นัดพบแพทย์

เตรียมตัวเข้าหอ

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 3144

เมื่อความรักของหนุ่มสาวสุกงอม ความต้องการที่จะได้อยู่ร่วมกันย่อมเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในยุคปัจจุบันนี้ที่โลกของเราย่นย่อจนระยะทางจากที่ต่างๆ นั้นเหลือน้อยนิด จนใช้เพียงนิ้วเดียวก็สามารถเข้าถึงข่าวสารต่างๆ ส่งถึงกันได้ในชั่วพริบตา

รวมทั้งโรคที่เกิดจากการใฝ่หาความสุขที่ถูกเรียกให้ไพเราะว่า "โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเอดส์มันไม่เข้าใครออกใคร การที่จะปักหลักปักฐานอยู่กับใครไปสักคนจนชั่วชีวิต มันก็ต้องดูกันให้ดีก่อนว่าปลอดภัยจากโรคต่างๆ รวมทั้งความพร้อมในการมีบุตร ทำให้การเตรียมตัวเข้าหอจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากขึ้นทุกที

ปราชญ์มีชื่อในการวางแผนการทำสงคราม ท่านกล่าวไว้อย่างน่าคิดตามว่า "การเตรียมตัวที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง" และ "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" ถึงแม้ว่าเรื่องที่คนสองคนจะมาใช้ชีวิตร่วมกันไม่เกี่ยวกับการทำสงคราม แต่การวางแผนชีวิตคู่ที่ดีก็ทำให้ชีวิตคู่ราบรื่นได้

ถ้าการวางแผนก่อนใช้ชีวิตคู่มีความสำคัญขนาดนี้ เราคงต้องมานั่งเรียนรู้กันสักหน่อย...เริ่มเลยนะครับ

เตรียมตัวไปปรึกษาก่อนสมรส
เดี๋ยวนี้เกือบทุกโรงพยาบาลจะมีหน่วยปรึกษาก่อนสมรส และเตรียมตัวก่อนมีบุตร เลือกโรงพยาบาลที่ฮวงจุ้ยดีๆ และหมอสูติที่โหงวเฮ้งดีๆ ด้วยก็ได้ เป็นการเอาใจผู้ใหญ่ซึ่งชอบนักไอ้เรื่องดวงดาว ฤกษ์ผานาทีเหล่านี้ จนสูติแพทย์ที่มีหน้าผากกว้างเลิกปลูกผมไปตามๆ กัน เพราะกลัวโหงวเฮ้งจะเสีย

เขาตรวจอะไรกันบ้างเมื่อไปปรึกษา?
คุณผู้หญิงไม่ต้องกลัวโดนตรวจภายใน ไม่ได้หมายความว่าถ้าไปพบหมอสูติแล้วต้องโดนตรวจภายใน ถ้าไปปรึกษาเตรียมตัวเข้าหอนี้ คุณหมอจะตรวจทั้งหนุ่มทั้งสาวเพียงแค่ตรวจร่างกายธรรมดาเท่านั้น ดูว่าสุขภาพดีขนาดไหน มีการวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก วัดความดันตามปกติ จากนั้นก็จะโดนเจาะเลือดไปทำการตรวจหาความเข้มข้นของเลือดว่า มีภาวะเลือดจางหรือไม่  รายที่มีประวัติเรื่องเลือดจางในตระกูลมาก่อน คุณหมอก็จะตรวจชนิดของเฮโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบเลือดที่สำคัญในการนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เรียกการตรวจนี้ว่า Haemoglobin typing

นอกจากนั้นก็เป็นการตรวจหมู่เลือดว่าเป็นหมู่ A B หรือ O และกลุ่ม Rh ว่าเป็นบวกหรือลบ ดูลักษณะและจำนวนเม็ดเลือดขาว น้ำตาลในเลือด ตรวจดูว่ามีเลือดบวกจำพวกซิฟิลิสและโรคเอดส์ติดมาหรือไม่ มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหัดเยอรมัน และเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือยัง ถ้ายังไม่มี คุณหมอจะได้เสริมภูมิคุ้มกันดังกล่าวให้ เมื่อฝ่ายหญิงตั้งครรภ์จะได้ไม่เป็นปัญหา

ถ้าทั้งสองคนหนุ่มสาวตกลงกันว่า จะให้ฝ่ายหญิงเป็นคนคุมกำเนิด โดยการกินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นฮอร์โมนคุมกำเนิดนั้นไม่ใช่ซื้อมากินเองสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะถ้ามีโรคบางโรค เช่น เนื้องอก ไม่ว่าจะในเต้านมหรือมดลูก รังไข่ อยู่ก่อนก็จะโตได้ หรือเปลี่ยนไปเป็นเนื้อร้าย ถ้ากำลังจะเป็นอยู่แล้ว

คุณผู้หญิงที่เตรียมจะคุมกำเนิด โดยกินยาคุมกำเนิดหรือยาฉีดคุมกำเนิด จึงต้องตรวจเพิ่มเติมคือตรวจเต้านมดูว่ามีก้อนเนื้องอกหรือไม่ และตรวจอัลตราซาวนด์ดูมดลูกและรังไข่ว่าไม่มีเนื้องอก

การตรวจอัลตราซาวนด์ดูเนื้องอกนั้น ก็ไม่ต้องโดนตรวจภายใน เพียงแต่ดื่มน้ำมากๆ พอปวดปัสสาวะแล้วคุณหมอก็เอาหัวตรวจเล็กๆ วางแปะไว้ตรงเหนือหัวหน่าว ก็จะเห็นรูปล่างมดลูกและปีกมดลูก ถ้าปกติดีก็จะใช้วิธีคุมกำเนิดแบบนี้ได้ แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องตรวจเพิ่มเติมดูการทำงานของตับ ได้แก่ SGOT และ SGPT ว่าปกติไหม เพราะฮอร์โมนคุมกำเนิดต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาทางเคมีที่ตับเสียก่อนจึงจะออกฤทธิ์ได้

คุณหมอจะรับปรึกษาดังต่อไปนี้คือ อยากมีลูกทันทีหรือไม่ หรือจะคุมกำเนิดเอาไว้ก่อน ถ้าจะคุมกำเนิดใครควรจะเป็นคนคุม การคุมกำเนิดวิธีต่างๆ มีข้อดีข้อด้วยอย่างไร จะคุมไปนานเท่าใด ก่อนจะมีบุตรต้องทำอย่างไรอีก และที่สำคัญเดี๋ยวนี้หมอต้องรับปรึกษาบ่อยขึ้นก็คือเรื่องเกี่ยวกับเพศศึกษาต่างๆ

ถ้าตอนแรกๆ คุณอดทนไม่ไหวแล้ว รักสุกงอมจะเน่าคาต้นอยู่แล้ว จะแต่งแน่และก็จะมีลูกเลย ควรทำอย่างไรดี ผู้ชำนาญท่านว่า ถ้าอยากได้ลูกเร็วๆ จงขยันทำการบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ที่สำคัญผลการวิจัยบอกว่าผู้ที่ชู๊ตประตูได้แม่นและเทคนิคดีนั้นจะต้องทำให้สาวในดวงใจไปถึงดวงดาว หรือพูดง่ายๆ ก็คือไปถึงจุดสุดยอดด้วยกัน ถ้าทำได้โอกาสที่จะตั้งครรภ์จะมากขึ้นถึง 3 เท่า และถ้าปฏิบัติการนั้นไปแจ็กพอตตรงกับวันไข่ตกแล้ว โอกาสจะได้ลูกชายไว้สืบตระกูลมีมากถึงร้อยละ 70-75 ทีเดียว

ส่วนผู้ที่คิดจะคุมกำเนิดไว้ก่อน เพื่อที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวให้มั่นคงก่อนมีบุตรนั้น แพทย์ก็มักจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดว่า ควรจะเลือกแบบใดที่เหมาะสมกับคู่สมรสแต่ละคู่

...เพราะคุณทั้งสองคนเป็นคนเลือก...ทางชีวิตของคุณ
และแน่นอนว่าจะปลอดภัย ไม่ว่าเลือกทางไหน?

ข้อมูลสื่อ

361-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 361
พฤษภาคม 2552
นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์
 
* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.doctor.or.th/article/detail/7541