นัดพบแพทย์

อาการไอเรื้อรังในผู้ใหญ่

03 Mar 2017 เปิดอ่าน 3469

คำนิยาม มีอาการไอนานต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 2 เดือน(คำนิยามจากสมาคมโรคปอดของประเทศสหรัฐอเมริกา, American College of Chest Physician)

โดยปกติ เมื่อมีการเจ็บป่วยจากกลุ่มอาการไข้หวัดธรรมดา ช่วงแรกมีอาการไอแห้งๆ หรือมีเสมหะได้ และส่วนใหญ่อาการไอมักจะค่อยๆดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัด เช่น กลุ่มอาการหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ  กลุ่มอาการโพรงไซนัสอักเสบ อาการไอจะมีระยะเวลานานมากกว่า 2-4 สัปดาห์   ในกรณีผู้ป่วยบางรายเดิมมีโรคประจำตัวเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้  เมื่อไม่สบายเป็นไข้หวัด อาจมีอาการไอมากและระยะเวลานานมากกว่า 2-4 สัปดาห์ จากกลุ่มอาการน้ำมูกไหลลงคอ ระคายคอทำให้เกิดอาการไอ

สาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการไอเรื้อรังในประเทศไทย

  1. ภาวะน้ำมูกไหลลงลำคอ(Post nasal drip syndrome/Upper airway cough syndrome)
    ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักมีอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับอาการทางจมูก เช่น น้ำมูก หรือ คัดจมูกเป็นๆหาย ระคายคอ ผู้ป่วยบางรายอาจะมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรังชนิดมีเสมหะ สาเหตุเกิดได้จาก

     

    • อากาไอที่เกิดภายหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน(Post-infectious cough)
    • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้(Allergic rhinitis)
    • กลุ่มอาการโพรงไซนัสอักเสบ(Sinusitis)
  2. กลุ่มอาการไอที่มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่(Chronic Bronchitis/Chronic Obstructive Pulmonary disease)ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่พบว่าส่วนใหญ่ จะมีอาการไอเรื้อรังมีเสมหะเป็นระยะเวลานานหลายปี จากกลุ่มอาการหลอดลมลมอักเสบเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ หรือโรคถุงลมโป่งพอง
  3. โรคหอบหืด(Asthma) มักมีประวัติโรคภูมิแพ้เดิมอยู่ มีประวัติไอ ร่วมกับมีอาการหายใจติดขัด หรือมีเสียงวี๊ดๆ
  4. วัณโรคปอด(Pulmonary Tuberculosis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับมีอาการไอมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหารและน้ำหนักตัวลดลง มีประวัติสัมผัสบุคคลใกล้ชิดที่ป่วยเป็นวัณโรค
  5. โรคกรดไหลย้อน(Gastro-esophageal Reflux Disease) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับมีอาการ เจ็บคอเรื้อรัง มีอาการแน่นแสบร้อนบริเวณกลางหน้าอก เร้อเปรี้ยวบ่อยๆ
  6. กลุ่มอาการไอจากยาบางชนิด ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง การรับประทานยาความดันในกลุ่มยา ACEI  อาจมีอาการไอแห้งๆได้และส่วนใหญ่เกิดภายหลังเริ่มรับประทานยาในช่วง 1-2 เดือน

การตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการไอเรื้อรัง

ในการตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการไอเรื้อรัง จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ระหว่างแพทย์เฉพาะทาง สาขาโรคหู คอ จมูก(ENT) อายุรแพทย์โรคทางเดินหายใจ(chest med)  และสาขาโรคภูมิแพ้(allergy)

  1. การซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียด สามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการไอเรื้อรังได้เบื้องต้น  แพทย์สาขาโรคหู คอ จมูก มีเครื่องในการส่องดูโพรงจมูก และผนังลำคอเพื่อช่วยในการวินิจโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ  กลุ่มอาการโพรงไซนัสอักเสบ
  2. การส่งตรวจเอ็กซ์เรย์ปอด(Chest X-ray)  เพื่อดูความผิดปกติภายในปอดเบื้องต้น  หรือ การส่งตรวจเอ็กซ์เรย์โพรงไซนัส(Sinus X-ray) ในกรณีที่สงสัยภาวะโพรงไซนัสอักเสบ
  3. การตรวจสมรรถปอด หรือการตรวจการกระตุ้นความไวของหลอดลม (Pulmonary function test, Bronchoprovocation test)  เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคหอบหืด  โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่
  4. การตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก(CT-scan Chest)
  5. การส่งตรวจเสมหะ (Sputum examination)  การส่งตรวจเสมหะเพื่อย้อมเชื้อและเพาะเชื้อวัณโรค(Acid fast stain, Culture for Tuberculosis)

ผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนจากอาการไอ ได้แก่ มีอาการเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหรือซี่โครงบริเวณทรวงอก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขณะที่มีอาการไอ  อาการไอที่มีอาการมากในช่วงระยะเวลากลางคืน มีผลทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่สนิท   บางครั้งอาการไอส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้เกิดความกังวลความั่นใจในการเข้าสังคมได้

โดย : นพ. ปรีชา แสนยานุสิทธิ์กุล

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88/