นัดพบแพทย์

โรคมะเร็งในเด็ก โรคร้ายที่รักษาหาย (ขาด) ได้

25 Sep 2016 เปิดอ่าน 2261

รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง เลขาธิการกองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  เปิดเผยว่า อัตราของโรคมะเร็งในเด็กเท่าที่สามารถประมาณแบบคร่าวๆในประเทศไทยพบว่า มีถึง 1,000 รายต่อปี โดยจากสถิติของชมรมโรคมะเร็งในเด็ก สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2546 - 2548 พบว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวพบมากที่สุดสูงถึงร้อยละ 30 รองลงมาคือ มะเร็งสมองร้อยละ 20 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองร้อยละ 15 มะเร็งต่อมหมวกไตร้อยละ10  ส่วนมะเร็งอื่นๆ พบในสัดส่วนร้อยละ 5 เท่ากัน คือ มะเร็งไต  มะเร็งกระดูกและกล้ามเนื้อลาย มะเร็งตับ มะเร็งลูกนัยย์ตา และ มะเร็งอื่นๆ 

รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง กล่าวว่า มะเร็งในเด็กส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ มีประมาณร้อยละ 1-3 เท่านั้น ที่กรรมพันธุ์อาจจะเป็นต้นเหตุ ตัวอย่างเช่น โรคมะเร็งจอภาพตาของนัยย์ตา (retinoblastoma) สำหรับสาเหตุของโรคมะเร็งในเด็กยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นต้นเหตุ ไม่เหมือนโรคมะเร็งในผู้ใหญ่สามารถบอกสาเหตุได้และป้องกันได้ เช่น บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด เป็นต้น 

 ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น สารพิษต่างๆ หรือรังสีที่พบว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่  ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุของมะเร็งในเด็ก และไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูว่าดีหรือไม่ดี ถึงอย่างไรก็ตามโอกาสหายขาดของโรคมะเร็งในเด็กดีกว่าผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก สาเหตุที่โอกาสการหายขาดของโรคมะเร็งในเด็กดีกว่าผู้ใหญ่ เป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมของเซลมะเร็งของโรคมะเร็งในเด็กมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากทุกๆ เซลมีลักษณะคล้ายคลึงกัน (homogeneous) ในคนๆ เดียวกัน จึงตอบสนองต่อการรักษาเหมือนกัน ซึ่งแตกต่างจากเซลมะเร็งของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมของเซลมะเร็งมากกว่า ทำให้เซลมะเร็งมีความแตกต่างกันในคนๆ เดียวกัน (heterogeneous) จึงทำให้การตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกันไป

อาการแสดงของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งนั้น  รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ระบุว่าจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีอาการ ซีด ไข้ และเลือดออกง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลือดออกตามใต้ผิวหนัง โดยจะเห็นได้เป็นจ้ำเลือดตามแขน ขา และนอกจากนี้ยังพบว่ามีตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองโต  ซึ่งเกิดจากเซลมะเร็งเม็ดเลือดขาวแพร่กระจายไปตามตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลือง  อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการซีด หรือมีจุดเลือดออกตามเนื้อตามตัวทุกรายไม่ได้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งหมด  ทั้งนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการซีด เช่น การขาดธาตุเหล็ก โรคธาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม  โดยที่ทั้งสองโรคนี้ไม่ใช่มะเร็งเม็ดเลือดขาว  หรือสาเหตุอื่นๆ ทำให้จุดเลือดออกตามตัวจากเกร็ดเลือดต่ำซึ่งมีสาเหตุอื่นๆ อีกมาก

ส่วนอาการแสดงของโรคมะเร็งชนิดอื่น  เช่น เนื้องอกในสมอง เนื่องจากสมองอยู่ในกะโหลกศีรษะ  ดังนั้นถ้ามีเนื้องอกในสมองก็จะเกิดอาการจากการกดเบียดของเนื้อสมองจากก้อนเนื้องอกทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ เนื่องจากความดันในกะโหลกศีรษะสูง โดยที่อาการปวดศีรษะมักจะพบในตอนเช้า และมีอาเจียนร่วมด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการแขน ขาอ่อนแรง อาจจะมีการซึมลงหรือมีอาการชักร่วมด้วย  สุดท้ายถ้าไม่ได้รับการรักษาก็อาจจะหมดสติและเสียชีวิตได้  นอกจากนี้ในผู้ป่วยเด็กเล็กๆ ที่ต่ำกว่า 1 ปีที่มีเนื้องอกในสมองอาจจะพบว่ามีศีรษะโตกว่าปกติ รวมถึงอาจจะมีกระหม่อมโป่งตึง ถึงอย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเด็กที่ปวดศีรษะทุกรายจะเป็นเนื้องอกในสมอง

สำหรับมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่มาด้วยเรื่องก้อน เช่น มะเร็งก้อนในช่องท้อง จากมะเร็งตับ ไต ต่อมหมวกไต คนไข้จะมาอาการด้วยการคลำก้อนพบได้ในช่องท้อง ซึ่งผู้ปกครองจะสังเกตได้ในเวลาอาบน้ำให้ลูกๆ ก็จะคลำพบก้อนได้  นอกจากนี้มะเร็งกล้ามเนื้อลายและกระดูกก็พบว่ามีก้อนตามแขน ขา ซึ่งมะเร็งเหล่านี้ก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในเด็กเล็กๆอายุที่ต่ำกว่า 1 ปีพบว่าจะเป็นมะเร็งจอภาพตาของลูกนัยย์ตาได้บ่อย โดยจะสังเกตได้ว่าอาการเริ่มแรกจะเห็นเป็นสีขาวอยู่ในรูม่านตา พร้อมกับเด็กอาจจะมีตาเขร่วมด้วย

 รศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง กล่าวแนะนำ เมื่อรู้ว่าลูกป่วยเป็นมะเร็งว่า ต้องคุยกับแพทย์ผู้รักษาเพื่อจะได้เข้าใจว่าการรักษานี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง  ทราบถึงผลข้างเคียงว่าจะเกิดอะไรขึ้น  เพื่อจะรักษาได้ทันถ่วงที  จากนั้นต้องให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยวัยรุ่นจะต้องให้เข้าใจว่าการรักษานี้เพื่อให้เขาหายจากโรค  อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงของการรักษานี้จะต้องเกิดไม่มากหรือน้อย  ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องเข้าใจและรักษาตนเองให้เป็นอย่างดี  การรักษาโรคมะเร็งนี้จะต้องเป็นงานรวมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของแพทย์อย่างเดียว ขอให้คำนึงถึงว่าชีวิตของเด็กจะดีขึ้นในแต่ละวัน 

 การมองในระยะยาวอาจจะเกิดการท้อแท้ เนื่องจากว่าการรักษาโรคมะเร็งนั้นจะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร  ดังนั้นการมองเห็นว่าเด็กดีขึ้นทุกๆ วันในแต่ละวันจะทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้น

มะเร็งในเด็ก  โรคร้ายที่รักษาหาย (ขาด) ได้


มะเร็งในเด็กโดยทั่วไปมีอัตราการหายขาดและรอดชีวิตประมาณร้อยละ 70 ทั้งนี้คำว่าหายขาดหมายความว่า หลังจากหยุดการรักษาไปอย่างน้อย 2-5 ปีแล้วไม่มีโรคกลับอีกจึงถือว่าผู้ป่วยรายนี้หายขาด ซึ่งทั้งนี้อัตราการหายขาดและรอดชีวิตของโรคมะเร็งในเด็กดีกว่าผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการรอดชีวิตดีขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่ง การรักษาโดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรักษา ดังนี้

1. การผ่าตัด  ในรายที่มะเร็งมาด้วยเรื่องก้อน
2. การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็กทุกรายจำเป็นต้องได้รับ
3. การฉายแสง ซึ่งในปัจจุบันเทคนิคการฉายแสงดีกว่าเดิมเป็นอย่างมาก โดยเครื่องมือการฉายแสงสามารถยิงรังสีลงตรงไปที่ตัวก้อนเนื้องอก โดยที่ไม่ทำลายเนื้อเยื้ออวัยวะข้างเคียง
4. การปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีโรคกลับที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพราะต้นกำเนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวคือไขกระดูก การรักษาโดยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยรายละ 500,000 บาทซึ่งปัจจุบันการปลูกถ่ายไขกระดูกดีกว่าในอดีตมาก โดยทางหน่วยโรคมะเร็งได้พยายามค้นคว้าวิจัยเอาไขกระดูกจากพ่อแม่ หรือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พี่น้องท้องเดียวกันมาใช้ในการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งเดิมใช้ไม่ได้ เนื่องจากมีปฏิกิริยาต่อต้านเป็นอย่างมาก

และในปัจจุบันได้มีการนำเซลตัวอ่อนจากรกทดแทนการใช้เซลตัวอ่อนจากไขกระดูก อย่างไรก็ตามเซลตัวอ่อนจากผู้ให้ไขกระดูกหรือเซลตัวอ่อนจากรกเองจะต้องมี HLA ตรงกันกับผู้ป่วย  โดยผู้ที่มี HLA ตรงกันกับผู้ป่วยนั้นจะต้องเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน และโอกาสที่พี่น้องท้องเดียวกันจะมี HLA ตรงกันกับผู้ป่วยเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น  ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าพี่น้องของผู้ป่วยจะมีโอกาสให้ไขกระดูกให้กับผู้ป่วยได้ทุกราย  สำหรับบุคคลอื่นที่มีใช้พี่น้องท้องเดียวกันที่จะมี HLA ตรงกันกับบุคคลทั่วๆ ไปมีโอกาสประมาณ 1 : 50,000-100,000  เท่านั้น  ดังนั้นการที่บุคคลอื่นจะมี HLA ตรงกันกับผู้ป่วยแต่ละรายจะต้องทำการค้นหาในบุคคลเป็นจำนวนมาก ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีศูนย์รวบรวมข้อมูลผู้บริจาคไขกระดูกเหมือนในต่างประเทศ

ผู้ป่วยมะเร็งเด็กหลังจากหายขาดจากโรคสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ไม่เป็นบุคคลทุพลภาพ สามารถเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมได้ มีตัวอย่างผู้ป่วยเด็กที่หายขาดและสามารถไปศึกษาต่อจนจบเป็นแพทย์ และวิศวกร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งในเด็กต้องใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก โดยการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายต้องใช้ระยะเวลากว่า 1-3 ปี (แล้วแต่ชนิดของโรคมะเร็ง) และค่าใช้จ่ายมากกว่า 100,000-300,000 บาท ต่อรายเป็นอย่างน้อย จะเห็นได้ว่าเงินเหล่านี้เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยยากจนส่วนใหญ่ ดังนั้นทางโรงพยาบาลจะต้องรับภาระอย่างหนักในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งวิธีการบางอย่างจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งทางโรงพยาบาลเองไม่สามารถจ่ายให้ได้ เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำให้ต้องสูญเสียผู้ป่วยเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย
  

โรคมะเร็งในเด็ก แม้จะเป็นฝันร้าย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนทางรักษา ดังนั้น ผู้ป่วย คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งท้อแท้และสูญสิ้นกำลังใจ เพราะกำลังใจนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการรักษาโรคนี้ให้หายขาด และเราคนไทยทุกคนก็สามารถร่วมเป็นกำลังใจให้กับเด็กเหล่านี้ได้ ด้วยการร่วมบริจาคสมทบกองทุนฯ เพื่อช่วยคืนชีวิตใหม่ที่สดใสแก่พวกเขา ให้คลายความเจ็บปวดจากโรคร้ายนี้ได้

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1283942965&grpid=no