นัดพบแพทย์

โรคกระดูกพรุนในวัยทอง

22 Sep 2016 เปิดอ่าน 2430

หากเปรียบเทียบร่างกายของเราเป็นอาคารบ้านเรือน กระดูกก็จะเปรียบได้กับโครงสร้างของบ้านซึ่งประกอบด้วยเสาและคาน บ้านเรือนจะตั้งอยู่ได้จะต้องมีเสาและคานที่แข็งแรงฉันใด ร่างกายของเราจะคงรูปร่างอยู่ได้ก็ต้องมีกระดูกที่แข็งแรงฉันนั้น หากเสาและคานไม่แข็งแรง บ้านก็จะพังทลายลงได้ง่ายเมื่อถูกลมพายุเพียงเบาๆ พัดผ่าน ในทำนองเดียวกัน หากกระดูกของเราไม่แข็งแรงก็จะหักได้ง่ายแม้จะได้รับแรงกระแทกที่ไม่รุนแรงนัก

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง หากตัดเนื้อกระดูกของผู้ที่เป็นโรคนี้มาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบว่าเนื้อกระดูกมีรูพรุนเต็มไปหมด คล้ายกับไม้ที่ถูกปลวกกัดกินจนผุไปหมด ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคนี้กระดูกจึงหักได้ง่ายมาก

ทำไมกระดูกจึงพรุน
ในภาวะปกติจะมีการสร้างและการสลายกระดูกเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในวัยเด็กจะมีการสร้างมากว่าการสลายจึงทำให้ร่างกายมีกำไร คือ มีเนื้อกระดูกสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุประมาณ 30 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ร่างกายมีเนื้อกระดูกสะสมอยู่มากที่สุด เมื่อในวัยนี้จะมีการสร้างและการสลายกระดูกเกิดขึ้นในอัตราที่พอๆ กันจึงทำให้ร่างกายมีเนื้อกระดูกอยู่คงที่ในระดับสูงสุดนี้ต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเข้าสู่วัยทองจะมีการสลายมากกว่าการสร้างกระดูก จึงทำให้กระดูกบางลง เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกก็จะยิ่งบางลงไปอีก เมื่อกระดูกบางลงจนถึงจุดหนึ่งก็จะเป็นโรคกระดูกพรุน จึงกล่าวได้ว่าโรคกระดูกพรุนจึงเป็นโรคที่มากับอายุ ดังนั้นถ้าคุณอายุยืนยาวพอคุณก็มีโอกาสเป็นโรคนี้กันได้ทุกคน จะต่างกันก็แต่ว่าใครจะเป็นเร็วหรือเป็นช้ากว่ากันเท่านั้น

ทำไมโรคกระดูกพรุนจึงมีความสำคัญในวัยทองมากกว่าวัยอื่น
โรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีต้นทุนทางกระดูกต่ำกว่า คือมีการสะสมเนื้อกระดูกไว้ได้น้อยกว่า ดังนั้นเมื่อถึงวัยที่มีการสลายมากกว่าการสร้างกระดูก จึงทำให้เนื้อกระดูกบางลงจนถึงระดับกระดูกพรุนได้เร็วกว่า ยิ่งกว่านั้นเมื่อเข้าสู่วัยทอง ฮอร์โมนเพศหญิงจะมีการลดระดับลงอย่างรวดเร็วส่งเสริมให้กระดูกถูกสลายออกมาเร็วขึ้นไปอีก ในขณะที่ผู้ชายไม่มีช่วงเวลาที่ฮอร์โมนเพศลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ผู้ชายกระดูกพรุนช้ากว่าผู้หญิง


โรคกระดูกพรุนในสตรีวัยทองพบมากในสตรีที่หมดระดูไปแล้วประมาณ 10-20 ปี สตรีในวัยนี้จึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก กระดูกที่พบว่าหักได้บ่อย คือ กระดูกข้อมือ กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพก

กระดูกข้อมือหักไม่ค่อยก่อให้เกิดปัญหาอะไรมากนัก แต่กระดูกสันหลังหักซึ่งมักจะเป็นลักษณะที่กระดูกยุบตัวลงส่งผลให้ตัวเตี้ยลง หลังโกง และปวดหลัง ส่วนกระดูกสะโพกหักนั้นนับว่ามีอันตรายมากที่สุด เนื่องจากจะเกิดโรคแทรกซ้อนให้ถึงแก่ชีวิตได้

โรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร
หลายคนเข้าใจว่าอาการปวดเมื่อยตามตัวเป็นอาการของโรคกระดูกพรุน แต่แท้ที่จริงแล้วผู้ที่มีกระดูกพรุนจะไม่มีอาการใดๆ เลยถ้ากระดูกไม่หัก ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน จะไม่มีปัญหาใดๆ ถ้าสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีแรงกระแทก เช่น การล่องลอยอยู่ในอวกาศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราอยู่ในโลกที่มีแรงดึงดูด และมีแรงกระแทกเกิดได้ตลอดเวลา วันร้ายคืนร้ายหากยกของหนักไปหน่อย เดินสะดุดก้อนหิน นั่งรถที่วิ่งไปบนถนนที่ขรุขระ หรือโดนหลานวิ่งมาชนก็ทำให้กระดูกหักได้แล้ว

เมื่อไม่มีอาการแล้วจะทราบได้อย่างไรว่ากระดูกพรุน
ในปัจจุบันวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้ คือการตรวจความหนาแน่นกระดูกด้วยเครื่อง Dual Energy X-ray Absorptiometer ค่าตรวจครั้งหนึ่งประมาณ 2,000-3,000 บาท ส่วนการตรวจด้วยเครื่องมือชนิดอื่น ยังไม่สามารถใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคได้

หลายท่านคงเคยได้รับการตรวจความหนาแน่นกระดูกฟรีมาแล้ว ซึ่งอาจจะตรวจในร้านขายยา ในซุ้มนิทรรศการสุขภาพ หรือในห้างสรรพสินค้า ถ้าคุณตรวจด้วยเครื่องเหล่านั้นแล้วพบว่าผิดปกติ ก็อย่าเพิ่งตกใจ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันด้วยเครื่องมือมาตรฐานอีกครั้ง

หากคุณอยากทราบว่าตนเองสมควรจะไปรับการตรวจความหนาแน่นกระดูกแล้วหรือยัง ก็มีวิธีประเมินง่ายๆ คือ เอาน้ำหนักตัวที่มีหน่วยเป็นกิโลกรัม ลบออกจากอายุที่มีหน่วยเป็นปี ได้ค่าเท่าไร เอาไปคูณด้วย 0.2 หรือมีสูตรดังนี้ (น้ำหนักตัว – อายุ) x 0.2

  • ถ้าได้ค่ามากกว่า 1 แสดงว่ามีความเสี่ยงต่อโรคนี้ต่ำมาก ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ
  • ถ้าได้ค่าน้อยกว่า -4 แสดงว่ามีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระดูกพรุน ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นกระดูก
  • ถ้าได้ค่าอยู่ระหว่าง -4 ถึง 1 ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินหาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ และควรได้ตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกด้วย

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
สตรีที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้ได้แก่ผู้ที่ผอมมาก อายุมากกว่า 65 ปี หรือเข้าสู่วัยทองตั้งแต่อายุยังน้อย มีประวัติครอบครัว ได้แก่ แม่ ป้า น้า หรือพี่สาวเป็นโรคนี้ สตรีชาวเอเชียและสตรีผิวขาวมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าสตรีผิวดำ สตรีที่มีโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น โรคไต คอหอยพอกเป็นพิษ หรือโรคที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ นอกจากนี้พฤติกรรมบางอย่างยังส่งเสริมให้กระดูกบางลงอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้าหรือกาแฟเป็นประจำในปริมาณมากๆ การกินอาหารที่มีแคลเซียมน้อยและมีโปรตีนสูงเป็นประจำ และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

โรคกระดูกพรุนป้องกันได้หรือไม่
โรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถยืดระยะเวลาให้เป็นโรคนี้ช้าลงได้ โดยสตรีทุกคนและทุกวัยควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ที่ทำให้กระดูกบางลง รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ผักใบเขียว งาดำ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง นมและผลิตภัณฑ์ของนม ฯลฯ เป็นต้น แต่ในน้ำนมจะมีโคเลสเตอรอลอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสตรีวัยทองควรจะหลีกเลี่ยง แต่ถ้าจะดื่มนมก็ควรดื่มนมพร่องมันเนย

นอกจากนี้ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น การออกกำลังกายภายใต้แสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้ายังช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดีซึ่งส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้และช่วยให้แคลเซียมไปสะสมที่กระดูกเพิ่มขึ้น

ในรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน การปฏิบัติตัวดังที่กล่าวมาแล้วอาจจะยังไม่เพียงพอ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ แพทย์อาจจะให้รับประทานแคลเซียม ฮอร์โมนเพศ หรือยาบางชนิด และติดตามการรักษาด้วยการวัดความหนาแน่นของกระดูกเป็นระยะ

กระดูกพรุนเป็นโรคที่เปรียบเสมือนภัยมืด ค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ โดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ในอดีตกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ก็คือกระดูกหักเสียแล้ว แม้ในปัจจุบันจะมีเครื่องมือที่ตรวจได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ค่าตรวจค่อนข้างสูง คนไทยจึงยังไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือต้องสะสมกระดูกไว้ให้มากที่สุด ตั้งแต่อายุยังน้อย ต้องดูแลลูกหลานของคุณให้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่วนตัวคุณเองแม้จะไม่สามารถสะสมกระดูกเพิ่มได้แล้ว การมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมก็ยังช่วยลดอัตราการสลายกระดูก เป็นการยืดอายุกระดูกให้อยู่รับใช้ตัวคุณให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

รศ.พญ.มณี รัตนไชยานนท์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bartergroups.biz/index.php-lay=show&ac=article&Id=5368392.htm