นัดพบแพทย์

สาวๆ การตรวจภายในที่ไม่ควรมองข้าม

12 Aug 2016 เปิดอ่าน 2419

การตรวจภายในไม่ใช่เรืองน่ากลัวแต่อย่างใด แต่จะสำคัญมากสำหรับผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะเป็นสาวโสด หรือแต่งงานแล้ว การตรวจภายในถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคน เพราะมีหลายโรคของผู้หญิงที่ตรวจพบได้ก่อน โดยที่ไม่มีอาการ หรือหากพบความผิดปกติก็จะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ง่ายต่อการรักษาและหายได้เร็ว  การตรวจภายในถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคนลดโอกาสการสูญเสียต่างๆ ได้มากกว่าดังนั้น พญ.ศศิมาศ  รุจิราวงศ์  ศูนย์ สูติ-นรีเวช  โรงพยาบาลธนุบรี จึงได้ให้ความกระจ่างดังนี้ค่ะ

การตรวจภายในคืออะไร ??

                การตรวจภายในคือการตรวจอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีทั้งภายนอกและภายในได้แก่  อวัยวะเพศภายนอก , ช่องคลอด , ปากมดลูก , มดลูก , ปีกมดลูก , รังไข่ และเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ อวัยวะดังกล่าว

การตรวจภายในสำคัญอย่างไร??

-           เพื่อตรวจค้นหาและคัดกรองความผิดปกติ  ทั้งที่มีและไม่มีอาการแสดงเมื่อพบโรคแล้ว จะได้รับการรักษา , ป้องกันการลุกลามของโรคและติดตามอาการอย่างเหมาะสม

-           เพื่อวินิจฉัยแยกโรคจากระบบอื่นๆ เช่น ระบบทางเดินอาหาร , ระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

-           โรคบางโรคเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่มีอาการแสดงให้ทราบก่อนได้ นอกจากต้องตรวจภายใน เช่น ก้อนเนื้องอกที่มดลูก  มะเร็งปากมดลูกในระยะแรก เป็นต้น

อาการใดบ้างที่เราควรมาตรวจภายใน

-           เลือดออกผิดปกติ เช่น ออกกะปริบกะปรอย , ปริมาณมาก มีกลิ่นเลือด , ระดูมานานกว่า 7 วัน ระยะรอบประจำเดือน  มาห่างน้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า  35 วัน , เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์

-           ตกขาว มีปริมาณมากขึ้น สีเปลี่ยนไป เช่น สีเขียว , สีเหลือง มีกลิ่นแรงขึ้น หรือลักษณะเปลี่ยนไป เช่น  มูกสีขาวข้นคล้ายแป้ง

-           ปวดท้องน้อย  ทั้งที่มีสัมพันธ์กับช่วงมีระดูหรือไม่มีระดู ,ปวดหน่วงท้องน้อย

-           พบผื่น  , ติ่งเนื้อที่อวัยวะเพศภายนอก , แสบขัดในช่องคลอด

-           คลำพบก้อนที่ท้องน้อง

เราควรเริ่มตรวจภายในเมื่อใด

                เราควรเริ่มตรวจภายในเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น  ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตามและร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

-           เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี หรือมีเพศสัมพันธ์แล้วอย่างน้อย 3 ปี

-           สามารถหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ เมื่ออายุ 65-70 ปี โดยที่ผลการตรวจคัดกรองปกติ 3 ครั้ง ใน 10 ปี ก่อนหยุดตรวจ

-           ผู้หญิงที่ผ่าตัดเอามดลูกออกแล้ว สามารถหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ แต่ต้องมีผลการตรวจก่อนหน้านี้ปกติ

-           ผู้หญิงที่เคยตรวจพบความผิดปกติแล้ว ควรตรวจสม่ำเสมอ

-           ผู้ที่ได้รับ HPV vaccine แล้วยังคงต้องตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ เช่น เดียวกับผู้ที่ไม่ได้รับ vaccine

-           การตรวจภายในนั้น ควรตรวจทุก 1 ปี ส่วนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้น  อาจตรวจได้ทุก 3 ปี

การตรวจภายใน มีการตรวจอะไรบ้าง

-           การดูและคลำอวัยวะภายนอกและภายในอุ้งเชิงกราน

-           การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีหลายวิธี Pap smear , Liquid base cytology (ThinPrep Pap test หรือ SurePath) , HPV test ปัจจุบันวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจพบความผิดปกติที่ดีที่สุด คือการตรวจ Pap smear หรือ Liquid base cytology ร่วมกับ HPV test

-           การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยการอัลตราซาวน์ช่องท้องด้านล่าง เป็นต้น

        “ตรวจภายใน” ประโยคสั้นๆ นี้ที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่สบายใจไปตามๆ กันหากต้องรับการตรวจไม่ว่าจะเป็นหญิงมีบุตรแล้ว หรือหญิงที่ยังไม่แต่งงานก็ตาม  อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการตรวจภายในเป็นการตรวจทางการแพทย์ที่ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องตรวจตามความเหมาะสมดังนั้นจึงควรได้รับการตรวจภายใน เป็นประจำ สม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้งแม้จะไม่มีอาการอะไร

ข้อมูลโดย

พญ.ศศิมาศ  รุจิราวงศ์  ศูนย์ สูติ-นรีเวช  

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://iam.hunsa.com/tomoaijung/article/170048