นัดพบแพทย์

เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์...ทำยังไงดี

27 Feb 2017 เปิดอ่าน 550

ระหว่างการตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกันฮอร์โมนในการตั้งครรภ์ต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะครึ่งหลังของการต้งครรภ์ เช่น ฮอร์โมน human placental lactogen ซึ่งสร้างจากรก รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ต้านอินซูลินอื่นๆ เช่น โปรเจสเตอโรน คอร์ติซอล ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินในหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลทำให้มีการสร้างกลูโคสจากตับเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น เป็นภาวะเดียวกับเบาหวานชนิดที่ 2 โดยภาวะนี้จะดำเนินไปจนถึงช่วงท้ายไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์
       
       นพ.ภูรีพงค์บัวประดิษฐ์ อายุรแพทย์สาขาเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ว่า อุบัติการณ์ของเบาหวานที่พบขณะตั้งครรภ์มีประมาณร้อยละ 1-14 ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจมีผลทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติหรืออาจทำให้แท้งได้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม
       
       สำหรับกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 25 ปี 2. เคยมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในครรภ์ก่อน 3.เคยมีประวัติคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม 4.มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 5.ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ 6.กลุ่มสตรีที่มีเชื้อชาติเสี่ยง ได้แก่ African,Hispanic,Asian และ Aborigine 7.น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์อยู่ในเกณฑ์อ้วน 8.ความดันโลหิตสูง 9.ภาวะไขมันในเลือด และ 10.ภาวะซีสต์ที่รังไข่
       
       นพ.ภูรีพงค์ให้ข้อมูลด้วยว่า สำหรับการตรวจเพื่อค้นหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้น หญิงที่ตั้งครรภ์ทุกรายสามารถตรวจได้ระหว่างช่วยอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ หรือจะเลือกตรวจเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงตามรายละเอียดข้างต้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ สำหรับว่าที่คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลรักษาภาวะนี้อย่างเหมาะสม
       
       ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจะทำให้ทารกมีความเสี่ยงหลายประการ เช่น การเสียชีวิตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์,ภาวะเหลือง,ภาวะเลือดข้น,ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ส่งผลให้ทารกมีอาการชักได้,ภาวะทารกตัวโต หมายถึงทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4,000 กรัม ซึ่งพบได้ร้อยละ 10-20 ของทารกจากแม่ที่เป็นภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการคลอดไหล่ติดหรือได้รับอันตรายระหว่างการคลอดได้
       
       ส่วนในมารดา อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ การติดเชื้อที่กรวยไต ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติและอาจจำเป็นต้องคลอดด้วยวิธีผ่าตัดทางหน้าท้อง
       
       สำหรับการดูแลมี 3 วิธีหลักๆ คือ หนึ่ง-ควบคุมและประเมินระดับน้ำตาลในเลือด โดยสอนให้ว่าที่คุณแม่ใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเอง สอง-ใช้การควบคุมอาหาร โดยต้องรับประทานให้ถูกต้องทั้งปริมาณและสัดส่วนของอาหาร โดยควรทานอาหารที่ให้พลังงาน 30 กิโลเคลอรี่ต่อ(น้ำหนักตัว)กิโลกรัมต่อวัน ส่วนผู้ที่มีภาวะอ้วนก่อนตั้งครรภ์ควรจำกัดอาหารให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัมต่อวัน การออกกำลังกายเบาๆ และสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำตาลได้ และสุดท้ายคือการใช้ยาฉีดอินซูลิน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ขอบคุณบทความจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000129131