกรดอะริสโตโลชิกที่ทำให้เซลล์บุท่อไตตาย เกิดพังผืดในเนื้อไตและไตเสื่อมเรื้อรังตามมาได้ จากเหตุผลนี้ทำให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติตัดไคร้เครือออกจากตำรับยาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2554 เช่นเดียวกับรายงานการพบกรดอะริสโตโลชิกในชาจีนลดความอ้วนที่มีส่วนผสมของยาสมุนไพรจีนที่มีชื่อว่า Aristolochia fangchi ทำให้เกิดไตเสื่อมเรื้อรังได้เช่นกัน หรือสมุนไพรปอกะบิดที่เชื่อว่าอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดได้   ก็ส่งผลให้เกิดไตวายได้ในผู้ป่วยหลายรายที่ใช้ติดต่อกันนานๆ นอกจากนี้สมุนไพรบางชนิดยังอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของตับที่ทำหน้าที่ในการสลายตัวยาได้ด้วย

 สำหรับประโยชน์ของยาสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้น

ในกรณีของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งสาเหตุหลักของโรคเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ การรักษาหลักของเบาหวานชนิดนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าคือการฉีดยาอินซูลินไปเพื่อทดแทน ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการใช้ยาสมุนไพรในกลุ่มนี้เลยแม้แต่ชนิดเดียว ทั้งยังอาจก่อโทษต่อการทำงานของตับและไตได้ การหลงเชื่อคำโฆษณาไปใช้ยาสมุนไพรและหยุดการใช้อินซูลินสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงชีวิตจากโรคเบาหวานได้

            ในเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นสาเหตุหลักเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลินของเซลล์ในร่างกาย ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับภาวะอ้วน แม้มีความพยายามในการนำสมุนไพรหลายชนิดมารักษาเบาหวานชนิดนี้ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จให้เห็นในเชิงประจักษ์เท่าที่ควร ดังนั้นการแก้ไขภาวะร่วมที่เป็นเหตุสำคัญคือการลดน้ำหนักตัวลง โดยการออกกำลังกาย และการควบคุมอาหาร ก็อาจทำให้น้ำตาลในเลือดควบคุมได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องไปเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากยาหรือสมุนไพรได้

            สุดท้ายนี้ ถ้าท่านได้รับทราบข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับสมุนไพรมา ควรมองถึงข้อดีและข้อเสียเสมอ ไม่ควรเชื่อแต่คำโฆษณาอวดอ้าง ควรแจ้งและปรึกษาแพทย์เสมอ ในกรณีที่ท่านต้องการใช้ยาสมุนไพรควรตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือด การทำงานของไต ตับ และอวัยวะอื่นๆ ร่วมไปด้วย รวมทั้งพิจารณาหยุดยาถ้าเริ่มพบโทษจากยานั้นๆ 

เรียบเรียงจากวารสาร Sugar Free ฉบับตุลาคม 2558 โดย อ.นพ.นัฐสิทธิ์ ลาภปริสุทธิ, พญ.พรรณทิพา ลาภปริสุทธิ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล 

ที่มา http://www.dmthai.org/news_and_knowledge/1335