นัดพบแพทย์

เมื่อหนูน้อยใส่แว่น

06 Jan 2017 เปิดอ่าน 3094

อุ๊ย ! ใส่แว่นตาแล้วหรือ ลูก แหม ยังเล็กอยู่เลย คุณพ่อ คุณแม่ของลูกน้อยที่ใส่แว่นตา คงเคยได้ยินคำพูดทักทาย แถมตกใจจากญาติ ๆ และเพื่อน ๆ มาแล้วไม่มากก็น้อย อาจเป็นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเพื่อน ๆ เหล่านั้นที่ทำให้หนูน้อยคอตก หลบหน้า และไม่มั่นใจกับบุคลิกภาพของตนเมื่อออกสังคม

          ผู้ปกครองบางท่านพยายามปฏิเสธแว่นตาของหนูน้อยเพราะเกรงจะทำให้สายตาสั้นมากขึ้น หรือกลายเป็นเด็กติดแว่น แท้ที่จริงแล้วการใส่แว่นในเด็กที่มีปัญหาสายตา เช่น สายตาสั้น กลับเป็นผลดีเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการป้องกันภาวะที่มีการเพ่งสายตา ซึ่งมีส่วนทำให้สายตาเด็กเปลี่ยนแปลงไปในทางสั้นมากขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยพันธุกรรมซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อไรที่จะเริ่มสงสัยว่าลูกมีปัญหาสายตา

        อาการแสดงง่าย ๆ ที่พบบ่อย คือ เด็กก้มเขียนหนังสือ หรือเล่นเกมส์กดในระยะใกล้มาก หรี่ตาดูโทรทัศน์ หรือกระดานดำ ชอบนั่งติดจอโทรทัศน์ (คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าเป็นสาเหตุที่สายตาสั้น แต่ที่จริงเป็นการบ่งบอกว่าลูกมีปัญหาสายตา)

        เด็กบางคนขยิบตาจนกลายเป็นนิสัย (กลุ่มนี้อาจมีภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา) บางท่านอาจสังเกตว่าการเรียนของลูกแย่ลง จดงานผิดพลาดบ่อย ๆ ร่วมด้วย เรียนตามเพื่อนไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่เคยเรียนดี

        ในเด็กเล็กที่เป็นสายตายาว (HYPEROPIA) อาจพบว่ามีตาเขเข้าในได้ (ESOTROPIA) หรือเกิดจากลานสายตาผิดปกติก็ได้

ทำไมเด็กจึงปวดตา (ASTHENOPIA)

        ในเด็กสายตาสั้นมักไม่ทำให้เด็กปวดตา ยกเว้นมีสายตาเอียง (ASTIGMATISM) หรือสายตาสองข้างห่างกันมาก (ANISOMITROPIA) หรือความสามารถในการเพ่งวัตถุใกล้เลวลง (ACCOMMODATIVE DUPFUN) เด็กหนุ่มที่เป็นสายตายาว ต้องแก้ด้วย (เลนส์บวก ที่มากกว่า 3 ก็ทำให้เกิดปวดตา)

        สายตาเอียง (ASTIGMATISM) ที่ไม่ได้รับการแก้ไขทำให้เกิดปวดตาได้

ใครจะวัดสายตาให้เด็ก

        หากหากพบตาผิดปกติ ทางที่ดีที่สุดคือพาเด็กมาพบจักษุแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนต่อไป การพิจารณาใส่แว่นในเด็กมีความยุ่งยากมากกว่าในผู้ใหญ่ เนื่องจาเด็กเล็กมักไม่อยู่นิ่งขณะวัดสายตา (REFRACTION) และไม่อาจให้ความร่วมมือในการทำ SUBJECTIVE REFECTION ดังนั้นการพิจารณาให้แว่นจึงขึ้นกับจักษุแพทย์เท่านั้น ในเด็กบางคนจำเป็นต้องหยอดตาก่อนวัดเพื่อลดการเพ่งขอบตาลง เพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้องมากขึ้น

ควรใส่แว่นเมื่อไร

        หมออยากขอให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยสอดส่องดูแลสายตาของลูกน้อยว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ เพื่อการแก้ไขที่ทันท่วงที หากผู้ปกครองไม่สังเกตหรือไม่สนใจบางครั้งอาจสายเกินแก้ก็ได้ คือเกิดปัญหา ตาขี้เกียจ (AMBLYSPIA OR LAZY EYE) ตามมาได้ เนื่องจากจอประสาทตาของเด็กไม่เคยได้รับภาพคมชัดเลย ซึ่งตอนนั้นแม้แว่นตาก็ไม่ช่วย หมอหรือเทวดาก็ช่วยไม่ได้ค่ะ ตาของเด็กจะมัวถาวรแก้ไขไม่ได้

        อย่ากลัวเมื่อมีเหตุผลจำเป็นต้องให้ลูกใช้แว่น เพื่อโอกาสชอบการเจริญของประสาทตาของเด็กเล็ก ๆ ได้เติบโตเต็มที่ตามวัยอันสมควร และเพื่อแก้ปัญหาตาเข ในเด็กบางกลุ่มที่สายตาผิดปกติ โดยไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัด

        สายตาเด็กอาจมีการเปลี่ยแปลงในทางสั้นมากขึ้น แต่ไม่ใช่โรค หากเป็นเพราะ ตาเด็กเติบโต ลูกตายาวขึ้น ความโค้งตาเปลี่ยนไป จึงไม่ควรกังวลเรื่องสายตาเปลี่ยนมากไปแต่ควรพบจักษุแพทย์เป็นระยะ ๆ เช่น ทุก 6 เดือน แว่นตาตาจะทำให้เรียนหนังสือได้ดี แทนที่จะคอยตามจดจากเพื่อน หรือหรี่ตามองจนปวดตา ปวดศีรษะไปหมด

ต้องใส่แว่นตลอดหรือเปล่า

        คุณพ่อคุณแม่มักเกรงว่าการใส่แว่นตลอดจะทำให้เด็กติดแว่น และสายตาอาจสั้นมากขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเด็กสายตาสั้น เอียง เล็กน้อยไม่ต้องใส่แว่นตลอด แต่ควรใส่เมื่อต้องใช้สายตา เพราะถ้าเด็กไม่ใส่ ตาจะเพ่งทำให้กระตุ้นการสั้นของสายตาได้มากขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยพันธุกรรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

        เด็กที่มีภาวะ ประสาทตาทำงานไม่ได้ (AMBLYOPIA) หรือเด็กที่มีตาเข จำเป็นต้องใส่แว่นตลอดเพื่อภาวะดังกล่าว

เลือกแว่นอย่างไรให้เด็ก ?

        มาถึงการเลือกแว่นควรใส่สบาย ชนิดของกรอบควรเบากระชับหน้า และอยู่ในระดับสายตาพอดี ควรเป็นกรอบพลาสติก ที่ฐานตรงดั้งจมูกไม่กว้างเกินไป เพราะจะสั่นตกลงที่ดั้งจมูกง่าย ทำให้แว่นตก ตาเด็กจะมอง ไม่ผ่านศูนย์ขอบเลนส์ เป็นผลเสียกับสายตาที่ไม่ได้รับเลนส์ที่ถูกต้อง

        ถ้าฐานที่ดั้งจมูกเป็นโลหะ ก็อาจกดจมูกเด็กจนเจ็บได้

        ขาแว่นต้องพอดีไม่ควรกดขมับ หรือกดหู (ขาสปริงจะดีกว่า) เพราะเด็กจะเบื่อแว่นได้

        การเลือกเลนส์ควรเป็นเลนส์พลาสติก เพื่อกันอันตรายจากอุบัติเหตุ จากการล้มหรือกระแทก และควรเคลือบแข็งกันขูดขีด

        เลนส์ย่อส่วนจะใช้เมื่อค่าสายตามาก หรือแต่ละข้างต่างกันมาก เพื่อให้เกิดสมดุลย์ของน้ำหนักแว่นไม่หนักเกินไป

        แว่นตาไม่ควรแพง เพราะเด็กอาจต้องเปลี่ยแว่นบ่อย คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดู ไม่ให้ขาแว่นเบี้ยว เอียง เพราะค่ากำลังและองศาขอบสายตาจะผิดไปทำให้เป็นผลเสียกับสายตาได้

        การวัดสายตาในเด็กควรทำโดยจักษุแพทย์เท่านั้น เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญต่อการเจริญของตา การวัดค่าแว่นผิด จะส่งผลต่อเนื่องระยะยาวได้

        เรื่องแว่นแฟชั่นในเด็กที่พบเห็นอยู่มากมายไม่ควรให้ทึบแสงจนเกินไป เด็กอาจหกล้มได้ ไม่ชิดตาเกินไป เพราะตาเป็นฝ้าได้เมื่ออากาศภายนอกเย็น ควรใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่นไปชายทะเล นั่งในที่มีการปะทะลมและฝุ่น เพื่อป้องกันรังสี U.V. และกันการระคายเคืองจากลมและฝุ่น เด็ก ๆ ก็มีสิทธิ์เท่ห์ได้นะคะ

        ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยดูแล สายตาของลูกน้อย ซึ่งเป็นดังดวงใจของทุกท่านด้วยคะ

 
ที่มา
พญ. สุภาพร ศรีธวัชพงศ์
 
ขอบคุณบทความจาก : http://www.nutritionthailand.or.th/scripts/newscat_detail.asp?nNEWSID=2599