นัดพบแพทย์

"โรคหัวใจ" คุณป้องกันได้ ทำไมต้องรอ

15 Jan 2017 เปิดอ่าน 1590

หากเทียบจากสถิติทั่วโลกประชากร 1 ใน 5 คนเป็นโรคหัวใจ ทุก 10 นาที โดยเสียชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายอย่างเฉียบพลัน สำหรับในประเทศไทยนั้นโรคหัวใจมาเป็นอันดับ 3 ที่คร่าชีวิตคนนับหมื่นในแต่ละปี ลองคำนวณดูสิว่า ... หัวใจคุณเต้นมากี่ครั้งแล้วตั้งแต่คุณเกิดมา อย่างเช่น คนที่อายุเกิน 65 ปี ไปแล้ว หัวใจจะเต้นไปแล้วกว่าสองพันล้านครั้ง! “หัวใจ” จึงเป็นอวัยวะชิ้นสำคัญในร่างกายของคุณ หรือถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็ขอบอกว่าหัวใจนั้นเสมือน “ปั๊มนํ้า” ทำหน้าที่ปั๊มเลือดและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายของเรา ระบบการทำงานเริ่มตั้งแต่แรกเกิด และทำงานต่อเนื่องอย่างสุดชีวิตโดยไม่มีวันหยุด ดังนั้นคุณจึงควรรู้ระบบการทำงานของปั๊มนํ้ามหัศจรรย์เครื่องนี้ และหาวิธีหลีกเลี่ยงความเสื่อมโทรมที่อาจเกิดขึ้นได้เพราะถ้าซ่อมแซมไม่ได้ สุดท้ายก็พังในที่สุด

รู้จักหัวใจกันดีพอหรือยัง
หัวใจคือ กล้ามเนื้อชนิดหนึ่งในร่างกายของเรามีลักษณะทรงกรวยและกลวง อยู่บริเวณกลางทรวงอก 2/3 ไปทางซ้าย หัวใจปกติมีขนาดประมาณเท่ากำปั้นของแต่ละคนเฉลี่ยแล้วหัวใจของผู้หญิงจะหนักประมาณ 250-300 กรัม ส่วนผู้ชายหนักประมาณ 300-350 กรัมหรือเท่ากับ 0.5% ของนํ้าหนักตัวคุณ โดยระบบการเต้นของหัวใจปกติจะประมาณ 70 ครั้งต่อนาที

ปกติแล้วหัวใจมี 4 ห้อง ได้แก่ หัวใจห้องบนขวา (right atrium) หัวใจห้องบนซ้าย (left atrium) หัวใจห้องล่างขวา (right ventricle) และหัวใจห้องล่างซ้าย (left ventricle) กล้ามเนื้อหัวใจมีลักษณะพิเศษที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้เอง ซึ่งปกติจะผลิตมาจากกลุ่ม cell ที่หัวใจห้องขวาบน ที่เรียกว่า sinus node หรือ SA node โดยมีอัตราการปล่อยไฟฟ้าประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที และเมื่อมีการผลิตไฟฟ้าผ่านไปตาม cell หัวใจแล้ว หัวใจก็จะบีบตัวรับเลือดดำ หรือเลือดที่ถูกใช้ oxygen ไปแล้ว เข้าสู่ห้องบนขวา ไหลผ่านลงหัวใจห้องล่างขวา เพื่อฉีดเลือดไปยังปอดและฟอกเลือด โดยเลือดที่ฟอกแล้วหรือเลือดแดงจะไหลกลับเข้าหัวใจห้องซ้ายบน สุดท้ายก็ไหลลงหัวใจห้องล่างซ้าย เพื่อสูบเลือดไปเลี้ยงร่างกายต่อไป

สาเหตุหลักของโรคหัวใจ
โรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้จากปัญหาต่างๆ มากมายที่ส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจของคุณ โรคหัวใจที่ควรรู้มีดังนี้


             • Coronary artery disease (CAD) คืออาการเส้นเลือดหัวใจตีบ จากการที่มีไขมันไปเกาะที่ด้านในของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่เพียงพอ CAD จะนำไปสู่อาการ Angina หรือการปวดบริเวณหน้าอกด้านซ้าย รู้สึกแน่นๆ หนักๆ และอาจมีอาการปวดร้าวไปที่แขน ไหล่ ใต้คาง ด้านซ้าย บางครั้งมีอาการจุกเสียดแน่นท้องเหมือนอาหารไม่ย่อย อาการมักจะเป็นมากขณะออกกำลังกาย พักแล้วจะดีขึ้น
            

             • Heart attack คือ การที่หลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรืออุดตันเฉียบพลัน ทำให้เลือดไม่สามารถผ่านเข้าสู่หัวใจได้เลย ทำให้มีการตายของ cell กล้ามเนื้อหัวใจ หากไม่รีบไปโรงพยาบาล จะทำให้เสียชีวิตฉับพลันได้
            

             • Heart failure คือการที่หัวใจไม่สามารถปั๊มเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ ทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายขาดเลือด อาการที่พบเห็นโดยทั่วไปคือนํ้าท่วมปอด ซึ่งจะมีอาการหายใจขัดๆ เหมือนได้รับ oxygen ไม่เพียงพอ นอนราบแล้วเหนื่อยต้องลุกขึ้นมานั่งหายใจ หรือต้องลุกขึ้นมาหายใจตอนกลางดึก มีอาการบวมที่ เท้า ข้อเท้า และขา และจะมีอาการเหนื่อยมากตลอดเวลา ทั้งที่ไม่ได้ทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนัก นอกจากนี้อาจมีอาการอ่อนเพลียมาก หรือความดันตํ่า
           

            • Heart arrhythmias คือ การเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ โดยกระแสไฟฟ้าหัวใจที่ผลิตออกมานั้นมาจากส่วนอื่นที่ไม่ใช่ SA node ทำให้เกิดอาการใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หายใจหอบ

ฉะนั้นสิ่งที่คุณควรระวังหากมีอาการผิดปกติในร่างกาย ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือหมั่นตรวจเช็คร่างกายสมํ่าเสมอ ซึ่งจากสถิติพบว่า 25% ของคนที่เป็นโรคหัวใจไม่มีอาการเตือน บางคนรู้ตัวก็อาจสายเกินแก้ไปแล้ว

นพ.แมน จันทวิมล
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ
โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท


“คุณหมอคนเก่งของไอเกิลฉบับนี้คือคุณหมอแมน นอกจากคุณหมอจะเป็นแพทย์วุฒิบัตรทางโรคหัวใจและหลอดเลือดจากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว คุณหมอคนเก่งของเรายังเป็นสมาชิกราชวิทยาลัยอายุรแพทย์และศัลยแพทย์สาขาโรคหัวใจแห่งประเทศแคนาดา มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันโดยไม่ต้องผ่าตัดแต่ใช้วิธีการทำบอลลูน (Balloon)และขดลวด (Stent) แทน รวมถึงการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว คุณหมอบอกว่า “โรคหัวใจนั้น ไม่มี quick fix แน่นอน ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมจากการทำ ร้ายตัวเองทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่น สูบบุหรี่ ไม่ออกกำ ลังกาย รับประทานอาหาร cholesterol สูง ให้หันกลับมาดูแลตัวเองมากขึ้น” คุณหมอแมนยังบอกอีกด้วยว่าคนส่วนใหญ่ “ดูแลเรื่อง อื่นๆ ของตัวเองดี แต่ไม่ดูแลหัวใจของตัวเอง” คุณหมอฝากเตือนท่านผู้อ่าน ไอเกิล ทุกท่านให้รักหัวใจและถนอมหัวใจให้แข็งแรงกันด้วยนะคะ

วิทยาการการตรวจรักษาโรคหัวใจ
คุณรู้หรือไม่โรคหัวใจสามารถตรวจรักษาตั้งแต่อาการเริ่มต้นได้
Stress test การทดสอบนี้สามารถวินิจฉัยได้ว่าเส้นเลือดหัวใจดีหรือตีบตันและสามารถตรวจสอบความฟิตของร่างกายและการตอบสนองของร่างกายต่อการออกกำลังได้การตรวจแบบฉีดสีเข้าเส้นเลือด (Coronary Artery Angiography-CAG) หรือเรียกว่าการตรวจสวนหัวใจ เป็นการตรวจดูหลอดเลือดหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยน่าสงสัยว่ามีเส้นเลือดตีบรุนแรง หรือหลังพบว่าเป็น heart attack ในกรณีที่มีเส้นเลือดตีบมาก สามารถรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือใส่ขดลวดต่อไป

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง
คนที่มีความเสี่ยงพื้นฐานในการเป็นโรคหัวใจ คือ คนที่เป็นโรคเบาหวาน มีไขมันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขณะอายุยังน้อย คนกลุ่มนี้ควรหมั่นตรวจร่างกายและหัวใจเป็นประจำอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่อยู่ในข่ายของความเสี่ยงสูงนี่ล่ะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ไหม?
คำตอบคือ “ได้” ปัจจุบันมีการตรวจแบบใหม่ที่เรียกว่า High Sensitivity C-Reactive Protein หรือ hsCRP ซึ่งคุณสามารถตรวจหาอัตราเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจได้ดียิ่งขึ้น มารู้จัก hsCRP กันดีกว่า การตรวจ hsCRP เป็นการตรวจหาระดับของโปรตีนที่มีชื่อว่า C-reactive Protein (ซี-รีแอคทีฟโปรตีน) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีอยู่ในเลือดของเรา แต่ละคนมีระดับ CRP ไม่เท่ากัน หากเซลล์อักเสบอย่างต่อเนื่องระดับ CRP ก็จะสูงตามซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและพัฒนาไปสู่โรคร้ายหลายๆ ชนิดได้ เช่น มะเร็ง การเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในที่สุด

ส่วนข้อดีของ hsCRP นั้นชื่อก็บอกแล้วว่า มีความไวสูง (high sensitive) คือสามารถตรวจหาอาการอักเสบของเซลล์ในระดับตํ่ามากๆ หรือ micro-inflammation ก็สามารถตรวจหาพบจึงเหมาะกับการตรวจเพื่อป้องกันมากกว่าจะรอให้เกิดอาการแล้วสายเกินแก้ ทั้งนี้เนื่องจากไขมันในเส้นเลือดที่มีอาการอักเสบ (micro inflammation) จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแบบเฉียบพลัน (heart attack) เมื่อเทียบกับไขมันที่ไม่มีการอักเสบ การหาค่า hsCRP สามารถตรวจได้ง่ายโดยการเจาะเลือดทั่วไป

ข้อควรระวังก่อนการตรวจ hsCRP ต้องให้แน่ใจว่าวันที่ทำการตรวจ คุณไม่มีไข้และไม่มีอาการอักเสบบริเวณใดๆ ของร่างกายมิฉะนั้นการตรวจอาจมี false positive ได้ความสุขของแต่ละช่วงชีวิตคือ การมีร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือปัญหาสุขภาพ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องรอคอยโรคภัยไข้เจ็บ หรืออาการของโรคมาเตือนเพื่อถามหาการรักษา ในเมื่อยุคนี้สมัยนี้วิทยาการทางการแพทย์กับวิถีทางการป้องกันเจริญก้าวหน้า
สุดท้ายคงขึ้นอยู่กับว่า... คุณมีความพร้อมและใส่ใจในสุขภาพร่างกาย ตัวเองแค่ไหนเท่านั้นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/Samitivejhospital/2012/01/10/entry-4