นัดพบแพทย์

เคล็ดลับปกป้องรักษา `ดวงตา`

06 Jan 2017 เปิดอ่าน 2617

ในชีวิตประจำวันของทุกท่าน คนปฏิเสธไม่ได้ว่า การมองเห็นเป็นประสาทสัมผัสที่เราใช้มากที่สุด เหมือนหลายๆ อย่างในชีวิตเรา ที่มีความเสื่อมหรือเปลี่ยนแปลงได้

ดวงตาของเราก็มีความเสื่อม และก็ต้องมีการดูแล ป้องกัน ระวังภัย เพื่อให้ดวงตาของเรามองเห็นสวยสดใสไปนานเท่านาน ดั่งคำโบราณที่ว่า "Prevention is better than cure" หรือ การป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคย่อมดีกว่า การมานั่งรักษา เมื่อเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อน

จากประสบการณ์การเรียน ทำงานดูแลผู้ป่วยโรคตา และสอนทางจักษุวิทยา มาหลายปี พบเห็นความเจ็บป่วยทางตามากมาย ซึ่งบ่อยครั้งอาจดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิด หรือป้องกันไม่ให้เป็นรุนแรงได้ จนบางครั้งก็รู้สึกเสียดายแทนคนไข้ ถ้าเขาดูแลป้องกันได้ดีกว่านี้ อาจจะไม่ต้องลำบากเจ็บป่วยแบบนี้ ผมเลยขอสรุปเป็นเคล็ดลับจากประสบการณ์และความรู้มาฝากทุกท่านได้ดังนี้ครับ

1.ปกป้องดวงตาจากแสงแดด แสงจากแดดโดยเฉพาะบ้านเรานับว่าแรงมากๆ แต่เราท่านๆ เติบโตแบบนี้มา บางท่านก็จะชิน ออกกลางแจ้งสู้แดดมาตลอดตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเกิดความเสื่อมและโรคต่างๆ ตามมา

รังสีจากแสงแดดโดยเฉพาะแสง Ultraviolet (UV) ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมของตาได้มาก ในระยะสั้นอาจทำให้เจ็บแสบเคือง ตาแห้ง หรือแม้กระทั่งกระจกตาอักเสบฉับพลันได้ ส่วนระยะยาวทำให้เป็นโรคต้อลม ต้อเนื้อ รวมทั้งอาจจะทำให้ต้อกระจกมาเร็วกว่าวัย หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงเรื่องจอประสาทตาเสื่อมได้

ถ้าเทียบกับแสงจากคอมพิวเตอร์ หรือจากมือถือ กับแสงแดดก็ถือว่าน้อยมากๆ อย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะกลัว ให้กลัวแสงแดดดีกว่าครับ

แนะนำให้ใส่แว่นกันแดดที่ป้องกันดวงตาจากแสง UV ได้ 100% เวลาออกกลางแจ้ง อาจจะให้เขาวัดให้ดูก่อนซื้อ หรือดูจากฉลากที่เชื่อถือได้ กรอบกว้าง และใส่สบาย กันลมได้ด้วยจะยิ่งปกป้องได้ดี แต่ถ้าออกกลางแจ้งมากๆ แนะนำใส่หมวกที่มีปีกกว้างก็จะเสริมป้องกันได้ดียิ่งขึ้น

2.ใส่แว่นกันอุบัติเหตุ ถ้าจำเป็นต้องทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อดวงตา เพราะกว่า 90% ของอุบัติเหตุทางตา สามารถป้องกันได้เพียงแค่ใส่แว่นป้องกัน แว่นที่ดีจะกว้างกรอบและเลนส์แข็งแรง (อย่างเช่น polycarbonate lens) ควรจะมีไว้อย่างน้อยบ้านละ 1 อัน ไว้ใส่ในกรณีที่ต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยง ไม่ว่าจะทำงานซ่อมแซม ก่อสร้างเช่น ตอกตะปู เจียรเหล็ก ตัดไม้ตัดเหล็ก หรือทำงานทางเกษตรกรรมตัดหญ้า ตัดแต่งกิ่งไม้ ทำนา ทำสวน หรือทำงานในบ้าน เช่น ล้างห้องน้ำ หรือที่ต้องใช้น้ำยาเคมีต่าง ๆ การซ่อมแซมของที่บ้าน หรือการเล่นกีฬา ที่มีลูกวิ่งเร็วไปมา เช่น ยิงปืน แบดมินตัน สควอช เป็นต้น ที่ยกตัวอย่างมาคือหมอพบเจอคนไข้ที่สูญเสียการมองเห็นจากกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น บางครั้งจักษุแพทย์ก็ช่วยได้มาก แต่บางครั้งก็อาจบาดเจ็บรุนแรงเกินกว่าที่ทำให้มองเห็นกลับมาดีได้เหมือนเดิม

3.ตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์ หรือบุคลากรทาง จักษุวิทยา เป็นระยะ ตั้งแต่เด็กควรต้องตรวจเช็คดูการมองเห็น ตาเหล่ แสงสะท้อนจากจอตา (red reflex) ในเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน ก็ควรตรวจเพื่อดูเรื่องสายตาสั้นยาวเอียงด้วย โรคตาในเด็กหลายๆ อย่าง อาจจะซ่อนอยู่ อย่างเช่น สายตาผิดปกติมากๆ 1 ข้าง ถ้าไม่ตรวจทีละข้างอาจจะไม่รู้เลย หรือรู้อีกทีเมื่อโตแล้ว พอมี ตาขี้เกียจ ก็รักษากลับมาไม่ได้ เพราะตาขี้เกียจต้องรักษาตั้งแต่อายุน้อยจึงจะได้ผลดี

  โดย นพ.ธีรวีร์ หงษ์หยก ประธานคณะอนุกรรมการข่าวสารสัมพันธ์เพื่อประชาชน ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

ขอบคุณบทความจาก : http://www.thaihealth.or.th/Content/32791-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%20'%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2'.html