นัดพบแพทย์

โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี

09 Jan 2017 เปิดอ่าน 1536

ทั่วโลกมีผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus: HBV) มากกว่า 2,000 ล้านคน ในขณะที่มีประชากรไม่ต่ำกว่า 378 ล้านคน (หรือเท่ากับร้อยละ 6 ของประชากร โลก) เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าร้อยละ 75 ของผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีถิ่นฐานอยู่ในทวีปเอเชีย ส่วนความผิดปกติของตับเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นอกจากเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแล้ว ยังอาจพบโรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ และโรคตับอักเสบเฉียบพลันได้

โรคตับอักเสบเรื้อรังจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจเลือด หากพบแอนติเจนของเชื้อเป็นบวกอย่างน้อย 3-6 เดือนร่วมกับมีจำนวนไวรัสสูง โรคนี้เป็นโรคที่มีความสำคัญเนื่องจากว่าร้อยละ 15-40 ของผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจเกิดโรคตับแข็ง มะเร็งตับและตับวาย

ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการดำเนินของโรคตับอักเสบเรื้อรังไปเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้แก่ จำนวนของไวรัสตับอักเสบบีที่มาก เอนไซม์ตับขึ้นสูง เพศชาย อายุมาก และดื่มสุราเป็นประจำ ในอดีตผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย มักได้รับเชื้อจากมารดา ในขณะที่คลอดลูก ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิดมักมีระยะของโรคอยู่ในระยะภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนองเป็นเวลานาน ซึ่งในระยะนี้จะพบจำนวนไวรัสสูงมาก โดยที่เอนไซม์ตับปกติ และมีแอนติเจนของ HBe เป็นบวก เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะภูมิคุ้มกันแข็งแรง เอนไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การลดลงของจำนวนเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และมีการเปลี่ยนแปลงของแอนติเจน HBe ไปเป็นแอนติบอดี้ของ HBe เข้าสู่ระยะพาหะที่โรคสงบ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้มักมีเอนไซม์ตับปกติ จำนวนเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่ำมากหรือตรวจไม่พบ และมีแอนติบอดี้ของ HBe แต่บางครั้งระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ได้ ทำให้ตับกลับมามีการอักเสบรุนแรงได้อีก พยาธิสภาพของตับที่อักเสบรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะทำให้กลายเป็นตับแข็งได้สูง

ข้อพิจารณาว่าใครควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ จำนวนไวรัส ระดับเอนไซม์ตับ และโรคร่วมที่มีอยู่ ผู้ที่ยังไม่ควรได้รับการรักษาได้แก่ ผู้ที่อยู่ในระยะที่ 1 หรือระยะภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนอง เนื่องจากการรักษาแล้วมักไม่ได้ผล ตับระยะนี้มักมีการอักเสบน้อยและมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคตับแข็งได้น้อย การที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในระยะนี้ ไม่ควรได้รับการรักษาเนื่องจากร่างกายยังขาดการตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องรักษาตลอดไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการติดตามเป็นระยะ ๆ เพื่อรอดูเวลาที่เหมาะสมของการเริ่มรักษา เช่น เมื่อโรคมีการเปลี่ยนแปลงจากระยะที่ 1 เข้าสู่ระยะที่ 2 แต่ถ้าผู้นั้นมีอายุ 40 ปีขึ้นไปและมีจำนวนเชื้อไวรัสสูงมาก แต่ระดับเอนไซม์ตับปกติหรือไม่สูงมาก ควรได้รับการเจาะตับ เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพของเนื้อตับโดยละเอียด ถ้ามีความรุนแรงของโรคมากพอ ก็ควรรักษาด้วยยาต้านไวรัส

การป้องกันหรือหยุดยั้งการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ เป็นเป้าหมายสูงสุดของการรักษาโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี เมื่อจำนวนของไวรัสลดลง ระดับเอนไซม์ตับกลับมาปกติ และพยาธิสภาพของตับดีขึ้น ปัจจุบันมียาที่ได้รับการยอมรับโดยองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ในการใช้รักษาโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบี ทั้งยาฉีดได้แก่ อินเตอเฟอรอน (interferon) เพ็กเกอเล็ดเต็ดอินเตอเฟอรอน(pegylated interferon) และยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน 5 ชนิด ได้แก่ ลามิวูดีน (lamivudine) อะเด็ฟโฟเวีย (adefovir) เอนติคาเวีย (entecavir) เทลบิวูดีน (telbivudine) และล่าสุดได้แก่ ทินอฟโฟเวีย (tenofovir)

ในการดูแลและป้องกันโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี สามารถทำได้อย่างไร และวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี มีประสิทธิภาพอย่างไร ติดตามได้ฉบับหน้า.

รศ.พญ.อาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข
ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณบทความจาก : https://ascannotdo.wordpress.com/2013/07/07/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2/