นัดพบแพทย์

โรคความดันโลหิตสูง

27 Aug 2016 เปิดอ่าน 2185

โรคความดันโลหิตสูง ( Hypertension)

เป็นสะพานที่จะนำสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ถ้าเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ถ้ารุนแรงอาจทำให้ถึงแก้กรรมได้ และยังเป็นสะพานที่นำไปสู่การเป็น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และถ้าความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานาน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหัวใจโรคไตวาย
เป็นภาวะทางการแพทย์อย่างหนึ่ง โดยจะตรวจพบความดันโลหิต อยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติเรื้อรังอยู่เป็นเวลานาน ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ว่า ผู้ใดก็ตามที่มีความดันโลหิตวัดได้มากกว่า 140/90 มม.ปรอทถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง


การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต อันมีสาเหตุมากจากโรคความดันโลหิตสูง เป็นภาระให้กับญาติที่น่าเห็นใจยิ่ง ปัจจุบันยังไม่มียารักษาการเป็นอัมพาตให้หายขาดได้ ในรายที่รุนแรง หมดโอกาสกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติไปตลอดชีวิต
ด้วยเหตุผลนี้จึงอยากบอกว่าอย่าได้มองข้ามโรคนี้เป็นอันขาด

เพราะมันคือมหันต์ภัยเงียบที่อาจมาเยื่อนครอบครัวเราได้ ผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การกิน การขับถ่ายนับเป็นภาระที่ ญาติไม่อาจปฏิเสธได้


โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็น เมื่อรู้ตัวว่าเป็นส่วนมากจะไม่ได้รับการดูแลรักษา ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากไม่มีอาการทำให้คนส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจ เมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงจะเริ่มสนใจและรักษา ซึ่งบางครั้งก็อาจจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร
การควบคุมความดันโลหิตต้องทำให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถลดโอกาสการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เป็นข้อเท็จจริงทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป


โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ต้องกินยา ควบคุมไปตลอดชีวิต หากหยุดยาเมื่อไหร่ความดันของโลหิตอาจกลับมาสูงได้อีก ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงมักจะมีโรคแทรกเข้ามาอีก 1 โรค คือโรคหัวใจ สรุปง่าย ๆ ก็คือ โรคความดันโลหิตสูงจะอยู่เคียงข้างไปกับโรคหัวใจ และส่วนใหญ่ในคนที่ป่วยด้วยโรคหัวใจมักจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน

ความดันโลหิตคืออะไร
คำตอบก็คือระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ทำงานร่วมกัน เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ 2 ค่า คือ

1. ความดันโลหิตค่าบน คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวเข้า
2. ความดันโลหิตค่าล่าง คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัวออก

ถ้าหัวใจและหลอดเลือดทำงานปกติ ความดันของเลือดก็จะปกติ แต่ถ้าหัวใจสูบฉีดเลือดไม่ดี หรือหลอดเลือดเกิดตีบตันขึ้นมา ระบบไหลเวียนของเลือดก็จะมีปัญหา


การตรวจความดันสามารถตรวจได้ง่าย โดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดดังกล่าวจะแสดงค่าของ ความดันโลหิตแบ่งออกเป็นสองตัว คือ ค่าความดันโลหิตตัวบน และค่าความดันโลหิตตัวล่างค่าความดันโลหิตตัวบน เป็นค่าความดันของเลือดที่หัวใจสูบฉีดเลือดออกมาเข้าสู่หลอดเลือด ส่วนค่าความดันโลหิตตัวล่าง คือค่าความดันของเลือดที่ยังค้างอยู่ในหลอดเลือด ในขณะที่หัวใจได้คลายการสูบฉีดเลือดลงแล้วผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงควรจำค่าความดันโลหิตทั้งสองนี้ไว้ เพราะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

 

ในคนปกติจะมีค่าความดันโลหิตไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอทและความดันโลหิตตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอทอย่างไรก็ตามค่าความดันโลหิตในคนปกติ ยังมีความแตกต่างกันในคนแต่ละอายุ เช่นถ้าอายุมากขึ้นความดันโลหิตก็จะสูงขึ้น ในผู้ใหญ่ที่อายุมากถ้าความดันโลหิตสูงกว่า 160/95 มิลลิเมตรปรอท ยังไม่ควรด่วนสรุปว่าเป็นความดันโลหิตสูง เพราะอาจเกิดจากการเดินทางมาเหนื่อยอยู่ หรือมีอารมณ์เครียด การวัดค่าความดันโลหิตอาจไม่แม่นยำเพราะฉะนั้นควรให้นอนพักผ่อนประมาณ 5-10 นาที แล้วค่อยตรวจวัดใหม่ ถ้าได้ค่าความดันโลหิตเท่าเดิม หรือใกล้เคียงครั้งก่อน หรือถ้าสูงอยู่ตลอดจึงจะถือว่าเป็นความดันโลหิตสูงได้


ความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่มีความดันโลหิตวัดได้มากว่า 140/90 มม.ปรอท อันตรายจากความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองแตก , หัวใจโต , ทำให้เกิดโรคไต , และเกิดหัวใจวาย


การใช้ยารักษา กรณีถ้าความดันต่ำลงกว่า 90/50 ต้องหยุดยา แต่ต้องเฝ้าดูอาการ ถ้าขึ้นมาสูงอีก ในขั้นที่ 1-2 ค่อยเริ่มต้นให้ยาใหม่ ทั้งนี้อาจใช้วิธีลดขนาดยาลงก็ได้ การรักษาต้องเฝ้าติดตามตลอดเวลา


ความดันโลหิตต่ำ หมายถึงภาวะที่ความดันโลหิตต่ำกว่า 90/50 มม.ปรอท ทำให้ขาดอาหาร ขาดออกซิเจน และการถ่ายของเสียไม่ทัน เซลล์สมอง กล้ามเนื้อหัวใจ และไตขาดออกซิเจน อาจทำให้เป็นลม ชอกและเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคความดันโลหิต

ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ทราบสาเหตุเชื่อว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยใหญ่ คือ

1. กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้ จากหลักฐานทางระบาดวิทยา พบว่าผู้ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่บิดามารดาไม่เป็น ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่มีทั้งบิดาและมารดาเป็นความดันโลหิตสูง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมากที่สุด ผู้สูงอายุก็มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงเมื่ออายุมากขึ้น ๆ

2. สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขได้ เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน การรับประทานอาหารรสเค็ม การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ ภาวะเครียด เป็นต้น

ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง และพบว่ามีสาเหตุทำให้เป็นความดันโรคโลหิต พบว่ามีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 10 ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ อย่างไรก็ตามแม้พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนน้อย แต่ก็มีความสำคัญ เพราะบางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้ และสาเหตุของโรคความดันโลหิตที่พบบ่อย มักพบในผู้ป่วยด้วยโรค

โรคไต

โรคหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ

การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด

เกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจตีบ

เกิดเนื้องอกของต่อมหมวกไต
อาการของโรคความดันโลหิตสูง

ส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏอาการให้เห็น แต่อาการที่พบได้ทั่วไปคือปวดศีรษะ มักปวดบริเวณท้ายทอย และจะเป็นในช่วงเช้า มักพบในคนที่มีอาการรุนแรง และอาการแบบนี้จะหายไปเองได้อาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ในบางครั้งอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น เหนื่อยง่าย ความรู้สึกทางเพศลดลง เลือดกำเดาออก ตาพร่ามัว ปัสสาวะเป็นเลือด

การรักษาโรคความดันโลหิตสูงในยุคปัจจุบันแพทย์ ผู้ทำการรักษาสมัยใหม่จะไม่ให้ยาลด ความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว แต่แพทย์ผู้ทำการรักษาจะใช้วิธีรักษาที่สมบูรณ์แบบ โดยการแนะนำให้ผู้ป่วยปรับการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ ควบคู่ไปกับการใช้ยา เช่นการฝึกสมาธิเล่นโยคะออกกำลังกายทุกวัน การควบคุมอาหาร งดไม่รับประทานอาหารรสเค็ม อาหารมันจัด งดดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงภาวะเครียด หรืออาจใช้สมุนไพรเข้าร่วมด้วย เช่น ผักขึ้นฉ่าย เป็นการรักษาแบบผสมผสาน ที่เรียกว่า Complementary treatment หมายถึงเป็นการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปกับ “ แพทย์ทางเลือก ” ( Alternative medicine ) แต่ก็ควรเป็นสมุนไพรที่มีข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้เชื่อได้ว่าสามารถช่วยได้จริง รวมถึงแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ และควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพเป็นระยะ

 

รศ.นพ. พีระ บูรณะกิจเจริญ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.lingzhibook.com/cnnbook/No.54.htm