พ่อแม่มือใหม่สมัยนี้หลายคู่ต้องเปิดตำราเลี้ยงลูกเมื่อมีลูกคนแรกเนื่องจากสังคมครอบครัวไทยสมัยใหม่เปลี่ยนไป ปู่ย่าตายายไม่ได้อยู่ใกล้ชิดให้คำปรึกษาเหมือนกับสมัยก่อน อีกทั้งอาการเจ็บป่วยไม่สบายตัวของลูกน้อยวัยทารกก็ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดให้พ่อแม่สามารถรับรู้ในทันทีได้ จึงต้องอาศัยทั้งการสังเกตและประสบการณ์เรียนรู้ไปพร้อมกับการเลี้ยงดูลูกน้อย จนบางครั้งก็ทำเอาพ่อแม่มือใหม่ต้องอ่อนอกอ่อนใจไม่ใช่เล่น เพราะหิวก็ร้อง ปวดก็ร้อง ถ่ายก็ร้อง ลูกใช้ภาษากายภาษาเดียว พ่อแม่ต้องหัดอ่านให้ออกให้ได้
อาการท้องอืดในเด็กเล็กก็เช่นกัน เป็นอาการที่พบได้บ่อยตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงในเด็กโต ซึ่งเกิดจากระบบย่อยอาหารของทารกและเด็กนั้นยังทำงานได้ไม่ดีพอ จึงมักจะพบว่าเด็กมีอาการท้องอืดมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพและหมั่นสังเกตอาการของลูกเป็นประจำและในคอลัมน์ Wellness Talk ฉบับนี้ นพ.ปานรวี มีมารยาตร์ กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลสิริโรจน์ภูเก็ต จะได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะท้องอืดในทารกแรกเกิดและเด็กเล็กให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้ทราบกันค่ะ
อาการของลูกเมื่อท้องอืด
“อาการไม่สบายตัวของลูกสามารถบอกได้อันดับแรกเลยจากการร้องไห้ แต่ถ้าลูกร้องแบบงอแง บิดตัวไปมา มีอาการมือเท้างอและไม่ยอมนอน ให้ลองเคาะท้องดู หากเคาะท้องแล้วเหมือนได้ยินเสียงลมอยู่ ลูกมีอาการท้องป่อง ท้องแข็ง ให้สันนิษฐานได้เลยว่านั่นคืออาการท้องอืดที่เป็นสาเหตุให้ลูกปวดท้อง” คุณหมอปานรวีกล่าว
สาเหตุที่ทำให้ลูกท้องอืด
“อาการท้องอืดเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ระบบย่อยอาหารของลูกยังทำงานไม่สมบูรณ์การปล่อยให้ลูกดูดนมนานเกินไป หรือมีลมเข้าท้องตอนที่ลูกดูดนม รวมทั้งพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เสริมกันทำให้ลูกเกิดอาการท้องอืดได้ เช่น หลังจากที่ลูกกินนมแล้ว ไม่ได้จับให้ลูกเรอเพื่อขับลม หรือการที่ปล่อยให้ลูกดูดนมจากขวดเองโดยไม่ได้ดูแลใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้ลมเข้าท้องลูกมากกว่าการดูดนมจากมารดา นอกจากนี้ ยังเกิดจากปัจจัยอื่นด้วยเช่น ภาวะแพ้นมวัวหรือกระเพาะลูกไม่สามารถย่อยนมได้ เช่น ในเด็กที่ท้องเสีย น้ำย่อยแล็กโทสน้อยลง ทำให้ดื่มนมสูตรปกติแล้วท้องอืดได้ เป็นต้น”
แล้วจะทำอย่างไรเมื่อลูกมีอาการท้องอืด
วิธีปฐมพยาบาลและแก้ไขอาการท้องอืดของลูกน้อยเบื้องต้นที่คุณหมอแนะนำมีอยู่หลายขั้นตอน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรจำไว้ปฏิบัติเป็นประจำ ได้แก่
1. ให้อุ้มลูกแนบอก คางเกยไหล่ และลูบหลังลูกเบาๆ ซัก 10-20 นาทีหรือจับนั่งในท่านั่ง แล้วลูบหลัง เพื่อให้ลูกเรอ หลังจากที่ลูกดูดนมเสร็จแล้ว
2. จับลูกนอนคว่ำให้น้ำหนักตัวของลูกกดท้องเพื่อขับลมแต่ต้องไม่ทำหลังลูกดูดนมเสร็จใหม่ ๆ เพราะลูกจะแหวะออกมาและนมที่ออกมาอาจหลุดเข้าสู่หลอดลมได้
3. นวดท้องให้ลูก โดยจับลูกนอนหงาย วางฝ่ามือทั้ง 2 ข้างเหนือจุดกึ่งกลางท้อง แล้วหมุนมือวนตามเข็มนาฬิกา2-3 ครั้ง จะช่วยให้ระบบหมุนเวียนของลำไส้ดีขึ้น
4. ถ้าให้ลูกดูดนมจากขวด อย่าหมุนฝาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศในขวดนม
5. ทายา ‘มหาหิงค์’ ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งช่วยขับลมในท้องได้แต่ต้องระวังอาการแพ้ เป็นผื่นคันบริเวณที่ทายาด้วย
“อย่างไรก็ตามหากพยายามทำตามขั้นตอนที่ได้แนะนำมาทุกอย่างแล้ว แต่ลูกก็ยังมีอาการท้องอืดไม่สบายตัวอยู่ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อหาสาเหตุของอาการท้องอืด แน่นท้องและให้ยาช่วยระบายลมต่อไป” คุณหมอปานรวีกล่าวทิ้งท้าย
อาการท้องอืดในเด็กเล็กถือเป็นเรื่องปกติและมักเกิดขึ้นบ่อยมาก ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะสามารถช่วยลดอาการเหล่านี้ให้ลูกน้อยได้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกและปฏิบัติตามข้อแนะนำของคุณหมออย่างสม่ำเสมอ..
* ขอบคุณบทความจาก : http://www.phuketbulletin.co.th/Lifestyle/view.php?id=1592