นัดพบแพทย์

เทคนิคการลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำกว่าปกติ Hypothermia

27 Feb 2017 เปิดอ่าน 1968

สกัดภาวะเจ้าชาย เจ้าหญิงนิทรา

โดยปกติมนุษย์เรามีอุณหภูมิร่างกายปกติที่ 37 องศาเซลเซียส แต่ถ้าร่างกายต้องสัมผัสกับความเย็นจากภายนอกมากเกินไป จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ก็จะเกิดภาวะ Hypothermia ซึ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียการทำงานและการควบคุม ซึ่งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันไป เช่น อาการหนาวสั่น เกร็ง ชา หากปล่อยให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างที่เรามักจะเห็นในข่าว ในช่วงฤดูหนาวกันอยู่บ่อยๆ ที่ชาวบ้านมักพูดว่า หนาวตาย กันนั่นเอง

แต่อย่าเพิ่งมองว่าเจ้า Hypothermia นั้นร้ายกาจอะไรเลย เพราะเจ้า Hypothermia นี้มีคุณอนันต์กับวงการแพทย์อย่างยิ่ง เพราะสามารถช่วยทางการแพทย์ ในการรักษาเพื่อป้องกันอันตรายต่อเซลล์สมอง จากภาวะหัวใจหยุดเต้น แล้วมันจะช่วยได้อย่างไร นายแพทย์ประพนธ์ ดิษฐ์รุ่งโรจน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ อธิบายว่า ในปัจจุบันคนไทยมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น ไม่ว่าใครถ้าได้ลองก้าวย่างไปสู่ความเสี่ยงแล้วคงใจตุ๊มๆ ต่อมๆ กันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะหากเกิดอาการเฉียบพลันคงยากแก่การควบคุม เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น ที่หากเกิดขึ้น ถึงแม้จะปั๊มหัวใจให้กลับมาเต้นได้แล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาคือ อาจต้องกลายเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา เนื่องจากระหว่างที่หัวใจหยุดเต้น สมองขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้สมองได้รับความเสียหาย และอาจตามมาด้วยโรคแทรกซ้อนอื่นๆ

การลดอุณหภูมิของร่างกาย (Therapeutic Hypothermia) คือ ภาวะที่ลดอุณหภูมิของร่างกายลง เพื่อช่วยยับยั้ง ป้องกัน และลดการบาดเจ็บของสมอง โดยทั่วไปเมื่อสมองขาดเลือด จะทำให้ออกซิเจนและสารอาหารไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ ส่งผลให้เซลล์สมองตายได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ การลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำกว่าปกติจะสามารถลดการขาดเลือดของสมองที่จะเพิ่มขึ้นได้ เป็นการช่วยรักษาเซลล์สมองไม่ให้ตายมากขึ้น

Hypothermia

กระบวนการทำงานของ Hypothermia ต้องทำทันทีหลังจากที่หัวใจหยุดเต้น และได้ทำการปั๊มหัวใจขึ้นมา จนคนไข้มีชีพจร และกระบวนการทำงานของร่างกายทุกส่วนพร้อมที่จะทำงานได้เมื่อฟื้น

  1. เมื่อหัวใจหยุดเต้น ต้องมีการปั๊มจนหัวใจจนเต้นเป็นปกติ
  2. เร่งทำการลดอุณหภูมิให้กับร่างกายทันทีภายใน 3 ชั่วโมง เป้าหมายที่ 32 -34 องศาเซลเซียส  และรักษาอุณหภูมิให้คงที่ไว้ในระยะเวลา 12-24 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นสมองที่ขาดเลือดอาจมีผลข้างเคียง และส่งผลไปยังร่างกายส่วนอื่น ในขณะที่มีการลดอุณหภูมิให้กับร่างกายก็ต้องคอยสังเกตอาการของคนไข้ด้วยว่ามีอาการหนาว สั่น หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ หรือไม่ หากมีก็ต้องให้ยารักษาควบคู่กันไป   วิธีที่ใช้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
    • การใช้แผ่นความเย็นประคบบริเวณศีรษะ คอ ลำตัว และแขนขา
    • การใช้ cold-air mattress หุ้มร่างกายทั้งหมด
    • การใช้ water-circulating cooling blanket
    • การใช้เตียงปรับอุณหภูมิ

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยวิธีนี้ อาจทำให้หนาวสั่น เลือดแข็งตัวกว่าปกติ หลอดเลือดหดตัว สูญเสียน้ำ ซึ่งส่งผลต่อสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แต่วิธีการนี้ช่วยให้ผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น ไม่เป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา และลดอาการแทรกซ้อนต่างๆ โดยคนไข้จะฟื้นตัวเร็วขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากยิ่งขึ้น

เทคนิคนี้ถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างใหม่ และจะได้ผลดีในกรณีที่สามารถช่วยปั๊มหัวใจให้กลับผู้ป่วยขึ้นมาได้ ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงในเรื่องของหัวใจ และคนรอบข้างควรศึกษาหาความรู้ในการปั๊มหัวใจอย่างถูกวิธี เพื่อจะสามารถช่วยชีวิตคนที่คุณรัก หรือบางครั้งอาจสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นๆ ในสังคมได้อีกด้วย

“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นอีกความเสี่ยงของคนในสังคมไทย การดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี คือการป้องกันโรคภัยได้ดีที่สุด งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  การป้องกันดีย่อมดีกว่ารักษาแน่นอนครับ”

โดย :  นพ. ประพนธ์ ดิษฐ์รุ่งโรจน์

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AB%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2/