นัดพบแพทย์

อายุมาก เสี่ยงหัวใจวาย

24 Aug 2016 เปิดอ่าน 2784

หากคุณเป็นชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือเป็นหญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ เครียด

ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเจ็บแน่นหน้าอกระหว่างราวนม ลิ้นปี่ คล้ายมีอะไรบีบรัดหรือกดทับ เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่าคุณควรหันมาใส่ใจในสุขภาพหัวใจได้แล้ว มิเช่นนั้นคุณอาจจะเป็น "หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน"

ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะที่หัวใจไม่สามารถบีบเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอกับความต้องการขณะพัก หรือเมื่อต้องออกกำลังกาย เป็นกลุ่มอาการที่พบในโรคหัวใจหลายชนิด อาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรคหัวใจ หรืออาจเป็นระยะสุดท้ายของโรคนั้นๆ ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเป็นภาวะที่พบได้บ่อย มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง

สาเหตุที่พบบ่อยในคนไทย

1.โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ไม่สามารถสูบฉีดได้เต็มที่

2.โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น

3.โรคความดันโลหิตสูง ที่ไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

4.โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ ดื่มสุรามาก หรือบางครั้งอาจจะไม่สามารถหาสาเหตุได้

อาการที่พบบ่อย

1.หอบเหนื่อย ในระยะเริ่มแรกอาการหอบเหนื่อยจะมีไม่มาก มักเป็นเวลาออกแรง แต่ถ้าเป็นมากขึ้น แค่ออกแรงเล็กน้อยก็เหนื่อยแล้ว บางครั้งตื่นขึ้นมาเหนื่อยตอนกลางคืนเนื่องจากมีน้ำคั่งในปอด

2.บวมตามขาและหลังเท้า เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไตลดลง ทำให้ไตไม่สามารถขับเกลือและน้ำออกจากร่างกายได้ จึงมีอาการบวมเกิดขึ้น

3.อาการอ่อนเพลีย เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอ

การรักษา

รักษาตามอาการ ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีภาวะน้ำหนักเกินในร่างกาย จะได้รับยาขับปัสสาวะเพื่อขับน้ำในปอด และลดอาการบวมของเข่า ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง จะได้รับยากระตุ้นหัวใจเพื่อทำให้หัวใจบีบตัวดีขึ้น ในการแก้ไขสาเหตุ หรือต้นตอที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เช่น โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเลือดหัวใจโดยการฉีดสี ในกรณีเส้นเลือดตีบมาก ต้องทำบอลลูนขยายหลอดเลือด หรือผ่าตัดบายพาส

ในกรณีลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมาก การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ควรหาปัจจัยที่มากระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เช่น การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป ดื่มน้ำมากจนเกินไป รับประทานยาไม่ตรงกำหนดเวลา เป็นต้น

การหาปัจจัยเหล่านี้จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นมาใหม่ เพราะเรื่องของสุขภาพหัวใจไม่ควรรอหรือนิ่งนอนใจ

นพ.ทองดี วสุธารา

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.komchadluek.net/news/unclecham/80664