นัดพบแพทย์

โรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)

21 Feb 2017 เปิดอ่าน 3404

คำถาม : เป็นโรคที่พบได้บ่อย หรือไม่ ?
คำตอบ : เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ พบได้ประมาณ 40 % ในเด็ก ดังนั้นจึงเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในบรรดา โรค เรื้อรังทั้งหลายที่เป็นในเด็ก เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ พบได้ประมาณ 20 % ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กถึงผูใหญ่ คนที่เป็นโรคหอบหืด, ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมทั้งคนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหอบหืด, โรคเยื่อบุโพรง จมูกอักเสบจากภูมิแพ้นั้นจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น

คำถาม : เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เริ่มเป็นได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ?
คำตอบ : เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สามารถเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุเท่าไหร่ก็ได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเริ่มมี อาการในช่วงวัยเด็ก หรือในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

คำถาม : โรคนี้มีอาการอย่างไร ?
คำตอบ : โรคนี้มีอาการ ได้ทั้งทางจมูก, ตา, ลำคอ ดังต่อไปนี้
- อาการทางจมูก : จาม, น้ำมูกใส, คัดจมูก, คันจมูก, น้ำมูกไหลลงคอ, จมูกไม่ได้กลิ่น, ถูจมูกบ่อยๆ
- อาการทางตา : คันตา, ตาแดง, มีรอยคล้ำบริเวณใต้ตา, ตาบวม
- อาการทางลำคอ : กระแอมบ่อยๆ เนื่องจากมีน้ำมูกไหลลงคอ, คันคอ,คันเพดานปาก
- เวลานอน : บางคนนอนกรน, อ้าปากหายใจเวลานอน เนื่องจากคัดจมูกมาก, ตื่นบ่อยเนื่องจากจมูกตัน ทำให้มีอาการง่วงตอนกลางวัน เพราะกลางคืนนอนพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้มีผลเสียต่อการเรียน หรือการทำงานได้

ผู้ป่วยบางรายมีอาการเฉพาะบางฤดูกาล หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตลอดทั้งปีก็ได้ ผู้ป่วยที่มีอาการในบางฤดูกาล มักจะเป็นผู้ป่วยที่แพ้เกสร ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการตลอดทั้งปีมักจะเป็นผู้ป่วยที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ที่พบในบ้าน เช่น ไรฝุ่น, แมลงสาบ, สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว, เชื้อรา

คำถาม : เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สามารถพบร่วมกับโรคอะไรได้บ้าง?
คำตอบ : เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สามารถพบร่วมกับโรคดังต่อไปนี้ได้
- หอบหืด (Asthma) 20-50 % ของผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดจะมีเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย
- เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

คำถาม : มีภาวะแทรกซ้อน หรือโรคแทรกซ้อน อะไรได้บ้าง ?
คำตอบ : ไซนัสอักเสบ การมีเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ทำให้เกิดการอุดตัน รูเปิดของไซนัสจึงทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะในเด็ก
- หูชั้นกลางอักเสบ
- จมูกไม่ได้กลิ่น
- Sleep disorder เช่น กรน

คำถาม : จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ?
คำตอบ : ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะซักประวัติ, ตรวจร่างกาย รวมทั้งพิจารณาตรวจหาสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ สำหรับการตรวจหาสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ สามารถทำได้โดย
1. skin prick test
2. การตรวจเลือด

คำถาม : รักษาอย่างไร ?
คำตอบ : การรักษาเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ นั้นนอกจากการใช้ยาแล้ว ควรที่หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ
- การหลีกเลี่ยง หรือลดการเผชิญกับสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ (Reduce exposure to triggers) สิ่งที่สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบได้นั้น อาจเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ หรือเป็นสิ่งที่ระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจก็ได้ เช่น ควันบุหรี่ เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ไรฝุ่นนั้น ไม่ควรปูพรมในห้องนอน, ควรใช้ผ้าคลุมกันไรฝุ่นคลุมที่นอน และหมอน ส่วนผ้าปูที่นอน และปลอกหมอนนั้นควรที่จะซักในน้ำอุณหภูมิประมาณ 55 c (130 f) ทุกสัปดาห์
- การใช้ยา ยามีทั้งยาพ่นจมูก และยารับประทาน
- การล้างจมูก
- Allergen immunotherapy พิจารณาฉีด Allergen immunotherapy ถ้าใช้ยากิน & ยาพ่นจมูก แล้วอาการไม่ดีขึ้น

คำถาม : การล้างจมูกมีประโยชน์อย่างไร ?
คำตอบ :- การล้างจมูก จะช่วยชะล้าง สารก่อภูมิแพ้ที่หายใจเข้าไป (airborne-allergens) เช่น ฝุ่น, เกสร, spores ของเชื้อรา ทำให้อาการของภูมิแพ้ทางจมูก ดีขึ้น
- ช่วยลดน้ำมูกที่ไหลลงคอ (post-nasal drip)
- ช่วยให้น้ำมูกเหนียวน้อยลง
- ช่วยให้การทำงานของขนเล็กๆในโพรงจมูก ในการกำจัดเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม ได้ดีขึ้น (promote mucociliary clearance)

ดังนั้นการล้างจมูกจึงเป็นสิ่งที่ควรทำในผู้ป่วยโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ร่วมไปกับการใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
นอกจากการล้างจมูกจะทำให้อาการของโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ดีขึ้นแล้ว การล้างจมูกยังช่วยให้อาการหวัด รวมถึงไซนัสอักเสบดีขึ้นด้วย

คำถาม : ควรล้างจมูกบ่อยแค่ใหน ?
คำตอบ : โดยทั่วไปแพทย์มักแนะนำให้ล้างจมูกวันละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ถ้ามีน้ำมูกมาก อาจล้างจมูกได้ 3 ครั้งต่อวัน ขึ้นกับแพทย์แนะนำ

คำถาม : ควรใช้น้ำอะไรในการล้างจมูก ใช้น้ำก๊อกได้หรือไม่ ?
คำตอบ :- ห้ามใช้น้ำก๊อกในการล้างจมูกเด็ดขาด ควรใช้น้ำเกลือ ความเข้มข้น 0.9 % ในการล้างจมูก เนื่องจากเป็นความเข้มข้นที่ไม่ระคายเคืองต่อเยื่อบุโพรงจมูก โดยน้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 % นี้มีทั้งที่ผสมมาเรียบร้อยแล้วจากบริษัทที่ขายน้ำเกลือ หรือจะเป็นชนิดที่เป็นซองมาให้ผู้ป่วยผสมใช้เอง ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ น้ำที่ใช้ผสมน้ำเกลือควรจะเป็นน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค โดยการต้มสุกแล้ว ห้ามใช้น้ำก๊อก ที่ไม่ได้ผ่านการต้มสุกในการผสมน้ำเกลือเนื่องจากมี case report ในต่างประเทศที่ผู้ป่วยใช้ unboiled or unsterilized water ในการล้างจมูกแล้วมีการติดเชื้อ Nacglcria Fowleri จากน้ำนั้น ทำให้มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningoencephalitis)
- น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสูง เช่น 3 % อาจช่วยลดความข้นเหนียวของน้ำมูกได้ดีกว่า น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9 % แต่น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสูง เช่น 3 % จะทำให้แสบจมูก จึงไม่เป็นที่นิยมใช้เท่าใดนัก

หวังว่าความรู้ต่างๆที่ได้เขียนไว้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านนะคะ หากผู้อ่าน หรือญาติ หรือเพื่อน ของผู้อ่านมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรมาพบแพทย์นะคะ

โดย : พญ.ณุทัยทิพ เกษมศรี ณ อยุธยา

ขอบคุณบทความจาก : https://www.facebook.com/fit4funrelax/posts/741420042611747