นัดพบแพทย์

เครื่องครอบฟัน (Oral Appliance) สำหรับรักษาการนอนกรน

10 Aug 2016 เปิดอ่าน 2592

ในผู้ป่วยที่มีภาวะนอนกรนหรือ ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับในระดับที่ไม่รุนแรง    เครื่องครอบฟัน (oral appliance) จัดเป็นทางเลือกในการรักษาที่ดีวิธีหนึ่ง ใช้โดยการให้ผู้ป่วยสวมเครื่องมือทันตกรรมในปากขณะนอนหลับ หลักการคือ การยึดลิ้นและ/หรือขากรรไกรมาทางด้านหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่อในลำคอหย่อนลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น  วิธีนี้สามารถช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวนอนหลับได้ดีมากขึ้นโดยที่ ผลการรักษาค่อนข้างดี ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงหรือ ไม่มีความผิดปกติทางร่ายกายและบริเวณทางเดินหายใจส่วนอื่น ๆ ร่วมด้วย  ผู้ป่วยหลายรายนิยมใช้มากกว่าเครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดทางเดินหายใจ (CPAP)  เนื่องจากสะดวกสบายในการใช้และในการพกพาขณะเดินทางมากกว่า  ทั้งนี้เครื่องครอบฟันยังสามารถใช้ร่วมกับ CPAP  หรือ การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาร่วมกันให้สูงขึ้นได้อีกด้วย

                      

ชนิดของเครื่องครอบฟัน  ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ใหญ่ ๆ คือ

        1.  เครื่องยึดลิ้นให้ยื่นมาด้านหน้า (Tongue retaining devices)  เครื่องมือชนิดนี้มีส่วนประกอบที่จะช่วยยึดลิ้นไว้ให้อยู่ในตำแหน่งด้านหน้า ไม่ให้ตกลงไปทางด้านหลังขณะนอนหลับ ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณหลังโคนลิ้นเปิดกว้าง เหมาะสำหรับ ผู้ที่ไม่มีฟัน ผู้ที่มีโรคเหงือก หรือ โรคของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular joint disorders)

        2. เครื่องครอบฟันที่ช่วยจัดตำแหน่งของขากรรไกรล่าง (Mandibular Repositioning Appliances) เครื่องมือชนิดนี้เป็นชนิดที่นิยมใช้ที่สุดในปัจจุบัน โดยหลักการคือปรับเลื่อนขากรรไกรล่างไปทางด้านหน้าและยึดขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ลิ้นซึ่งยึดติดอยู่กับขากรรไกรล่างเคลื่อนมาด้านหน้า นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อของลิ้นมัดต่างๆ ให้มีความตึงตัวเพิ่มมากขึ้น และช่วยจัดตำแหน่งของเพดานอ่อนให้ตึงและเลื่อนมาทางด้านหน้าด้วย ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนเปิดกว้างขึ้นขณะนอนหลับด้วย

        3. เครื่องครอบฟันชนิดที่ใช้ร่วมกับเครื่องเป่าความดันลมเพื่อขยายทางเดินหายใจ (combined oral appliances and CPAP)  เหมาะสมกับในบางราย แม้ว่าอาจจะไม่สะดวกก็ตาม

     

 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา 

        ผลข้างเคียงในระยะสั้นที่พบได้ เช่น ในช่วงแรกอาจพบว่ามีอาการเจ็บบริเวณที่ใส่เครื่องครอบฟัน หรือเกิดแผลที่เหงือกในบางราย  และอาจมีปวดเมื่อยหรือ รู้สึกไม่สบายบริเวณกรามและขากรรไกรได้    ผู้ป่วยบางรายอาจมีน้ำลายออกมากผิดปกติ ทำให้มีกลิ่นปาก หรืออาจมีอาการปากแห้ง  เนื่องจากหุบปากไม่สนิทเวลานอนได้ ซึ่งถ้าใช้และปรับตัวในระยะหนึ่งปัญหาดังกล่าวมักจะดีขึ้น    สำหรับผลข้างเคียงในระยะยาว ถ้าใช้ไปนาน ๆ ผู้ป่วยอาจมีการสบฟันที่ผิดปกติ ปวดฟัน หรือมีผลต่อข้อกระดูกกรามและขากรรไกรได้ ซึ่งท่านต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ที่ดูแลท่านทราบ 

        การติดตามการรักษา

        การใช้เครื่องครอบฟันเป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับที่ไม่รุนแรง  อย่างไรก็ตามเนื่องจากผลการรักษาอาจมีข้อจำกัดและไม่ใช่วิธีการรักษาที่ทำให้หายขาดเช่นเดียวกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ดังนั้นท่านต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะก่อน เพื่อพิจารณาว่าท่านเหมาะสมกับการใช้เครื่องครอบฟันหรือไม่และแนะนำให้พบทันตแพทย์ที่มีความรู้ทางด้านนี้    ถ้าท่านตัดสินใจเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้ ท่านควรใช้เครื่องมืออย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และควรรับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษากับทั้งแพทย์และทันตแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจว่าท่านใช้เครื่องครอบฟันได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพดี และมีปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาน้อยที่สุด

นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.nutritionthailand.or.th/scripts/newscat_detail.asp?nNEWSID=2601