นัดพบแพทย์

เนื้องอกมดลูก

22 Sep 2016 เปิดอ่าน 3138

เนื้องอกมดลูกคืออะไร
            เนื้องอกมดลูก คือ เนื้อมดลูกที่เจริญเติบโตมากผิดปกติ จนแทรกเข้าไปในตัวมดลูกที่ปกติ ทำให้มดลูกทั้งอันโตขึ้นเป็นเนื้องอก หรือ ก้อนเนื้องอกนั้นโตเป็นก้อนแยกต่างหากจากตัวมดลูกที่ปกติ

เนื้องอกมดลูกมีกี่ชนิด
            เนื้องอกมดลูก มี 2 ชนิด ชนิดแรกคือ เนื้องอกชนิดธรรมดา ซึ่งพบได้บ่อย และมะเร็งของตัวมดลูกเอง ซึ่งมะเร็งของปากมดลูกนั้นพบได้บ่อยกว่ามาก

เนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดาที่ว่าพบได้บ่อยนั้น พบได้บ่อยแค่ไหน
            พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้หญิงวัย 30-35 ปีขึ้นไป พูดง่ายๆ คือ คนเดินถนน 100 คน จะมีคนเป็นเนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดาถึง 15 คน และในบรรดานี้ ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่ามีเนื้องอกมดลูก ทั้งนี้ เพราะมันไม่มีอาการ หรือ ก้อนยังเล็กไม่สร้างปัญหาอะไร แต่เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน เมื่อคุณผู้หญิงอยู่ในวัย 35 ปีขึ้นไปแล้ว ควรไปพบ สูติ-นรีแพทย์ประจำของท่านให้ตรวจภายใน และเช็คมะเร็งประจำปีอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง จะเป็นการดีครับ

ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกมดลูกจะมีอาการอย่างไรบ้าง
            ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดานั้น ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ทราบว่า มีเนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดาก็เพราะไปตรวจภายในประจำปี แล้วแพทย์ตรวจพบเข้าโดยบังเอิญ หรือก้อนเนื้องอกโตมากจนผู้ป่วยสามารถคลำพบได้ทางหน้าท้องด้วยตนเอง ผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการที่เกิดจากเนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดา เป็นต้นว่า ประจำเดือนมามากและออกนานกว่าปกติ เช่น เดิมเคยมีประจำเดือนครั้งละ 5 วัน ใช้ผ้าอนามัยซับเลือดวันละ 2-3 ผืน เมื่อมีอาการผิดปกติจากเนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดานี้ ก็อาจพบว่ามีประจำเดือนออกมาถึง 7-14 วัน และใช้ผ้าอนามัยซับเลือดมากขึ้นถึงวันละ10-15 ผืน เป็นต้น
            อาการของผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกชนิดธรรมดาอีกอย่างหนึ่งที่อาจพบได้ ก็คือ อาการปวดท้องน้อย ซึ่งมีสาเหตุเนื่องมาจากมีการตาย, เสื่อมสลายของก้อนเนื้องอกบางส่วนเพราะขาดเลือดไปเลี้ยง หรือก้อนเนื้องอกนั้นมีก้าน(ขั้ว) และมีการบิดของก้านทำให้เกิดอาการปวดได้ อาการปัสสาวะบ่อยก็พบได้เหมือนกัน ทั้งนี้ เกิดจากการที่ก้อนเนื้องอกนั้นไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของมดลูกนั่นเอง ผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกชนิดธรรมดานี้มักจะมีบุตรยาก หรือถ้ามีก็มีเพียงคนเดียว
            สำหรับเนื้องอกมดลูกชนิดเนื้อร้าย หรือมะเร็งนั้น มักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีเลือดออกในหญิงวัยหมดระดู ยิ่งต้องคิดถึงภาวะนี้ให้มาก
            อาการตกขาวผิดปกติ ก็เป็นอาการที่นำผู้ป่วยมะเร็งมดลูกมาพบแพทย์ ได้บ่อยรองลงไปจากการมีเลือดออกทางช่องคลอดดังกล่าว

เมื่อสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกมดลูกจะทำอย่างไร
            เมื่อสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกมดลูก ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจและให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะเราทราบแล้วว่ามีส่วนหนึ่งของเนื้องอกมดลูกที่เป็นเนื้อร้าย หรือมะเร็ง ถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยก็ตาม ที่ต้องเน้นความสำคัญอันนี้ก็เพราะว่า เนื้องอกชนิดมะเร็งของมดลูกนั้น ต่างจากมะเร็งของอวัยวะอื่น คือ เราตรวจเข้าไปถึงได้ และให้การวินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า มะเร็งระยะแรกนั้นรักษาได้ และหายขาดแน่นอน
            สูติ-นรีแพทย์ จะตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายใน ตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก และ ตรวจโดยเครื่องมือพิเศษอื่นประกอบในรายที่ยังไม่แน่ใจ เป็นต้นว่า เอ็กเรย์, ตรวจด้วยเครื่องอุลตราซาวนด์ ตรวจด้วยกล้องขยายที่ใส่เข้าไปทางช่องคลอด นอกจากนั้น การขูดมะลูก หรือ ตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูกไปตรวจ ก็จะได้ผลแม่นยำแน่นอนกว่าอีกขั้นหนึ่ง เพราะโดยทั่วไปแล้ว ผลการตรวจทางพยาธิวิทยาเป็นข้อสรุปได้
            แต่โดยทั่วไป ถ้าเป็นเนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดา เพียงแต่ทำการตรวจภายใน และ เช็คมะเร็งตามปกติเท่านั้น แพทย์ก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้แล้ว ไม่ต้องทำการตรวจที่ยุ่งยากซับซ้อนดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งจะทำเช่นนั้นในกรณีที่การวินิจฉัยโรคมีปัญหา และ สงสัยจะเป็นเนื้อร้ายมะเร็ง

การรักษาเนื้องอกมดลูกต้องผ่าตัดทุกรายหรือเปล่า
            การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกมดลูกนั้นควรแบ่งเป็น 2 ประเภท ถ้าเป็นเนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดา และ ก้อนไม่โตมาก ก้อนเนื้องอกมดลูกอาจยุบลงได้เอง เมื่อผู้ป่วยหมดประจำเดือน ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เนื้องอกเติบโตเร็วผิดปกตินั้นลดปริมาณลงมากในระยะที่ผู้หญิงหมดระดู การผ่าตัดรักษาก้อนเนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดานั้น จะทำก็ต่อเมื่อก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก ทิ้งไว้ไม่ยุบเอง หรือเมื่อติดตามดูผู้ป่วยพบว่า เนื้องอกโตขึ้นเร็วผิดปกติในระยะเวลา 3-4 เดือน หรือเมื่อก้อนเนื้องอกนั้นทำให้เกิดอาการในผู้ป่วยซึ่งรุนแรงเป็นต้นว่า ตกเลือดมากจนซีดต้องให้เลือด, มีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วยอย่างรุนแรง เป็นต้น
            เมื่อพูดถึงการผ่าตัดรักษาในผู้ป่วย ที่มีก้อนเนื้องอกมดลูกธรรมดานั้น ยังแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ การตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกนั้นออกโดยไม่ตัดมดลูก และ การตัดมดลูกพร้อมก้อนเนื้องอกออกไปหมดเลย ทั้งนี้ พิจารณาจากภาวะความต้องการมีบุตรของผู้ป่วย, อายุว่าเลย 40 ปีหรือไม่, และ พยาธิสภาพของเนื้องอกนั้นๆ
            การรักษาผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกมดลูกชนิดมะเร็งมี 2 อย่าง คือ การผ่าตัดรักษา ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้ในคนสูงอายุ ดังนั้น การรักษาซึ่งต้องตัดมดลูกทิ้งไปหมดก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก ในระยะแรกของโรค เรานิยมทำการผ่าตัดรักษาดังกล่าว แต่ถ้าเป็นระยะหลังอาจต้องอาศัยการฉายรังสีรักษา หรือการให้ยาต้านมะเร็งประกอบกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะขอเน้นว่ามะเร็งของมดลูกในระยะแรกนั้นหายขาดนะครับ ถึงแม้จะเป็นระยะหลังก็ยังมีความหวัง ขอเพียงแต่ตั้งใจเข้ารับการรักษาโดยสม่ำเสมอ บางคน 10 ปีแล้วยังมาตรวจตามนัดเป็นปกติอยู่ที่ตึกผู้ป่วยนอกของเรา น่าชื่นใจครับ

การรักษาเนื้องอกมดลูกนั้น กินยาให้ยุบไม่ได้หรือ
            ถ้าเป็น เนื้องอกมดลูกชนิดธรรมดานั้น เราทราบแล้วว่ามันโตขึ้นจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจน ดังนั้น การกินยาให้ฝ่อไม่มีใครเขาทำกัน มีแต่รอให้มันยุบ เพราะ เอสโตรเจนลดระดับต่ำลงมากในวัยหมดระดู
            ส่วนเนื้องอกมะเร็งในระยะหลังนั้น เราก็ให้ยาต้านมะเร็งในผู้ป่วยอยู่แล้ว เมื่อประกอบกับการรักษาทางรังสีก็ได้ผลดีพอสมควร
            ภาวะเยื่อบุมดลูกแทรกเข้าไปในมดลูก ก็ทำให้มดลูกโต ปวดประจำเดือนมากได้ อาจต้องกินยาให้ไม่มีประจำเดือนนานถึง 9 เดือนเป็นการรักษา

ถ้าตัดมดลูกออกไปแล้วจะเป็นอย่างไร มีผลเสียอะไรบ้าง
            อันนี้เป็นคำถามที่คนไข้มักจะถามแพทย์บ่อยๆ บางคนกลัวว่าตัดมดลูกแล้วจะมีความรู้สึกโล่งไปหมดที่บริเวณท้องน้อย ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเลย ไม่รู้สึกเช่นนั้นเลยครับ บางคนว่าตัดมดลูกแล้ว ถ้าหลับนอนกับสามีกลัวจะไม่เหมือนเดิม สามีจะเบื่อไม่รักท่านเหมือนแต่ก่อน อันนี้ก็เช่นกัน ผมขอยืนยันนะครับ คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออกแล้วนั้น เมื่อมารับการตรวจติดตามผลการผ่าตัดหลายปีต่อมา ยืนยันว่าเหมือนเดิมครับ บางคนถามว่า เอ ตัดมดลูกแล้วก็เป็นคนพิการ, ไม่สมประกอบนะซิ ผมขอตอบว่า มดลูกมีไว้เพื่อมีบุตร และมีประจำเดือนท่านที่มีบุตรพอแล้ว เมื่อตัดมดลูกออก ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา ส่วนเรื่องการมีประจำเดือน เมื่อไม่มีมดลูกก็ไม่มีประจำเดือน แต่ไม่ได้แปลว่า มีเลือดเสียคั่งในร่างกายแต่อย่างใด และที่สำคัญก็คือ เมื่อตัดมดลูกแล้วก็ไม่กระทบกระเทือนต่อสติปัญญาความจำของท่านแต่อย่างใน 

รศ.นพ. อนุวัตร รุ่งพิสุทธิพงษ์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=109