นัดพบแพทย์

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยเงียบที่อันตราย

01 Dec 2016 เปิดอ่าน 957

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการเหล่านี้…

เจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกกำลังกาย, เครียด หรือทำงานหนัก รู้สึกกระสับกระส่ายเหมือนถูกกดทับหรือบีบรัดบริเวณหัวใจ มีอาการเจ็บร้าวไปถึงบริเวณขากรรไกร ไหล่ซ้าย ต้นแขน หรือหลัง นอกจากนั้นยังอาจพบ อาการหอบเหนื่อย เหงื่อแตก เป็นลมหมดสติ หรือ สับสน ได้

    เหล่านี้คือสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ว่าอาจมีภัยเงียบอย่าง ‘โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ’ แฝงอยู่ในตัวคุณ!

    นายแพทย์กรวิชญ์ สุขลิ้ม อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประจำโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และตรวจหัวใจด้วยเครื่องตรวจสนามแม่เหล็กแรงสูง หรือ เอ็ม อาร์ ไอ (MRI) คนเดียวของภาคใต้ที่ได้วุฒิบัตรรับรองจากอเมริกา กล่าวว่า ‘นี่เป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่งในหลาย ๆ ชนิดที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก’

    "จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า โรคหัวใจเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของประชากรไทย รองจากอุบัติเหตุ และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะสองสาเหตุแรกเป็นข้อมูลที่คนทั่วไปทราบกันดี แต่สาเหตุที่สามเป็นเรื่องที่บางคนไม่เคยรู้ บางคนก็เสียชีวิตแบบกะทันหัน และไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคนี้"

    ด้วยหัวใจของคนเราเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักที่สุดอวัยวะหนึ่ง โดยหัวใจมีการเต้นและการบีบตัวตั้งแต่แรกเกิดจนวินาทีสุดท้ายที่เราหมดลมหายใจ ดังนั้นหัวใจจึง ต้องมีหลอดเลือด ซึ่งทำหน้าที่นำเลือดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ ที่ประกอบด้วยสารอาหาร พลังงาน และ ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นกับหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นการตีบ หรือการอุดตันของหลอดเลือด ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยหลอดเลือดเหล่านั้น ขาดเลือดหรือตายไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้ไม่ดี ผลที่ตามมา คือ หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้เพียงพอ ทำให้เกิดหัวใจวาย และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

    สำหรับ ‘โรคหัวใจ’ เป็นกลุ่มโรคขนาดใหญ่ มีมากมายหลายชนิด เช่น โรคหัวใจวาย โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ลิ้นหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น

    "โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด’ เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome) ซึ่งมีแนวโน้มของอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี"


    เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ให้คุณลองจินตนาการ หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจก็เปรียบเหมือนกับท่อประปา ซึ่งเมื่อมีการใช้งานไปนาน ๆ ก็ย่อม เกิดการอุดตันขึ้นจากเศษตะกอนต่าง ๆ หลอดเลือดแดงของหัวใจก็เช่นเดียวกัน การตีบของหลอดเลือดแดงนั้น ส่วนหนึ่งเกิดเมื่อคนเราอายุมากขึ้น โดยธรรมชาติ ผนังหลอดเลือดก็จะมีการหนาตัวขึ้นอยู่แล้วจากการสะสมของไขมันและหินปูน เพราะฉะนั้น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจึงเป็นโรคของผู้ใหญ่วัยกลางคน และวัยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ในคนบางคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ ทั้งที่อายุยังไม่มาก เนื่องจากมีปัจจัยบางประการที่ส่งเสริมให้ผนังหลอดเลือดแดง มีการตีบและหนาตัวเร็วขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดสูงผิดปกติ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ที่เป็นญาติสายตรงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตั้งแต่อายุไม่มาก (ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี, หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี) นอกจากนี้ ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ มากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วก็มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่

    นอกจากนี้นายแพทย์กรวิชญ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลโครงการทะเบียนผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย พบว่า จากจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในการศึกษา 9,373 คน ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีโรคไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย รองลงมาร้อยละ 64 ก็มีภาวะความดันโลหิตสูง อันดับที่สาม คือ เบาหวาน พบมากถึงร้อยละ 44 อันดับที่สี่ คือ การสูบบุหรี่ พบสูงถึงร้อยละ 32 และมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ พบเพียงร้อยละ 9 นั้นหมายความว่า ใครที่มีภาวะปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้หลายอย่าง แม้ไม่มีประวัติครอบครัวก็มีสิทธิ์เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้สูงครับ"

    ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนั้น อาการที่สำคัญที่สุดคืออาการเจ็บ หรือแน่นหน้าอก เหมือนมีอะไรมาทับหรือบีบรัด อาการเตือนในระยะแรกๆ คือ มีอาการ เจ็บแน่นหน้าอกขณะที่ออกแรงมากๆ เช่น เล่นกีฬา เดินขึ้นที่สูงๆ หลังกินอาหารอิ่มจัด ขณะมีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ หรือจิตใจเคร่งเครียด ขณะร่วมเพศ ขณะสูบบุหรี่ หรือเวลาถูกอากาศเย็นๆ บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อ เมื่อหลอดเลือด มีการตีบมากขึ้น อาการเจ็บหน้าอกก็จะเป็นได้ง่ายขึ้น เช่น เดินเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ขึ้นบันไดเพียง 1-2 ชั้น อาบน้ำเย็นๆ และสุดท้าย อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรก็เจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกล้าม เนื้อหัวใจ ขาดเลือดจะเป็นอยู่นานเพียง 5-10 นาที เวลาพัก หรืออมยาขยายหลอดเลือดแล้วจะดีขึ้น แต่อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะเจ็บรุนแรงกว่า นานกว่า ส่วนใหญ่เกิน 20 นาที อมยาขยายหลอดเลือดก็ไม่ดีขึ้น และอาจมีอาการเหนื่อยหอบ เหงื่อแตกอย่างมากร่วมด้วย นอกจากอาการเจ็บหน้าอกแล้ว ผู้ป่วยอาจมาด้วยเรื่องเหนื่อยง่าย หอบ นอนราบไม่ได้ ขาบวม ใจสั่น หน้ามืด หรือ เป็นลม

    การวินิจฉัยโรค แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากประวัติและอาการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่แล้วปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร โดยมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย (เช่น อายุมาก สูบบุหรี่ อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง เป็นต้น) เมื่อสงสัยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (มีอาการที่น่าสงสัย หรือถึงแม้อาการไม่ชัดเจน เช่น ไม่มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร ร่วมด้วย หรือไม่มีอาการแสดง แต่มีปัจจัยเสี่ยงมาก เช่น เป็นเบาหวานมาหลายปี อายุมาก และสูบบุหรี่จัด) แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ดูว่ามีเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือมีสารเคมีที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ถ้าครั้งแรกบอกว่าปกติ ก็อาจต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง) หรือตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test - EST) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (Coronary Computed Tomography Angiography - CCTA) อัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography -Echo) ถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiography - CAG) เป็นต้น

    ในด้านของการรักษา นายแพทย์กรวิชญ์ให้ข้อมูลว่า มีหลักการอันประกอบด้วย การให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดกิน และ/หรือชนิดอมใต้ลิ้น เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ,ให้ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดหัวใจ ,ให้ยาควบคุมโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง)

    ในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย เรื้อรัง (Chronic stable angina) หรือใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะทำการถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจ ถ้าพบว่ามีการอุดกั้นรุนแรงหรือหลายแห่ง ก็จะทำการแก้ไขโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (นิยมเรียกว่า ‘การทำบอลลูน’) และ/หรือร่วมกับการใส่ขดลวด (stent) คาไว้ในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน

    ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง หรือใช้ยาและทำบอลลูนไม่ได้ผล แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดทางระบาย (ทางเบี่ยง) ของหลอดเลือดหัวใจ (นิยมเรียกว่า ‘การผ่าตัดทำบายพาส’) โดยการนำหลอดเลือดดำที่ส่วนอื่น เช่น หลอดเลือดดำขา ไปเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดหัวใจ (ข้ามส่วนที่ตีบตัน) กับหลอดเลือดแดงใหญ่ และในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction) จุดประสงค์ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ ต้องการแก้ไขภาวะอุดตันของหลอดเลือดหัวใจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic agent) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ภายใน 12 ชั่วโมง และดีที่สุดถ้าได้รับยาภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ หรือไม่ก็อาจทำหัตถการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและ/หรือร่วมกับการใส่ขดลวด (stent) หรือทำผ่าตัดบายพาสแบบฉุกเฉิน อาจต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล 5-7 วัน

    และเมื่ออาการทุเลาแล้วก็จะเริ่มทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพหัวใจให้แข็งแรง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก และงดการร่วมเพศเป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถกลับไปทำงานได้หลังมีอาการ 4-8 สัปดาห์ แต่ห้ามทำงานที่ต้องใช้แรงมาก แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามการรักษาเป็นประจำทุก 1-3 เดือน ตรวจเช็กร่างกายและปรับการใช้ยาให้เหมาะกับสภาพปัญหาของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

    สำหรับการดูแลตนเอง นายแพทย์กรวิชญ์บอกควรคำนึงเป็นข้อ ๆ คือ

    1. ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือปวดต่อเนื่องติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวันๆ หรือมีอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย หน้ามืด หรือเป็นลม อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วย ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ ได้

    2. ถ้ามีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่นาน 1-5 นาที (หรือไม่เกิน 10-15 นาที) ร่วมกับมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ไหล่ ขากรรไกร ก็ควรไปปรึกษาแพทย์

    3. ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรรับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กินยาและดูแลรักษาตามคำแนะนำ อย่าหยุดยาหรือปรับยาเอง ถ้ามีโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง ก็ควรกินยาและปรับพฤติกรรม ควบคุมโรคให้ได้ผล

    "นอกจากการดูแลสุขภาพของหัวใจแบบเฉพาะแล้ว การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันก็สำคัญด้วยนะครับ เช่น ถ้าใครสูบบุหรี่อยู่ก็ควรเลิกสูบบุหรี่เด็ดขาด ลดน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินผัก ผลไม้ และธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย ถั่วต่าง ๆ ให้มาก ๆ กินโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง เต้าหู้ นมจืดและนมพร่องไขมัน ลดเนื้อแดง โดยเฉพาะจากเนื้อวัว เนื้อหมู ลดน้ำตาล น้ำหวาน น้ำอัดลม และของหวาน ลดอาหารที่มีไขมัน ใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันหมู หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบ เช่น อย่าทำงานหักโหมเกินไป อย่ากินข้าวอิ่มเกินไป ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรงดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ใส่กาเฟอีน หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อารมณ์เครียด ตื่นเต้นตกใจ หรือการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ เป็นต้นครับ"

    โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความสามารถด้านการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานและหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโรคหัวใจ เพราะนอกจากจะมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างนายแพทย์กรวิชญ์แล้ว โรงพยาบาลแห่งนี้ยังมีเครื่องมือตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ครบครันอีกด้วย เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (EST) และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (CCTA) ทำให้ในแต่ละวันมีคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจเข้ามารับการรักษาสูงถึงวันละ 30 คน
    และหนึ่งในนั้นก็มีเคสที่คุณหมอประทับใจ...

    "เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ป่วยผู้ชาย อายุ 42 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอก 30 นาทีก่อนถึงโรงพยาบาล การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นพบว่าคนไข้มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตันและมีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งหลังจากให้การวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว ทางเราได้ทำการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อเปิดหลอดเลือดหัวใจให้ผู้ป่วยได้ภายในเวลา 20 นาทีหลังจากที่คนไข้มาถึง รพ. โดยตามมาตรฐานทั่วโลก ควรให้ยาตัวนี้ ภายใน 30 นาทีนับตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึง รพ. ซึ่งเราสามารถทำได้ตามมาตรฐาน ผลก็คือ ผู้ป่วยรายนี้รอดชีวิต ไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และ ภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และสามารถออกจากรพ. ได้ภายในเวลา 4 วัน"

    แม้ความพร้อมของเครื่องมือและบุคลากรผู้มากความสามารถจะปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้การช่วยชีวิตนั้นสำเร็จ แต่สิ่งที่คุณหมอหนุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจระบุว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือ ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในขณะที่อาการต่างๆ ยังไม่รุนแรงมาก โอกาส ในการรักษาให้ดีขึ้นก็สามารถกระทำได้โดยง่าย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงมากๆ อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร


    "การตีบตันของหลอดเลือดหัวใจก็เหมือนกับไฟป่า ถ้าเราปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไป กล้ามเนื้อหัวใจของเราก็จะถูกทำลาย เกิดความเสียหาย และตายมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป เพราะนั้นเร็วที่สุดจะช่วยยับยั้งความสูญเสียและความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ครับ"

    เมื่อบางครั้ง ร่างกายก็ไม่ส่งสัญญาณเตือนใด ๆ ล่วงหน้า การเจ็บแน่นหน้าอกอย่างกะทันหันจึงกลายเป็นภาวะฉุกเฉินสำหรับบางคน และบางครั้งก็เสี่ยงต่อการเป็นอยู่หรือจากไป ดังนั้นจะดีกว่าไหม หากเราจะเริ่มหันมาดูแล ‘หัวใจ’ ของตนเองอย่างแท้จริง ด้วยการหลักเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี เพื่อที่เราจะได้มีหัวใจอันแข็งแรงอยู่คู่กันตลอดไป

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.phuketbulletin.co.th/Lifestyle/view.php?id=1267