นัดพบแพทย์

โรคกระดูกทับเส้นประสาท

01 Sep 2016 เปิดอ่าน 3801

ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท
 
    ปัจจุบันความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้น และเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในวัย ทำงาน และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดแล้ว แต่ยังทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่และมีความสุข ...
 
   ภาวะความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง(Unstable of spine) หรือปวดหลังจากกระดูกสันหลังไม่มั่นคง เมื่อกระดูกสันหลังเกิดความไม่มั่นคงก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะหน้าที่หลักของมันมี 2 อย่าง คือ
 
   1.  ช่วยปกป้องเส้นประสาทที่ออกมาจากสมอง
   2.  ช่วยรับน้ำหนัก ทำให้เราบิดตัวได้ ก้มได้ ยืนได้โดยไม่เจ็บปวด
 
 
กระดูกสันหลังไม่มั่นคงจะทำให้เกิดอาการอย่างไร
    ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังจะทำให้เกิดอาการ 2 อย่าง คือ 
 
   1.  ปวดหลัง
   2.  ปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงสะโพกหรือลงขา หรือร่วมกับมีอาการชาหรืออ่อนแรงหรือว่าขาลีบ กระดูกสันหลังก็เหมือนกับบ้าน ถ้าเสาแข็งแรง ลมพัดไปพัดมาก็ยังมั่นคง แต่ถ้าเสาไม่แข็งแรง คนในบ้านก็จะรู้สึกไม่มั่นคงภาวะกระดูกสันหลังไม่มั่นคงก็เช่นเดียวกัน
 
 
สาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลังคืออะไร
    สาเหตุมีทั้งที่เกิดจากอุบัติเหตุและไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ สาเหตุจากอุบัติเหตุก็เช่น รถชน หกล้ม ตกตึกทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือหัก คนไข้จะนั่งไม่ได้ ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้มาจากอุบัติเหตุจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 
 
   1.  เกิดจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ
   2.  เกิดจากการติดเชื้อหรือเนื้องอก 
 
     เราพบว่าในปัจจุบันโรคกระดูกสันหลังที่เกิดจากความเสื่อมสภาพนั้นมีอยู่ สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มวัยทำงานอายุประมาณ 20-50 ปี อีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีอายุมากเกิน 50-70 ปีไปแล้ว ในกลุ่มวัยทำงาน การเสื่อมสภาพที่จะเกิดได้บ่อยก็คือที่ตำแหน่งหมอนรองกระดูก นั่นคือภาวะที่เรียกว่า หมอนรองกระดูกเคลื่อน ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด
     หมอนรองกระดูกในภาวะปกติจะทำหน้าที่เหมือนยางรถยนต์ที่รองรับระหว่าง กระดูกสองชิ้น ทุกครั้งที่เราก้ม เงย หรือเคลื่อนไหวหมอนรองกระดูกจะเป็นตัวที่รับน้ำหนัก รับแรงกระแทกระหว่างกระดูก วันดีคืนดีที่หมอนรองกระดูกแตกหรือเคลื่อนก็จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงในส่วน นี้ขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาเคลื่อนไหว เช่น ก้ม เงย หรือบิดตัวก็จะปวด นั่งนานไม่ได้ นั่งซักพักก็ปวดต้องนอน ยืนนานไม่ได้ เดินไกล ๆ ไม่ได้
 
 
ภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร
 
     สำหรับคนในวัยทำงานส่วนใหญ่จะเป็นการเสื่อมสภาพเอง ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เพราะหมอนรองกระดุกจะเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งเราไม่ทราบสาเหตุ แต่ช่วงอายุของวัยทำงานที่พบบ่อยที่สุดคือ 30-40 ปี คนไข้มักจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็น คือ 
     หนึ่ง น้ำหนักตัวเยอะ ทำให้ต้องรับน้ำหนักมากตลอดเวลา 
     สอง คือกลุ่มที่สูบบุหรี่จัด ซึ่งพบว่ากลุ่มคนที่สูบบุหรี่จะปวดหลังมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่ 
     สาม ได้แก่คนที่ต้องนั่งทำงานนาน ๆ หรือต้องก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก
เพราะ ฉะนั้นเวลาที่หมอนรองกระดูกมันเคลื่อนหรือแตก สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออาการรับน้ำหนักของกระดูกจะเสียไป การเคลื่อนไหวทุกจุดจะเกิดปัญหาหมด ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาคือกระดูกที่เคลื่อนจะไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ขาชา ขาไม่มีแรง แต่ในคนไข้บางคนอาจไม่มีอาการปวดหลังเลยก็ได้ เพราะไปโดนจุดที่หมอนรองกระดูกทั้งหมดยังทำงานได้ อาจแค่ปวดขาอย่างเดียว
 
    อีกกลุ่มที่พบได้มากก็คือกลุ่มอายุหลัง 65 ปี ไปแล้ว กลุ่มนี้จะเป็นกระดูกเสื่อมเลย พอผ่านพ้นวัยไปกระดูกจะเริ่มเสื่อม เพราะผ่านการใช้งานมานาน ซึ่งเราจะเห็นลักษณะของกระดูกที่เริ่มมีการงอกมีการย้อยของกระดูก วันดีคืนดีกระดูกที่ย้อยเพราะแคลเซียมมาเกาะก็จะไปรบกวนเส้นประสาทในบ้าน อีกสิ่งหนึ่งที่มีผลต่ออาการ คือกิจกรรมที่ทำ 
    เพราะฉะนั้นหลักในการรักษาค คือต้องรู้ก่อนว่าเขาเป็นอะไร การเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อมหรือไม่มั่นคงไม่ได้หมายความว่าต้องผ่าเสมอไป และไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาการ คนที่กระดูกเสื่อมจนถึงจุดหนึ่งแล้วยังต้องทำงาน คนกลุ่มนี้ที่จะเกิดปัญหา แต่ถ้าคนไข้สามารถ Balance  เช่นในคนที่น้ำหนักตัวมากก็ต้องพยายามลดน้ำหนักลงก็จะยืนได้นานขึ้น ก้มเงยมาก ๆ แล้วปวดก็ต้องก้มเงยให้น้อยลง หรือในคนอายุ 60-70 ปี มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจและเบาหวาน โรคเรื้อรังประจำตัวจะทำให้ไม่ active พอไม่ active อาการก็จะน้อย
 
 
ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดหลัง
  •  อายุ โดยทั่วไปอาการปวดหลังเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งในหนุ่มสาววัยทำงาน และในผู้สูงอายุ
  •  การขาดการออกกำลังกาย ในคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังไม่แข็งแรง ไม่สามารถรองรับกระดูกสันหลังได้
  •  อ้วน น้ำหนักตัวที่มากเกินไปส่งผลให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมากทำให้เกิดความเสื่อมได้มากขึ้น นอกจากนี้ไขมันที่พอกพูนบริเวณหน้าท้องอาจทำให้สมดุลของร่างกายเสียไปและเพิ่มความเสี่ยงต่อ การบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุได้
  •  โรคบางชนิด เช่น ข้ออักเสบ เนื้องอกบางชนิด
  •  การทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องยกของ ใช้แรงผลักหรือดึงซึ่งทำให้กระดูกสันหลังบิด รวมถึงผู้ที่ทำงานอยู่กับโต๊ะเป็นเวลานานโดยอิริยาบถไม่ถูกต้องก็อาจปวดหลังได้ 
 
 
อาการ
     อาจมีอาการปวดเฉพาะที่หลังเพียงอย่างเดียว หรืออาจมีอาการปวดร้าวมาที่สะโพกหรือขา อาการปวดขาจะปวดไปตามบริเวณซึ่งถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับนั้น อาจมีลักษณะความปวดแตกต่างกันไป อธิบายอาการปวดว่ามีลักษณะแหลมเหมือนโดนมีดแทง รู้สึกปวดหน่วงและหนักที่ขา หรืออาจรู้สึกเพียงเหน็บชาคล้ายเวลาที่นั่งทับขานานๆ เท่านั้น
 
 
สัญญาณเตือนที่ควรรีบพบแพทย์
 
     ถึงแม้ว่าอาการปวดหลังอาจต้องใช้เวลากว่าอาการจะทุเลาลง แต่บางครั้งก็อาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่
 
   •  อาการปวดหลังที่เป็นเรื้อรังติดต่อกันนานเกินกว่า 3 เดือน
   •  ปวดร้าวลงสะโพก ขา จนถึงบริเวณน่องหรือเท้า
   •  อาการปวดเฉียบพลันที่ไม่ทุเลาลงเมื่อได้พัก หรือมีอาการปวดรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
   •  อาการปวดหลังจากการได้รับบาดเจ็บหรือหกล้ม
   •  อาการปวดร่วมกับ
   •  ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
   •  ขาอ่อนแรง
   •  ชาบริเวณขา เท้า หรือรอบทวารหนัก
   •  คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้
   •  น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
 
 
ทางเลือกในการรักษา
     เป้าหมายของการรักษาอาการปวดหลัง คือ เพื่อลดอาการปวด และให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติที่สุด โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดหลังและระยะเวลาที่เป็น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมุ่งรักษาที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการและพยายามหาวิธีที่ทำให้ผู้ป่วย เจ็บปวดน้อยที่สุดก่อน
 
โดยทั่วไปการรักษาจะมีอยู่ 3 วิธีหลัก ได้แก่
 
   •  การรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด และการนอนพัก มักเป็นวิธีที่ใช้เริ่มต้นในการรักษา ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าต้องได้รับการรักษาโดยวิธีอื่น
 
   •  การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง ซึ่งจะช่วยลดความปวดจากการอักเสบและช่วยในการวินิจฉัยตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุ ของอาการปวดได้ การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน
 
   •  การรักษาโดยการผ่าตัด แพทย์จะใช้วิธีการรักษานี้เมื่อผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือเมื่อทำการรักษาโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ซึ่งวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นกับภาวะของผู้ป่วยหรือข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
 
 
วิธีการตรวจเช็คอาการกระดูกทับเส้นประสาทที่บ้านแบบง่ายๆ
     กระดูกทับเส้นประสาทนั้น มักมีอาการปวดร้าวตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ  รู้สึกปวดหลัง ขา หรือแขน แตกต่างกันไปในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับว่ากระดูก ทับเส้นประสาทเส้นไหน  
     ผู้คนส่วนใหญ่ รักษาด้วยการนอนพัก กินยา กายภาพบำบัด ส่วนน้อยเท่านั้นที่ รักษาด้วยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทออกไป หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ สามารถหายกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ  เมื่อไม่แน่ใจว่าเป็นกระดูกทับเส้นประสาทหรือไม่ วิธีเช็คอาการเบื้องต้น มีดังนี้
1. นอนหงาย
2. ยกขาข้างหนึ่งขึ้น โดยให้หัวเข่าเหยียดตรง ทำมุมตั้งฉากกับพื้น ถ้ามีอาการ 
    กระดูกทับเส้นประสาทจะรู้สึกปวดตึงขา
3. เมื่อกระดกปลายเท้ามาด้านหน้าจะรู้สึกปวดมากขึ้น
    นอกจากนี้ หากมีอาการปวดชาตามขาข้างใดข้างหนึ่ง และมีอาการขาอ่อนแรงร่วมด้วย  ถ้าสังเกตพบความผิดปกติเบื้องต้น ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยด่วน
 
รศ.นพ.วิชาญ ยิ่งศักดิ์มงคล
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://cartamin.com/index.aspx?pid=82ec587f-6147-4aa0-9c21-d7e47163a2c0