คอลัมน์....สายตรงสุขภาพกับศิริราช
จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลศิริราช มีข้อมูลตรงกันว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทย ถูกมะเร็งเต้านมคุกคามสูงมากขึ้นตลอดเวลา ซึ่งที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสูงมากเป็นอันดับ 1 แซงหน้าจากมะเร็งปากมดลูก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี
ปัญหาของมะเร็งเต้านม คือ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
เพียงแต่รู้ว่า ใครมีความเสี่ยงสูงเท่านั้น เช่น ผู้หญิงผิวขาว ชาวตะวันตก อายุเกิน 40 ปี ไม่มีบุตร มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหลายคน หรือการที่หญิงไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น มีลูกน้อยลง ใช้วิถีชีวิตและบริโภคอาหารเหมือนชาวตะวันตกที่มีสถิติการเป็นมะเร็งเต้านมสูง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมก็เป็นได้
ฉะนั้น การพบมะเร็งได้เร็วเท่าใด โอกาสรักษาให้หายขาดก็มีมากขึ้นเท่านั้น
มะเร็งเติบโตอย่างไร
โดยทั่วไป มะเร็งเต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ในระยะเริ่มก่อตัว ส่วนใหญ่จะมีการกลายตัวที่ท่อน้ำนมถึง 70% และเป็นที่ต่อมน้ำนมประมาณ 30% เซลล์ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็ง จะแบ่งตัวออกไปเรื่อย ๆ จนมีขนาดเป็นก้อนใหญ่ขึ้น คลำได้เป็นก้อนผิดปกติที่เต้านม ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ก้อนมะเร็งที่โตขึ้นมาได้ขนาด 1 ซม. จะใช้เวลาเฉลี่ยถึง 2 ปีครึ่ง
ในช่วงแรกจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลย จนเมื่อใหญ่ขึ้น จะคลำได้เป็นก้อนแข็งในเนื้อเต้านม หากไม่หมั่นคลำเต้านมตนเองทุกเดือนก็จะไม่รู้ เพราะจะไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย มีส่วนน้อยที่พบเลือดออกที่หัวนม หรือมีแผลที่หัวนมร่วมด้วย
มาตรวจเต้านมกันเถอะ
การตรวจเต้านมด้วยมือ จะคลำพบก็ต่อเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่เกินกว่า 1 ซม. แล้ว หากมะเร็งที่เล็กกว่านี้ แม้แต่แพทย์ก็ยากที่จะแยกแยะได้ การตรวจเต้านมด้วยเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูง หากจะให้พบเร็วตั้งแต่ยังไม่ปรากฏอาการ สามารถตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมแมมโมแกรม และเครื่องอัลตราซาวดน์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทุกแห่ง เคล็ดลับตรวจพบมะเร็งเต้านมเร็ว
เพื่อให้การตรวจพบมะเร็งเต้านมได้รวดเร็วตั้งแต่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก ควรทำดังนี้
1. หมั่นตรวจเต้านมตนเองตั้งแต่วัยสาว หากพบก้อนผิดปรกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการแยกแยะว่า ก้อนที่พบ เป็นเพียงไตนม หรือ ถุงน้ำ (cyst) หรือเนื้องอกชนิดธรรมดา (fibroadenoma) หรือก้อนมะเร็ง
2. ในหญิงที่มีความเสี่ยง อายุ 40 ปี ขึ้นไป และไม่มีอาการผิดปรกติ หรือหญิงที่มีอาการแสดงดังกล่าวข้างต้น ให้เริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งโดยให้แพทย์ตรวจเต้านม และทำเอกซเรย์ (mammogram) และตรวจอัลตราซาวดน์เต้านม ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถตรวจหามะเร็งได้แม่นยำมาก หากแพทย์สงสัยว่ามีความผิดปรกติเกิดขึ้น ก็จะทำการตรวจเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งต่อไปหรือไม่
3. วิธีพิสูจน์จุดหรือก้อนเนื้อเต้านมว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ แพทย์จะทำการเจาะดูดเซลล์ที่ก้อนเนื้อเพื่อไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง (fine needle aspiration) หรือเจาะโดยใช้เข็มเจาะแบบ core biopsy ซึ่งจะเป็นเข็มตัดเนื้อโดยไม่ต้องผ่าตัด หรือจะใช้วิธีการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อไปตรวจแบบวิธีดั้งเดิมก็ได้ (open biopsy) ซึ่งพยาธิแพทย์จะเป็นผู้อ่านผลทางกล้องจุลทรรศน์ โดยจะใช้ประมาณ 3 - 7 วัน เมื่อรู้ผลว่าเป็นมะเร็ง ก็จะทำการรักษาโดยเร็วต่อไป
ดีจัง! พบมะเร็งเต้านมเร็วจริง
การพบมะเร็งที่มีขนาดเล็กเร็วขึ้น มีข้อดีหลายประการคือ
1. มีโอกาสหายจากมะเร็งเต้านมได้สูงมาก และโอกาสกลับเป็นซ้ำในภายหลังก็น้อย
2. สามารถเก็บเต้านมข้างที่เป็นมะเร็งไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องตัดทิ้งทั้งเต้า เพียงคว้านเอา
มะเร็งออกให้หมด และฉายรังสีเต้านมที่เหลืออยู่ ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยมาก และหากพบ ในระยะที่เล็กมาก ๆ ยังไม่ลุกลามออกนอกท่อเต้านม (ระยะที่ 0) และพบเพียงจุดเดียว ก็ อาจไม่ต้องฉายรังสีก็ได้
3. ไม่มีความจำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก จึงไม่ต้องเสี่ยงต่ออาการแขนบวม หรือแขนติดหลังผ่าตัด
4. ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือที่เรียกว่า เคโม ซึ่งมีผลข้างเคียงมาก ซึ่งคนส่วน
ใหญ่มักจะกลัวการให้ยาเคโมกัน
เดี๋ยวนี้เต้านมเก็บรักษาได้มากขึ้น
จากการศึกษาของ รศ. นพ. กริช โพธิสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พบว่า การที่ประชาชนมารับการตรวจรักษาเร็วขึ้น และแพทย์มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทำให้สามารถตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้นได้สูงขึ้น จากที่เคยพบมะเร็งในระยะ 0 (ductal carcinoma in situ) เพียงไม่ถึง 1% ในระหว่างปี 2527 – 2536 แต่กลับพบมากขึ้นถึง 7% ในปี 2537- 2543 และสามารถผ่าตัดแบบเก็บเต้านมได้มากขึ้น จาก 8 % ในปี 2541 เป็น 38% ในปี 2546 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
จะผ่าตัดที่ไหนดี
การรักษาโดยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ (Breast conservation therapy) สามารถผ่าตัดได้ในโรงพยาบาลของรัฐเกือบทุกแห่งของประเทศ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์มะเร็งต่าง ๆ เช่น ศูนย์มะเร็งชลบุรี ลำปาง อุดรธานี อุบลราชธานี ซึ่งมีแพทย์และเครื่องมือที่ทันสมัยรองรับท่านอยู่เสมอ
จะรอให้ถึงวันนั้นทำไม เพียงหญิงไทยเราสนใจตรวจเต้านมตนเองกันมากขึ้น หากเป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว ก็ให้สามีช่วยตรวจให้ด้วย เดือนละครั้งก็พอ เท่านี้เต้านมของท่านก็จะอยู่คู่กายไปนานพร้อมกับสุขภาพที่ดี
รศ.นพ. ศุภกร โรจนนินทร์
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9490000046114