นัดพบแพทย์

โรคหัวใจยุคไฮเทค

09 Apr 2017 เปิดอ่าน 1072

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญมากต่อร่างกายมนุษย์ และต้องทำงานตลอดเวลา ไม่เคยหยุด โดยการสั่งการอัตโนมัติของระบบประสาทจากไขสันหลังและสมอง แม้แต่เวลาที่หลับ เราควรใส่ใจก่อนสายเกินไป แนะข้อมูลโรคหัวใจยุคไฮเทค โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่


พญ.กมลวรรณ ชาติศรีศักดิ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ทุกอย่างสามารถเคลื่อนที่ และติดต่อสื่อสารกันได้ภายในไม่กี่วินาที บุคคลิกของคนรุ่นใหม่มักจะปรับตัวให้ว่องไวและรวดเร็วขึ้น เพื่อความอยู่รอดของตัวเองและความก้าวหน้าในวิชาชีพการดำรงชีวิตประจำวันจึงเปลี่ยนไป การรับประทานอาหารจานด่วนมากขึ้น ร้านอาหารจานด่วนที่มากขึ้นก็แข่งขันกันมากขึ้น ทำให้สารปรุงแต่งรสชาติที่ใส่ในอาหารมีมากขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม เวลาที่ใช้ไปจากการทำงานหรือการเข้าสังคมในแต่ละวัน จึงหมดไป ส่งผลต่อเวลาในการดูแลสุขภาพลดลง การออกกำลังกายน้อยลง การนอนหลับลดลง หรือแม้แต่เวลาทำกิจกรรมกับครอบครัวก็ลดลงไปด้วย


หัวใจต้องทำงานบีบตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังเกี่ยวข้องกับทุกระบบของร่ายกาย เวลาที่ร่ายกายป่วย เช่น มีไข้ หัวใจจะยิ่งทำงานและสูบฉีดหนักขึ้นเพื่อซ่อมแซมส่วนที่มีการติดเชื้อให้หายดี หรือแม้แต่เวลาออกกำลังกาย หัวใจจะต้องบีบตัวเร็วขึ้น เพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนที่ทำงานหนักให้ทันกับความต้องการ นอกจากนี้โรคหัวใจยังส่งผลต่อระบบอื่นได้ เช่น เป็นสาเหตุของโรคไตวาย หรือมีลิ่มเลือดอุดตันในสมองได้ ในทางตรงกันข้ามกัน โรคบางอย่างอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจได้ เช่น เกลือแร่บางชนิดถ้าต่ำเกินไปสูงเกินไปอาจทำให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ดังนั้นหัวใจจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก และเป็นศูนย์กลางของอวัยวะทุกอย่างในร่างกาย หากหัวใจคนเราไม่แข็งแรง เกิดโรคหัวใจขึ้น จะส่งผลต่อคนไข้โดยรวมและอาจกระทบต่ออวัยวะอื่นๆตามมาด้วย
การออกกำลังกายลดลง, การพักผ่อนไม่เต็มที่, การรับประทานอาหารทอดมัน เค็ม และความเครียด มีผลทำให้เกิดโรคหัวใจเร็วขึ้น รุนแรงขึ้น และตรวจพบในผู้ป่วยอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่มีข้อมูลว่า เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากเส้นเลือดหัวใจอุดตันในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 40 ปี ตรวจพบมากขึ้น ทั้งที่โรคนี้ในสมัยก่อนมักจะเป็นกันเมื่ออายุเกิน 60 ปี เป็นส่วนใหญ่ ส่วนการดื่มสุรามีผลทำให้เกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน แต่ต้องดื่มในปริมาณที่มากติดต่อกันหลายปี โดยส่งผลอาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้น้อย ซึ่งจะมีอาการหัวใจวายเป็นอาการนำเป็นส่วนใหญ่

พญ.กมลวรรณ ชาติศรีศักดิ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหัวใจ เป็นโรคที่มีความรุนแรงมากกว่าโรคอวัยวะอื่น และอาจส่งผลต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะจะทำงานได้น้อยลง ทั้งยังส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัวตามมาด้วย รวมถึงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเฉียบพลันอันดับต้นๆ อย่างไรก็ดี โรคหัวใจบางโรคสามารถรักษาหายได้ ช่วยให้รอดชีวิตได้ สามารถช่วยให้กลับมาดำรงชีวิตตามปกติได้ หากรักษาได้ทันท่วงที และสิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โดยการปรับพฤติกรรมสุขภาพตั้งแต่วันนี้ เช่น การออกกำลังกายมากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ ลดอาหารมันเค็ม ลดการดื่มสุรา งดบุหรี่.นอนหลับ 6 ชั่วโมงต่อวัน และการผ่อนคลายตัวเองลดความเครียด จักเป็นการป้องกันโรคหัวใจที่ดีที่สุด โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยทั้งกายและใจ เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกมากมาย. ดังนั้นมาเริ่มป้องกันโรคหัวใจกันตั้งแต่วันนี้ ด้วยความปรารถนาดี

พญ.กมลวรรณ ชาติศรีศักดิ์
อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
ศูนย์โรคหัวใจ
โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://bangkokhatyai.com/knowledge/view/288