นัดพบแพทย์

เมื่อ “เก๊าท์” ก่อกวนคุณภาพชีวิต

26 Feb 2017 เปิดอ่าน 1509

มื่อวัยเพิ่มมากขึ้น ความเสื่อมต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาทักทายสุขภาพร่างกาย โรคเก๊าท์ เป็นโรคหนึ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเช่นกัน เมื่อเป็นแล้วนำมาซึ่งความปวดทรมานแบบเรื้อรังบางรายเป็นๆ หายๆ รบกวนคุณภาพชีวิตไม่น้อยเลยทีเดียว

นพ.เกรียงไกร เบญจวงศ์เสถียร ศัลยแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี ได้ขยายความเกี่ยวกับ โรคเก๊าท์ไว้ว่า เป็นอาการของโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ เกิดจากความผิดปกติในการใช้สารพวกพิวรีน ทำให้เกิดสารยูริคสูงในเลือด ร่วมกับอาการจากการตกตะกอนของสารยูริคในข้อที่ไตและใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการปวดข้อที่มีการอักเสบนั้น

สารยูริค คือสารที่ได้จากการย่อยสลายของการที่มีพิวรีนเป็นส่วนประกอบ จากการรับประทานอาหารและร่างกายผลิตขึ้นเอง สามารถตรวจได้โดยการเจาะเลือดหรือตรวจพบผลึกยูริคในน้ำจากข้อที่อักเสบ

อาการของโรค มีอาการปวด บวม แดง และร้อนตามข้อโอย่างเฉียบพลันอาจรุนแรงถึงกับเดินลงน้ำหนักหรือใช้งานข้อไม่ได้ อาการนี้อาจเป็นๆหายๆ อาจทิ้งระยะ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ ซึ่งอาการปวดอาจเป็นข้อเดียวหรือหลายข้อพร้อมกันก็ได้ ที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อโคนนิ้ว หัวแม่เท้า หรือข้อเข่า นอกจากอาการปวดตามข้อแล้ว อาจมีอาการของนิ่วในทางเดิน

ปัสสาวะ
สาเหตุโรคเก๊าท์ อาจพบว่าเป็นจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ถ่ายทอดจากทางกรรมพันธุ์ซึ่งจะพบว่ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเก๊าท์ได้ อายุมักเริ่มเป็นในเลยวัยกลางคนประมาณ 40-50 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงอาจจะพบในวัยหลังหมดประจำเดือน คนที่รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนมาก ความอ้วน และน้ำหนักตัวมากทำให้มีโอกาสเป็นเก๊าท์มากขึ้น การดื่มแอลกอฮอล์และรับประทานยาบางชนิดจะลดการขับยูริคทำให้เป็นเก๊าท์

การตรวจวินิจฉัย ว่าเป็นโรคเก๊าท์ได้จาก อาการปวดข้ออย่างเฉียบพลันร่วมกับการเจาะเลือดเพื่อหาระดับยูริคในเลือด เจาะน้ำจากการอักเสบในข้อที่บวมตรวจพบผลึกยูริค ถ่ายภาพเอกซ์เรย์บริเวณข้อที่มีอาการอาจพบการทำลายของกระดูกและกระดูกอ่อนผิวข้อ อาจคลำได้ว่ามีปุ่มของผลึกยูริค (หรือที่เรียกว่าโทฟัส) ใต้ผิวหนัง ตรวจปัสสาวะอาจพบว่ามีการขับยูริคออกทางไตได้น้อย

แนวทางการรักษา หลักการรักษาโรคเก๊าท์ คือ การลดระดับกรดยูริคในร่างกายและป้องกันการกำเริบของการอักเสบในข้อการรักษาทั่วไป ได้แก่ งดการดื่มสุรา เลี่ยงการนอนดึกหรือภาวะเครียด ในรายที่อ้วนควรลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ดื่มน้ำมากๆให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มการขับยูริคจากร่างกายและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง ยอดผักหรือต้นอ่อนพืช

ระยะที่มีข้ออักเสบ ควรลดการใช้งานหรือลงน้ำหนักข้อที่มีอาการ ใช้ความร้อนประคบ หรือแช่บริเวณที่มีการอักเสบ หลีกเลี่ยงการนวดที่รุนแรงหรือบีบรัดแน่น รับประทานยาต้านอักเสบหรือยาโคล์ชิซีน(colchicines) ตามแพทย์สั่ง หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่มีส่วนผสมแอสไพรินหรือสเตียรอยด์เองเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง

การป้องกันข้ออักเสบซ้ำ โดยรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ลดเหตุปัจจัยที่คิดว่ากระตุ้นทำให้เป็นซ้ำ รับประทานอาหารตามคำแนะนำ

กรณีมีปุ่มโทฟัส(ผลึกยูริคที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนัง) ตามร่างกายควรรับประทานยาลดการสร้างหรือเพิ่มการขับสารยูริคให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง

ขอบคุณบทความจาก : http://www.sahavicha.com/?name=blog&file=readblog&id=3246