นัดพบแพทย์

แพทย์ห่วงคนคางสั้น-อ้วน "โรคนอนกรน" จู่โจม

04 Sep 2016 เปิดอ่าน 2198

แพทย์จุฬาฯ ระบุอาการนอนกรนรักษาได้ อย่านิ่งนอนใจเพราะนอนกรนถือเป็นสัญญาณเตือนให้ระวังภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโรคร้ายแรงอื่น ๆ แนะผู้มีคางสั้น อ้วนดื่มสุรา สูบบุหรี่ กินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับเป็นประจำ ควรพบแพทย์รักษานอนกรน ลดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด
       

       รศ.นพ.วีระชัย คีรีกาญจนะรงค์ ภาควิชาโสตนาสิกลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสวนาเรื่อง “นอนกรน รักษาได้” จัดโดยมูลนิธิหมอชาวบ้านเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า คนที่นอนกรนจะหลับไม่สนิทในตอนกลางคืน เมื่อตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น ทั้ง ๆ ที่นอนมากตื่นสายก็ยังมีอาการง่วง ๆ ซึม ๆ หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ความสามารถในการจำลดลง ขาดการกระตือรือร้นในการทำงาน ทำงานไม่เป็นผล ง่วง หาวนอนตอนกลางวันเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุจากการทำงาน หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ได้
       
       รศ.นพ.วีระชัย กล่าวว่า การนอนกรนมีทั้งชนิดที่ไม่เป็นอันตราย เพียงสร้างความรำคาญแก่คนที่นอนด้วย หรือรบกวนกระบวนการนอน ทำให้สะดุ้งตื่นบ่อยจากเสียงกรนของตนเอง กับชนิดที่เป็นอันตราย คือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือการอักเสบของต่อมทอนซิล ต่อมอะดินอยด์ ซึ่งพบมากในเด็ก การนอนกรนมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก มีรูปคางสั้น น้ำหนักมากกว่ามาตรฐาน ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับเป็นประจำ ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพแย่ลง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้เกิดโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด และสมองขาดเลือดได้ง่าย
       
       “การแก้ไขปัญหาทำได้โดยการควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และยากล่อมประสาท การนอนหงายจะทำให้มีอาการกรน และหยุดหายใจได้บ่อยกว่าการนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ หากมีอาการมากควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการแก้ไขภาวะที่ทำให้มีการตีบตันของทางเดินหายใจ ซึ่งมีทั้งการใช้เครื่องมือทางทันตกรรม การใช้เครื่องอัดอากาศ เพื่อช่วยหายใจขณะนอนหลับหรือการผ่าตัด ถ้าพบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น การตีบของโพรงจมูก ต่อมอะดีนอยด์โต ต่อมทอนซิลโต เป็นต้น” รศ.นพ.วีระชัย กล่าว

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000149463