นัดพบแพทย์

โรคผังผืดส้นเท้าอักเสบ

03 Sep 2016 เปิดอ่าน 2188

มีแฟนคอลัมน์ท่านหนึ่ง ได้เล่าอาการป่วยและสอบถามเข้ามาว่า “ผมอายุ 55 ปี ส่วนสูง 165 เซนติเมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม มีอาการพังผืดส้นเท้าอักเสบ คือ เมื่อยืนหรือเดินนาน ๆ จะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน รักษา มาหลายโรงพยาบาลแล้วก็ไม่หาย และไม่ดีขึ้น ฉีดยาระงับปวดที่ส้นเท้ามา 3 ครั้งแล้ว ก็ไม่หาย จึงอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้ ตลอดจนวิธีการรักษา”
ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ “โรคพังผืดส้นเท้าอักเสบ” ไปพร้อม ๆ กัน “X-RAY สุขภาพ” จึง มาพูดคุยกับ ศ.น.พ.วิเชียร เลาหเจริญสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี

ศ.น.พ. วิเชียร อธิบายว่า “โรคพังผืดส้นเท้าอักเสบ” หรือที่เรียกกันว่า “รองช้ำ” เป็นโรคที่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงขั้นทำให้ตาย หรือพิการ เพียงแต่คนที่เป็นโรคนี้อาจเกิดความรำคาญจากอาการเจ็บปวด พบได้บ่อยในคนอายุประมาณ 50-60 ปี โดยเฉพาะสุภาพสตรี

โรคนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจะมีอาการปวดเฉพาะช่วงตื่นนอนเช้า คือ เดินก้าวแรก ๆ ปวด พอเดินต่อไปปวดน้อยลง ในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีปัญหาเอ็นกระดูกอักเสบ ส่วนมากกินยาหรือฉีดยาก็หาย

ส่วนอีกกลุ่มยิ่งเดินมากก็ยิ่งมีอาการปวด ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาการปวดอาจมีสาเหตุมาจากรูปร่างที่ใหญ่ อ้วน ส้นเท้าเล็ก เวลายืนน้ำหนักตกอยู่ตรงจุดเดียวบริเวณส้นเท้าเยอะ

นอกจากนี้อาการปวดที่บริเวณส้นเท้า อาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น เนื้องอก หรือการติดเชื้อบริเวณกระดูกส้นเท้า แต่กรณีเหล่านี้พบได้น้อยมาก

ในคนที่เป็นโรคพังผืดส้นเท้าอักเสบ ความจริงแล้วถ้าปวดไม่มากแม้จะไม่ทำการรักษาก็สามารถหายได้เอง แต่อาจต้องใช้เวลานาน กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเอ็นกระดูกอักเสบ โดยมากจะมีอาการเพียงชั่วคราว รอบหนึ่งตกประมาณ 2-3 ปี หมายความว่า ในกรณีที่มีอาการปวดแล้วในช่วงประมาณ 2 ปีที่รักษาอาการปวดจะหายไป

แต่ในผู้ป่วยกลุ่มที่น้ำหนักตกอยู่บริเวณส้นเท้าเยอะ วิธีแก้ไข คือ กระจายน้ำหนักที่ลงบริเวณส้นเท้า โดยอาจใช้พื้นรองเท้าที่นุ่ม ๆ รอง เพื่อให้น้ำหนักกระจายได้ดีขึ้น หรือทำการปรับหรือ หนุนพื้นรองเท้าในบางจุดเพื่อให้น้ำหนักเท้าแพร่กระจาย หรือให้เข้ากับรูปเท้าของตัวเอง

ในการวินิจฉัยและรักษา เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดแล้วไปพบแพทย์ อันดับแรกแพทย์จะวินิจฉัยจากรูปร่าง น้ำหนักตัว ดูการเดิน และการลงน้ำหนักของส้นเท้าว่า พื้นที่สัมผัสเป็นอย่างไร มีการกระจายน้ำหนักที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้าดูแล้วไม่มีประเด็นนี้ ก็จะไปดูเรื่องการอักเสบของเอ็นกระดูก ว่ามีอาการปวดข้อหรือไม่ มีการปวดในตอนกลางคืน หรือปวดตอนตื่นนอนหรือไม่

ถ้าตรวจดูคนไข้แล้วอาการปวดน้อยอาจจะไม่ต้องให้ยาเลย แต่ถ้าปวดมากจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ก็อาจให้ยารับประทาน หรือ ยาฉีด แก่ผู้ป่วย ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยในปัจจุบันมีมากกว่า 10 ชนิด โดยยาแต่ละชนิดอาจเหมาะกับผู้ป่วยบางคนแต่อาจจะไม่เหมาะกับบางคน ดังนั้นต้องดูว่าผู้ป่วยใช้ยาชนิดใดแล้วได้ผล หรือถ้าใช้ไม่ได้ผลก็ควรลองใช้ยาชนิดอื่นที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งการใช้ยารักษาโรคโดยเฉพาะการกินยาติดต่อกันเป็นเวลานานควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ส่วนคนไข้ที่เป็นโรคนี้ถึงขั้นต้องทำการผ่าตัดมีน้อยรายมาก แพทย์จะทำการผ่าตัดในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น คือ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดมากจนทนไม่ไหวจริง ๆ

กรณีที่คนไข้ไปพบแพทย์แล้วบอกว่า ฉีดยาระงับปวด 3 ครั้งแล้วไม่หายนั้น คงต้องถามกลับไปว่า ฉีดยาแล้วอาการปวดไม่หายไปเลย หรือว่าฉีดยาแล้วอาการปวดหายไปชั่วคราว พอหมดฤทธิ์ยาก็กลับมาเป็นอีก เพราะคำว่าไม่หาย แต่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ โดยอาจมีความรู้สึกเจ็บปวดอยู่บ้างเล็กน้อย ก็น่าจะยอมรับกันได้ ยกเว้นปวดมากจนทนไม่ได้ แพทย์อาจทำการ เอกซเรย์เพื่อดูว่าอาการปวดมีสาเหตุอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่

แสดงว่าคนที่มีรูปร่างอ้วนเสี่ยงเป็นโรคนี้กันเยอะใช่หรือไม่ ? ศ.น.พ.วิเชียร กล่าวว่า น้ำหนักตัว เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น มิใช่สาเหตุโดยตรง เพียงแต่ในคนอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมาก เวลาที่มีอาการปวดจะปวดมากกว่าคนที่มีรูปร่างปกติเท่านั้น.

ปวดหลัง
โดย จารุณี นันทวโนทยาน รวบรวม ร.ศ. นพ. วิเชียร เลาหเจริญสมบัติ OSK81 ที่ปรีกษา หน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพคลีนิค ผู้ป่วยนอก ออร์โทบิดิกส์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ปวดหลัง-ปวดเอว เป็นอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน จากสถิติ มนุษย์ร้อยละ 80 เคยมีประสบการณ์การปวดหลัง-ปวดเอว อาการปวดจะแสดงได้ต่าง ๆ กัน บางท่านอาจปวดเฉพาะบริเวณหลังหรือกระเบนเหน็บ หรือบางท่านอาจปวดหลัง และร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างและมีอาการชาร่วมด้วยจนเดินไม่ได้ก็มี หลังที่สมบูรณ์แข็งแรงจะยืดหยุ่นและไม่ปวดมีการทำงานของระบบโครงสร้าง คือ กระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกกล้ามเนื้อและเอ็นอย่างเหมาะสม และปกป้องอันตรายไม่ให้เกิดกับประสาทไขสันหลัง

สาเหตุอาการปวดหลัง

1.) การใช้กิริยาท่าทางต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่ถูกต้อง
2.) ความเสื่อมของกระดูกและข้อจากวัยที่สูงขึ้น
3.) ขาดการออกกำลังกายหรือมีการเคลื่อนไหวที่จำกัด
4.) ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด เช่น หลังคด หลังแอ่น
5.) การมีการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น วัณโรคของกระดูกสันหลัง
6.) การได้รับอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง
7.) การมีเนื้องอกของประสาทไขสันหลังหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูกสันหลัง
8.) อาการปวดร้าวมายังหลังจากโรคของอวัยวะในระบบอื่น ๆ เช่นนิ่วในไต เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน
9.) ปัญหาที่ทำให้เกิดความตึงเครียด และความวิตกกังวลในชีวิต

การป้องกันอาการปวดหลัง

1.) เรียนรู้การใช้กิริยาท่าทางที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน
2.) หลีกเหลี่ยงการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
3.) หลีกเหลี่ยงการใช้แรงงานมาก ๆ และรู้ถึงขีดจำกัดกำลังของตัวเองในการยกของหนัก
4.) ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ซึ่งทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวต้องรับน้ำหนักมาก โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับร่างกายให้ครบทุกประเภท
5.) บำรุงรักษาสุขภาพร่างกายทั่วไปให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ร่วมกับการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ รำมวยจีน จะช่วยลดอาการปวดหลังจากการทำงาน
6.) ออกกำลังบริหารร่างกาย ป้องกันอาการปวดหลังอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีอาการปวดหลัง
7.) ปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือสังเกตุเห็นความผิดปกติ

การบริหารร่างกายป้องกันอาการปวดหลัง

1. ประโยชน์
1.1 ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวไม่เกร็ง และแข็งแรงอยู่เสมอ
1.2 กระดูกและข้อเสื่อมช้าลง


2. หลักการ
2.1 เป็นการออกกำลังบริหารร่างกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง หลัง ตะโพก และต้นขา และเพื่อยึดกล้ามเนื้อด้านหลังของหลังและขา
2.2 ควรออกกำลังบริหารด้วยความตั้งใจ ทำช้า ๆ ไม่หักโหม บริหารอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น และในแต่ละท่าการบริหารทำประมาณ 10 ครั้ง
2.3 ท่าบริหารท่าใดท่าที่ทำแล้วมีอาการปวดหลังมากขึ้น ให้งดทำในท่านั้น ๆ

3. ท่าการบริหารป้องกันอาการปวดหลัง

ท่านเตรียมบริหาร:
นอนหงายบนที่ราบ ศรีษะหนุนหมอน ขาเหยียดตรง มือวางข้างลำตัว

ท่าที่ 1 ยืดกล้ามเนื้อด้านหลังของขา
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าข้างหนึ่งขึ้นและวางเท้าราบกับพื้น ส่วนขาอีกข้างหนึ่งเหยียดตรงวางราบกับพื้น ยกขาที่เหยียดตรงนี้ขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่ยกได้ โดยแผ่นหลังแนบกับพื้นตลอดเวลาไม่เคลื่อนไหว แล้วจึงค่อย ๆ วางขานี้ลงราบกับพื้นเหมือนเดิม พักสักครู่ ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วจึงสลับบริหารขากอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

ท่าที่ 2 เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้องและตะโพก และลดความแอ่นของหลัง
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าทั้งสองข้างขึ้น วางเท้าราบกับพื้น หายใจเข้าและออกช้า ๆ พร้อมกับแขม่วหน้าท้อง กดหลังให้ติดแนบกับพื้น และเกร็งกล้ามเนื้อก้น [ขณะเกร็งกล้ามเนื้อก้น ก้นจะยกลอยขึ้น] ทำค้างไว้นานนับ 1-5 หรือ 5 วินาที และจึงคล้าย พักสักครู่และทำใหม่ในลักษณะ เดียวกัน 10 ครั้ง

ท่าที่ 3 ยืดกล้ามเนื้อหลัง
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าทั้งสองข้างเอามือกอดเข่าเข้ามาให้ชิดอก และยกศรีษะเข้ามาให้คางชิดเข่า ทำค้างไว้นานนับ 1-10 แล้วจึงคลาย พักสักครู่ และเริ่มบริหารใหม่ในลักษณะเดียวกัน ทำประมาณ 10 ครั้ง

ท่าที่ 4 ยืดกล้ามเนื้อตะโพก
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร เอามือกอดเข่าข้างหนึ่งเข้ามาให้ชิดอก พร้อมกับขาอีกข้างเหยียดตรงเกร็งแนบกับพื้น ทำค้างไว้นานนับ 1-10 แล้วจึงคลาย พักสักครู่ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วจึงสลับบริหารขาอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

ท่าที่ 5 ยืดกล้ามเนื้อสีข้าง
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าข้างหนึ่งขึ้นหันเข้าด้านในของลำตัว พร้อมกับใช้สันเท้าของอีกขาหนึ่งกอดเข่าที่ตั้งให้ติดพื้น โดยที่ไหล่ทั้งสองข้างติดพื้นตลอดเวลา ทำค้างไว้นานนับ 1-10 แล้วจึงคลาย พักสักครู่ และเริ่มบริหารใหม่ ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วจึงสลับบริหารขาอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

สรุป
อาการปวดหลังสามารถป้องกันได้ในบางสาเหตุ ร่วมกับการบริหารร่างกายป้องกันอาการปวดหลัง การรักษาในบางสาเหตุได้ผลมากน้อยเพียงไร ขึ้นกับปัจจัยส่งเสริมหลาย ๆ ประการ การรักษาที่ถูกวิธีกับแพทย์เป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับท่าน ขอให้ท่านมีสุขภาพหลังที่แข็งแรงอยู่เสมอ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=1125