นัดพบแพทย์

โรคกดทับเส้นประสาทมีเดียนในบริเวณข้อมือ

23 Dec 2016 เปิดอ่าน 1524

หลายท่านคงเคยมีอาการเหน็บชา หรือรู้สึกแปลบๆ ปวดบริเวณมือ บางท่านอาจจะมีอาการอ่อนแรงของมือ เวลาถือสิ่งของอาจมีอาการอ่อนแรง ซึ่งทำให้สิ่งของหล่นจากมือ เวลากลางคืนอาจมีอาการปวดชามากจนต้องตื่นกลางคืน สะบัดมือ หรือให้อาการดีขึ้น ท่านรู้หรือไม่ว่า? ท่านอาจเป็นโรคกดทับเส้นประสาทมีเดียนในบริเวณข้อมือ หรือเรียกทางการแพทย์ว่า Carpal tunnel syndrome            

โรคนี้เป็นโรคที่มีการกดทับเส้นประสาทมีเดียน ช่วงที่วิ่งผ่านอุโมงค์บริเวณข้อมืออุโมงค์นี้ อยู่บริเวณโคนฝ่ามือ มีกระดูกข้อมือเป็นพื้น และมีพังผืดหนาเป็นหลังคา ภายในเป็นช่องแคบซึ่งเป็นทางผ่านของเส้นเอ็น งอนิ้วมือ 9 เส้น และเส้นประสาทมีเดียนเส้นประสาทนี้จะรับความรู้สึกบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งนิ้วด้านที่ติดกับนิ้วกลาง และยังเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณ        โคนนิ้วหัวแม่มือ (thenar muscle) เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับ จึงมีอาการปวด ชา บริเวณ 3 นิ้วนั้น และกล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือลีบ อ่อนแรงได้

รูปที่1

อาการ

  1. มีอาการปวดชา หรือรู้สึกแปลบๆ ที่นิ้วมือหรือมือ (Number or tingling) โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง แต่ไม่เป็นกับนิ้วก้อย ซึ่งมักจะเกิดเวลาถือของ โทรศัพท์  อ่านหนังสือพิมพ์ หรือทำงานหนักซ้ำๆ มีอาการมากในตอนกลางคืน อาจทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึก อาการปวดชาอาจร้าวไปถึงข้อมือ และแขนได้
  2.  อ่อนแรง (weakens) อาจมีอาการมืออ่อนแรง สิ่งของอาจหล่นจากมือได้ เนื่องมาจากกล้ามเนื้อหัวแม่มืออ่อนแรง ร่วมกับอาการชา 

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

               สิ่งใดก็ตามที่มาระคายเคือง หรือกดทับเบียดเส้นประสาทมีเดียนในบริเวณอุโมงค์ข้อมือ สามารถ ทำให้เกิดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น บางครั้งอาจมีสาเหตุเดียว แต่ในบางครั้งก็อาจมีหลายสาเหตุร่วมกัน ได้แก่

               1.  ปัจจัยทางกายวิภาค (Anatomic factors)

มีกระดูกหัก หรือข้อหลุด บริเวณข้อมือ อาจเคลื่อนไปทำให้ช่องของอุโมงค์ข้อมือแคบลง และกดเบียดเส้นประสาทมีเดียน

               2.   เพศ

มักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาจเกิดเนื่องจากอุโมงค์ข้อมือในผู้หญิงมักจะแคบกว่าในผู้ชายเป็นปกติ จึงมักจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่านั่นเอง

               3.   การใช้งาน

โดยเฉพาะงานในลักษณะที่กำมือบ่อยใช้ข้อมือมากๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ หรืองานที่มีลักษณะสั่นสะเทือน เช่น ขุดเจาะถนน เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม

               4.   โรคเรื้อรัง

โรค เรื้อรังมีด้วยกันหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน จะมีการทำลายเส้นประสาท โรคข้ออักเสบ  รูมาตอยด์จะทำให้เยื่อหุ้มข้อ และเส้นเอ็นบวมและกดเบียดเส้นประสาทมีเดียน โรคไทรอยด์ ไตวาย ก็พบว่าสัมพันธ์กับการกดทับเส้นประสาทมีเดียน

                5.  ตั้งครรภ์

 ภาวะความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ระหว่างตั้งครรภ์ หรือหมดประจำเดือนจะทำให้เกิดภาวะสารน้ำคั่งภายในร่างกาย และกดทับเส้นประสาทมีเดียน ซึ่งภายหลังคลอดอาการก็จะทุเลา

 

การวินิจฉัยโรค

 การวินิจฉัยจะอาศัยหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

               1.  ประวัติและอาการ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าจะมีอาการปวดชานิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง  และนิ้วนาง เป็นมากเวลาจับถือสิ่งของนานๆ ท่างอข้อมือลง
                   หรือขึ้นมากผิดปกติ และเวลากลางคืน อาจพบร่วมกับอาการอ่อนแรง

               2.  ตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจความรู้สึกที่นิ้วมือทั้ง 4 นิ้ว ว่ามีอาการชาหรือไม่? ตรวจกำลังของกล้ามเนื้อหัวแม่มือ และตรวจกล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือ

                    ลีบลง การเคาะเส้นประสาทบริเวณข้อมือจะพบความรู้สึกคล้ายไฟซ็อตวิ่งไปที่ปลายนิ้ว การงอข้อมือประมาณ 1 นาที หรือกดบริเวณเส้นประสาท
                    ที่ข้อมือจะทำให้อาการปวดชานิ้วมือเป็นมากขึ้น 

               3.  ฉายภาพรังสี ในกรณีที่มีประวัติถูกกระแทกสงสัยกระดูกหักข้อเคลื่อน หรือเป็นมานานอาจช่วยวินิจฉัยข้อเสื่อม ซึ่งจะมีกระดูกงอกมากดอุโมงค์ข้อมือได้

               4.  ตรวจคลื่นไฟฟ้า (Electromyogram and nerve conduction study) เพื่อดูการนำกระแสประสาทของเส้นประสาทมีเดียน และตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อ

                    ในมือ มัดที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทมีเดียน เพื่อช่วยยืนยันโรค และบอกความรุนแรงของโรค

 รูปที่2

 

การรักษา

                การรักษาขึ้นกับอาการ ความรุนแรง และระยะเวลาที่เป็นโรค โดยในเบื้องต้นควรที่จะหลีกเลี่ยง                 สิ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุของโรค เช่น หลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้ข้อมือนิ้วมือมากและซ้ำๆ หลีกเลี่ยงงานที่จะมีการสั่นสะเทือนของมือ พักการใช้มือและแขน อาจต้องใช้เฝือกดามชั่วคราวเพื่อพักแขน และรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เบาหวาน โรคไต สำหรับการรักษาทางการแพทย์แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่ม ดังนี้ 

  1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด (non operative treatment)

 1.1    การใช้ยากิน

 จำพวกยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ได้ผลดีในรายที่มีการอักเสบมากและยาบำรุงเส้นประสาท  
 จำพวกวิตามินบี 6

 1.2   การฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid injection)

โดยการฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าไปในอุโมงค์ข้อมือเพื่อลดการอักเสบ และลดบวมของเส้นประสาทมีเดียน ซึ่งจะได้ผลดีช่วยลดอาการปวดได้ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มแรก มีอาการมาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งไม่ชาตลอดเวลา และไม่มีกล้ามเนื้อลีบ

 2. การรักษาแบบผ่าตัด (operative treatment)

 โดยการผ่าตัดเปิดพังผืดหลังคาของอุโมงค์ข้อมือ เพื่อลดการกดทับเส้นประสาทมีเดียน

 ใช้ในกรณีอาการของโรครุนแรงมีกล้ามเนื้อลีบ หรือการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล การผ่าตัด       ทำได้หลายวิธี ได้แก่

 2.1    การผ่าตัดเปิดแผลตามปกติ (Open carpal tunnel release) คือการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณ

  ข้อมือเพื่อตัดหลังค่าอุโมงค์ให้เปิดออก

 2.2  การผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็ก (Limited incision technique) คือการผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็ก

 บริเวณข้อมือ โดยทำร่วมกับมีดผ่าตัดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ

 2.3  การผ่าตัดด้วยกล้อง (Endoscopic release) โดยใช้กล้องส่องเข้าไปในอุโมงค์ข้อมือ แล้วใช้

 มีดตัดหลังคาอุโมงค์จากภายใน

            รูปที่3

 

 

               ร่างกายของมนุษย์เรานั้นไม่ต่างอะไรกับรถยนต์ที่ใช้งานวิ่งทุกวัน ถ้าหากวิ่งทุกวันก็ต้องมีวันเสื่อมสภาพและชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ถ้าหากเราไม่หมั่นตรวจเช็ค รอให้เกิดอาการแล้วค่อยไปซ่อม มันคงจะสายเกินแก้แน่ๆ ดังนั้นถ้าหากท่านที่รู้สึกว่าตัวเองเมื่ออ่านบทความนี้แล้ว อาการคล้ายๆ กับที่   ตัวเราเป็นอยู่ ผมขอแนะนำว่าควรรีบปรึกษาแพทย์เสียก่อนแต่เนิ่นๆ เพื่อความสบายใจของท่านและ คนใกล้ชิดของท่านนะครับ สำหรับผมนั้นเห็นว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะดูแลสุขภาพให้ดี เพราะสุขภาพของคนเราสำคัญที่สุดครับ ไม่สามารถซื้อหาด้วยเงินตราได้ เราจะต้องเสริมสร้างซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอด้วยตนเอง โดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ   และที่จะขาดเสียมิได้ก็คือควรตรวจร่างกายประจำปีทุกปีนะครับ พบกันใหม่ในคราวหน้า ....... สวัสดีครับ

นายแพทย์ณัฐวุธ   ศาสตรวาหา 

ขอบคุณบทความจาก : http://www.somdej.or.th/index.php/9-2015-10-07-04-23-59/114-2016-01-15-04-10-25