นัดพบแพทย์

โรคหอบหืด

10 Jan 2017 เปิดอ่าน 3172

โรคหอบหืด หรือโรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (asthma) เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย จากการสำรวจ พบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนมากและมีแนวโน้มที่จะ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคนี้เกิดจาก เยื่อบุหลอดลม มีความไวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะตอนกลางคืน ตอนเช้ามืด หรือขณะออกกำลังกาย หรือขณะเป็นไข้หวัด สาเหตุเชื่อว่า เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงอาจมีคนอื่นในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยได้ สิ่งแวดล้อมซึ่งแย่ลงเรื่อยๆ ในปัจจุบันก็เป็นปัจจัยเสริมทำให้มีคนเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น มีการศึกษา พบว่า อาการของโรคหอบหืดจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ด้อยกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ทำให้ไม่สามารถ นอนหลับได้ตามปกติ, ทำให้เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่, ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติ เด็กอาจเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ หรือมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ช้าได้ นอกจากนั้นการที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเสียชีวิตได้จากสมองขาดออกซิเจน การให้การรักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้ด้วย


การรักษาโรคหอบหืด มีขั้นตอนในการรักษา 4 ขั้นตอน คือ


1. การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสิ่งที่แพ้ หรือกระตุ้นทำให้เกิดอาการ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ โดยพยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่น แจ่มใส พยายามอยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบาย และเมื่อมีการติดเชื้อ เช่น หวัด ไซนัสอักเสบ คอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ควรรีบไปหาแพทย์ เพื่อให้การรักษาเสียแต่เนิ่นๆ ควรดูแลสุขภาพของฟันและช่องปากให้ดี พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้สัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการ โดยใช้วิธีสังเกตว่า สัมผัสกับอะไร อยู่ในสิ่งแวดล้อมใดหรือรับประทานอะไรแล้วมีอาการ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้หรือสารกระตุ้นให้เกิดอาการ ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด เช่น

ทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะ ห้องนอน ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ โดยใช้เครื่องดูดฝุ่น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วถูด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือที่ปัดฝุ่น ถ้าจำเป็นต้องทำความสะอาดเอง ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกป้องกันฝุ่น
ควรใช้เตียงที่ไม่มีขา ขอบเตียงควรแนบชิดกับพื้นห้อง
ควรนำที่นอน หมอน ผ้าห่ม มุ้ง ผ้าคลุมเตียง มาตากแดดจัดๆ ทุกสัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที
ควร ซักทำความสะอาด ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน มุ้ง ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง โดยซักในน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ควร ใช้หมอน หมอนข้าง ที่นอน ที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ ไม่ควรใช้ชนิดที่มีนุ่น, ขนเป็ด, ขนไก่ หรือขนนก อยู่ภายใน ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรหุ้มพลาสติกหรือผ้าไวนิลก่อนสวมปลอกหมอนหรือคลุมเตียง หรืออาจใช้ผ้าคลุมที่นอน ปลอกหมอน ที่ทำจากผ้าชนิดพิเศษที่สามารถป้องกันการเล็ดลอดของตัวไรฝุ่นและสารจากไร ฝุ่นร่วมด้วย แล้วจึงปูผ้าปูที่นอนและใส่ปลอกหมอน ผ้าหุ้มกันไรฝุ่นชนิดพิเศษนี้ควรซักด้วยน้ำธรรมดาทุก 2 สัปดาห์ ผ้าห่มควรเลือกชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือผ้าแพร หลีกเลี่ยงชนิดที่ทำด้วยขนสัตว์ ผ้าฝ้าย หรือผ้าสำลี
- ควรจัดห้องนอนให้โล่ง และมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด และไม่ควรใช้พรมปูพื้นห้อง พื้นควรเป็นไม้หรือกระเบื้องยาง ไม่ควรมีกองหนังสือ หรือ กระดาษเก่าๆ ควรเก็บหนังสือและเสื้อผ้าในตู้ที่ปิดมิดชิด เฟอร์นิเจอร์ก็ไม่ควรใช้ชนิดที่เป็นเบาะหุ้มผ้า ควรทำพลาสติกหุ้มหรือใช้ชนิดที่เป็นหนังแท้ หรือหนังเทียม หรือเป็นไม้ ไม่ควรมีของเล่นสำหรับเด็กที่มีนุ่น หรือเศษผ้าอยู่ภายใน หรือ ของเล่นที่เป็นขนปุกปุย หรือทำด้วยขนสัตว์จริง ไม่ควรใช้ผ้าม่าน ควรใช้มูลี่แทน
กำจัดแมลงสาบ มด แมลงวัน ยุง และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ ควรให้ผู้อื่นกำจัด และทำในเวลาที่ผู้ป่วยไม่อยู่บ้าน
ผู้ ป่วยที่แพ้สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก หนู กระต่าย เป็ด หรือไก่ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์ และไม่ควรนำสัตว์ดังกล่าวมาเลี้ยงไว้ในบ้าน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรให้อยู่นอกบ้าน หรือถ้าจำเป็นต้องเลี้ยงในบ้าน อย่างน้อยไม่ควรให้สัตว์นั้นอยู่ในห้องนอน สัตว์ที่ผู้ป่วยสามารถเลี้ยงได้ โดยปลอดภัยคือ ปลา
เชื้อราในอากาศก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ควรพยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบเกิดขึ้นในบ้าน โดยพยายามเปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึง อย่าให้มีน้ำท่วมขังอยู่นานๆ ตรวจและทำความสะอาดห้องน้ำ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศบ่อยๆ พยายามกำจัดแหล่งเพาะเชื้อรา เช่น ใบไม้ที่ร่วงทับถม อยู่บนพื้น เศษหญ้าที่ชื้นแฉะในสนาม ไม่ควรนำพืชที่ใส่กระถางปลูกมาไว้ภายในบ้าน กำจัดอาหารที่เชื้อราขึ้นโดยเร็ว เมื่อเกิดมีเชื้อราขึ้นที่ใด เช่น ผนังห้องน้ำ ห้องครัว กระเบื้องปูพื้นที่มีเชื้อราสีดำ ควรทำลายโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำยาไลโซล น้ำยาฟอกผ้าขาวเช่น คลอร็อกซ์
ละออง เกสรดอกไม้ หรือของหญ้าและวัชพืช อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ถ้าบริเวณบ้านมีสนามหญ้า ควรให้ผู้อื่นตัดหญ้า และวัชพืชในสนามบ่อยๆ และไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สดหรือแห้งไว้ในบ้าน ในช่วงที่มีละอองเกสรมาก ควรปิดประตูหน้าต่าง และใช้เครื่องปรับอากาศ และทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้า
ใน รถยนต์ส่วนตัวที่ผู้ป่วยนั่ง ควรดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่ควรใช้ผ้าเป็นวัสดุคลุมเบาะรองนั่ง หมั่นตรวจและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ เวลาเดินทางควรใช้เครื่องปรับอากาศเสมอ และไม่ควรเปิดหน้าต่าง
การกระทำดังกล่าวข้างต้นจะสามารถบรรเทาอาการของโรคลงได้อย่างมาก นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยง สารระคายเคืองต่างๆ หรือปัจจัยชักนำบางอย่าง ที่จะทำให้อาการของโรคมากขึ้น เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่, ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันธูป กลิ่นฉุนหรือแรง เช่น กลิ่นสีหรือน้ำหอม กลิ่นจากน้ำยาหรือสารเคมีต่างๆ อากาศที่เย็นหรือร้อนเกินไป เช่น การเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าโดยตรง การดื่มหรืออาบน้ำเย็น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศอย่างรวดเร็ว ถ้าต้องการเปิดแอร์นอน ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ถ้าใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมพอสมควร ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น ควรนอนห่มผ้า, ใช้ผ้าพันคอ หรือใส่ถุงเท้าเวลานอนด้วย นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการอดนอน การดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคหอบหืดแท้ที่จริงแล้วเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ของผู้ป่วยให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการนั่นเอง


2. การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยารับประทาน, ยาสูด หรือพ่นคอ เพื่อปรับความไว หรือขยายหลอดลม ซึ่งมีความจำเป็นในระยะแรก แต่ยาเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุ เมื่อสามารถดูแลตนเอง และควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่ควรซื้อยามาใช้ เอง ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งให้ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนชนิด หรือขนาดของยา แล้วแต่การตอบสนองต่อการรักษา จึงควรมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (allergen immunotherapy) เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหอบ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย เช่น มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดี อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี

โดย สรุป….. โรคหอบหืดนั้น สามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้การรักษามิได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ป่วยด้วย

ผศ. พญ. ประภาพร พรสุริยะศักดิ์
หน่วยโรคระบบการหายใจ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี

ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล