ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า สาเหตุเกิดจากอายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัวมาก เคยใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก เช่น วิ่งมาก ทำงานยกของหนัก เป็นต้น เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือข้อเข่าติดเชื้อมาก่อน โดยทั่วไปเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ก็เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ เหมือนรถยนต์ที่ใช้งานมานาน ยางก็สึกหรอ แต่จะเป็นเร็วหรือช้า เป็นมากหรือน้อย ก็ขึ้นกับปริมาณปัจจัยเสี่ยงข้างต้น
รักษาได้อย่างไรบ้าง
ในกรณีที่เป็นน้อย แนะนำให้ปรับกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ หลีกเลี่ยงท่านั่งยอง หรือนั่งกับพื้น (พับเพียบหรือขัดสมาธิ) เป็นเวลานาน ลดน้ำหนักและงดยกของหนัก หมั่นบริหารข้อเข่า รวมถึงกินยาบรรเทาปวดเมื่อจำเป็น ถ้าเป็นมากขึ้นอาจรักษาโดยฉีดยาเข้าข้อเข่า ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือ ยาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์เฉพาะที่เข่า ไม่มีผลเสียต่อร่างกายส่วนอื่น ยาอีกชนิดเป็นน้ำเลี้ยงไขข้อสังเคราะห์ (Hyaluronic acid) ส่วนจะฉีดตัวไหน ฉีดบ่อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค
ควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเมื่อไร
ถ้าอาการเจ็บปวดเข่า ส่งผลต่อการใช้ชีวิตที่เป็นปกติของท่าน จนคิดว่าต้องแก้ไขก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการผ่าตัด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ปวดจนทนไม่ไหวแล้ว ทำอะไรก็ไม่สะดวก ไม่อยากจะไปไหน ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ปัจจุบันในโรงพยาบาลที่มีคณะแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเข่า จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก และมีเทคนิคที่สามารถควบคุมความเจ็บปวดได้ดีจนแทบไม่รู้สึกปวดเลย
หลังผ่าตัดหายแล้วทำอะไรได้บ้าง
หลังผ่าตัดหายแล้วผู้ป่วยสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง ขึ้นลงบันไดได้ นั่งพื้นได้ ทำงานบนพื้นได้ แต่ก็ไม่ควรนั่งนานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ข้อเข่าใหม่มีอายุใช้งานสั้นลง นั่งเท่าที่จำเป็นก็พอ ควรงดกิจกรรมที่เกิดแรงกระแทกบริเวณข้อเข่า เช่น การวิ่ง การยกของหนัก การปีนป่ายที่สูง เป็นต้น
ข้อเข่าเสื่อมป้องกันได้หรือไม่ อย่างไร
คาถาง่ายๆ ในการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม คือ “ลด ละ เลิก เพิ่มความแข็งแรง ”
ลด คือ การลดน้ำหนัก อย่าปล่อยให้อ้วน อย่ากินอะไรตามใจ ซึ่งทำได้ยากและต้องมีวินัย ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ละ คือ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพราะจะทำให้เข่าและหลังเสื่อมได้
เลิก คือ งดการนั่งยอง (ควรเปลี่ยนสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ), งดการขึ้นลงบันไดชัน
เพิ่มความแข็งแรง คือ หมั่นออกกำลังกาย กายบริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง
โดย รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaibreastcancer.com/982-2/