นัดพบแพทย์

เครียดลงกระเพาะ

13 Sep 2016 เปิดอ่าน 3128

 คนทำงานออฟฟิศมักต้องทำงานเร่งรีบ แข่งกับเวลา ทำให้พฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป ส่งผลให้คนป่วยเป็นโรคเครียดลงกระเพาะกันมากขึ้น จะทำอย่างไร เรามีคำตอบครับ
       
       ความเครียด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาการของโรคกระเพาะอาหารกำเริบ เพราะในขณะที่เราเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานมากขึ้น ส่งผลกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ และมีผลต่อการบีบตัวของกระเพาะร่วมด้วย บ่อยครั้งจะแสดงอาการออกมาภายนอก ได้แก่ ปวดท้อง จุกอืดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน แน่นหน้าอก หรือเรอ บ่อยได้

    นอกจากความเครียดแล้ว ปัจจัยร่วมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ รับประทานอย่างเร่งรีบ กลืนด้วยความรวดเร็ว หรือดื่มน้ำในขณะรับประทานอาหาร สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อระบบการย่อยเช่นกัน ส่วนใหญ่อาการปวดท้องที่เป็นผลจากภาวะเครียดลงกระเพาะจะไม่รุนแรง แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องรุนแรง ถ้าเป็นมากอาจถึงขั้นอาเจียน หรือถ่ายอุจจาระออกมาเป็นเลือด ซึ่งบ่งชี้ว่าอาการอยู่ในขั้นอันตราย ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากปล่อยทิ้งไว้หรือช้าเกินไป อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
       
       สำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อลด หรือหลีกเลี่ยงภาวะเครียดลงกระเพาะ ควรปรับเรื่องพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ได้แก่ รับประทานอาหารให้ตรงเวลา เริ่มจากอาหารที่ย่อยง่าย และงดอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด  เค็มจัด หวานจัด ของดอง และอาหารทอดทุกประเภท รวมทั้งพยายามรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ เพราะจะช่วยให้กระเพาะอาหารเคยชินกับการย่อยที่เป็นเวลา และปล่อยน้ำย่อยออกมาในปริมาณที่พอดีทุกวัน ที่สำคัญ ควรเลิกสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบและโรคกำเริบหนักขึ้น รวมทั้งทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น การออกกำลังกาย วิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก หรือทำสมาธิ อ่านหนังสือ จะช่วยลดความเครียด และในระยะยาวยังสามารถรักษาโรคเครียดลงกระเพาะได้

โดย : อ.นพ.วรายุ ปรัชญกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000007147