นัดพบแพทย์

โรค ‘สมอง’ ป้องกันได้

01 Dec 2016 เปิดอ่าน 2839

เมื่อคนเราอายุยืนขึ้น แต่สมองกลับมีอายุขัยเฉลี่ยเท่าเดิม โอกาสของการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมจึงตามมา แต่รู้ไหม โรคนี้ป้องกันได้ก่อนจะสายเกินแก้

อย่างที่ทราบกันดีว่า เรากำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งด้วยโครงสร้างประชากรที่ ‘เกิดน้อย-แก่มาก’ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ที่ล้ำหน้า ช่วยยืดอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนเราให้สูงขึ้น แต่ในขณะที่เรามีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น สมองคนเรากลับมีอายุการทำงานไม่ต่างจากเดิม

จึงส่งผลให้ในระยะหลัง สถานการณ์ของผู้ป่วยโรคสมอง โดยเฉพาะอัลไซเมอร์มีจำนวนผู้ป่วยใหม่สูงขึ้น ทั้งยังพบอีกว่า ผู้สูงอายุ ป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคสมองเสื่อมมากติดอันดับ 1 ใน 10 

โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease with dementia) คือโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้มากที่สุด ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของโรคสมองเสื่อม และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 6 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจนถึงปัจจุบัน แพทย์ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคได้อย่างแน่ชัด รวมถึงไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้อีกด้วย ทำได้เพียงประคับประคองอาการให้ทรุดช้าลงเท่านั้น

ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามในการวิจัยสาเหตุของอัลไซเมอร์อย่างต่อเนื่อง และพบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากมีโปรตีนที่ผิดปกติบางอย่างสะสมในสมอง คือ เบตาอะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ที่ทำให้เกิดการอักเสบเสื่อมสลายของเซลล์สมอง ก่อให้เกิดอาการของโรคอัลไซเมอร์ตามมา

“อัลไซเมอร์ มักมีปัญหาเรื่องความจำระยะสั้น เช่น เมื่อกี๊ทานอะไรมาจะจำไมไ่ด้ สำหรับคนที่เริ่มเป็น ถ้าถามว่า บ้านอยู่ไหน ชื่ออะไร มีลูกกี่คน เขาจะยังจำได้ เพราะเป็นความจำระยะยาว แต่ถ้าทำอะไรใหม่ๆ เขาจะจำไม่ได้ เช่น กินข้าวแล้วจำไม่ได้ วางกุญแจไว้ที่ไหน จำไม่ได้ ซึ่งมันต่างกันกับคนที่ไม่ใส่ใจจำ เพราะคนที่เป็นอัลไซเมอร์จะนึกไม่ออกเลย ต่อให้ใช้เวลาคิด ก็คิดไม่ออก แต่คนที่ไม่ใส่ใจอาจจำได้ลางๆ หรือนึกดีๆ สุดท้ายก็จะคิดออกแล้วก็ไม่ได้เกิดกับทุกเรื่อง แต่คนเป็นอัลไซเมอร์จะมีปัญหาในทุกเรื่อง

คนเป็นอัลไซเมอร์จะมีปัญหาเรื่องความจำก่อน แต่พอเป็นระยะถัดมา คือ จะมีปัญหาเรื่องความคิดประมวลจะเริ่มทำไม่ได้แล้ว บางทีคนเคยเขียนได้ อยู่ดีๆ ก็เขียนไม่ได้ หรืออย่างแม่บ้านเคยทำกับข้าวได้ แต่อยู่ดีๆ ก็ลืม คิดไม่ออกว่า ต้องทำยังไง มันจะเริ่มขยายมากขึ้น ต่อมาอาจจะเริ่มหลงทาง เส้นทางเดิมๆ ที่เคยไป ก็จะจำไม่ได้ กลับบ้านไม่ถูก จนระยะสุดท้ายของอัลไซเมอร์ คือ ต้องมีคนดูแล 24 ชั่วโมง เพราะจะไม่รู้แม้จะเป็นเรื่องที่ทำในชีวิตประจำวัน เข้าห้องน้ำยังไง หรือกระทั่งเคี้ยวข้าวยังไง สุดท้ายก็นอนติดเตียง ซึ่งผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตเพราะอัลไซเมอร์ แต่จะเสียชีวิตจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น กินไม่ได้จนสำลัก ปอดบวม หรือ นอนติดเตียงจนมีปัญหาแผลกดทับ” พญ.กัญญา เต็มเกียรติวิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต อธิบาย

แม้ข้อมูลทางการแพทย์จะชี้ชัดว่า โรคนี้เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ 10-20 ปีก่อนเกิดอาการแล้ว แต่กว่าจะรู้ว่า ป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่จะไม่ทันการณ์ โดยพบว่า มักมีอาการแสดงของโรคตอนอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งๆ ที่ตอนที่เราอายุ 40-50 ปี ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ เพียงแต่อาจไม่ทันสังเกตเห็น

นั่นหมายความว่า หากเรารู้ตัวได้ก่อนที่จะเกิดอาการ ก็จะยิ่งสามารถชะลอการเกิดโรคไม่ให้ทรุดลงอย่างรวดเร็วได้นั่นเอง..

“โปรตีนเบตาอะไมลอยด์ จริงๆ แล้วมันไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มันเกิดมาแล้ว 10 - 20 ปีก่อนจะเกิดโรคเสียอีก แล้วถ้าเราไปตรวจเจอตั้งแต่ต้น สมมติตรวจเจอตั้งแต่อายุ 40 คำถามคือ แล้วเราจะยังเป็นอัลไซเมอร์หรือเปล่า ? คำตอบ คือ ไม่จำเป็น เพราะมีปัจจัยที่ร่วมกำหนดว่า จะดำเนินไปการเกิดโรคได้หรือไม่ เรื่องแรก คือ พันธุกรรม เกิดแล้วเปลี่ยนไม่ได้ ยังไงก็ต้องเจอ แต่คนที่มีพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงต่ออัลไซเมอร์จะเป็นอัลไซเมอร์ทุกคนมั้ย.. ก็ไม่จำเป็น ส่วน สิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ ถามว่า สิ่งแวดล้อมคืออะไร หนึ่งคือ เส้นเลือด ต้องดูว่า เส้นเลือดของเราดีไหม ไปเลี้ยงสมองพอหรือเปล่า ถ้ามีขยะไปสะสม รูมันแคบลง เลือดไปเลี้ยงน้อยลง สมองก็เกิดปัญหา ก็ต้องมาดูต่อว่า ‘ขยะ’ พวกนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร จริงๆ ก็คือโรคจำพวกเบาหวาน ไขมัน ความดัน การสูบบุหรี่ รวมถึงนอนกรน ก็ทำให้เกิดได้ รวมถึงสารพิษทั้งหลาย เช่น อาหาร สภาพแวดล้อมทั่วไป สูบบุหรี่ก็เป็นสารพิษ กินเหล้า ส่วนที่สาม คือ การติดเชื้อบางอย่าง ทั้งสามส่วนคือปัจจัยให้โรคขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทั้งนั้น” พญ.กัญญา เอ่ย

และเสริมว่า ปัจจุบันการรักษาสมองเสื่อมนั้นอยู่ขึ้นกับสาเหตุว่าเป็นสมองเสื่อมจากอะไร ถ้าเกิดจากภาวะสมองเสื่อมที่แก้ไขได้ เช่น ภาวะขาดวิตามิน หรือ พร่องไทรอยด์ ก็สามารถแก้ที่สาเหตุนั้นๆ แต่ถ้าสมองเสื่อมนั้นเป็นสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ณ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ การรักษายังคงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง

นอกจากการขจัดปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดข้างต้นเพื่อตัดไฟแต่ต้นลมแล้ว พญ.กัญญา ได้ตั้งคำถามชวนคิดต่อว่า.. ถ้าสมองของเรามีคุณภาพ มีเนื้อสมองมาก มีใยแก้วเยอะ แล้วจะเสื่อมช้ากว่าคนทั่วไปหรือเปล่า ?

“สมมติว่า คนทั่วไปมีสมอง 100 กรัม แล้วเรามีสมอง 120 กรัม ถ้ามันจะเหี่ยว หรือเป็นอะไรไป มันก็คงไม่ได้เหลือน้อยมาก เพราะเรามีอยู่มากกว่าทั่วไป ถ้ามันจะเสื่อมไปบ้าง เราก็อาจมีอาการตอนอายุ 120 ปีขึ้นไปก็ได้ ถึงตอนนั้นเราก็ไปถึงไหนถึงไหนแล้ว ฉะนั้นทางที่ดีที่สุด คือ การตรวจเช็ค ประเมินสมองว่า มีใยแก้ว หรือ ปริมาณสมองมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาสู่กิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพสมองที่เหมาะสม เพราะสมองของคนเรายังสามารถพัฒนาได้” พญ.กัญญา เอ่ย

นำมาสู่โปรแกรมเบรนเฮลธ์ ภายใต้การดูแลของ ศูนย์ตรวจวิเคราะห์และเสริมสร้างศักยภาพทางสมอง ที่เปิดขึ้นเพื่อตรวจคัดกรองผู้มีภาวะเสี่ยง รวมถึงออกแบบวิธีการชะลอความเสื่อมของสมองที่เหมาะสมกับแต่ละคน และยังช่วยเสริมศักยภาพให้สมองสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีความเสี่ยง เพราะทุกวันนี้คนเราไม่ได้ใช้สมองได้เต็มศักยภาพที่มีอยู่

“สมองเรา เขาเรียกว่า นิวโร พลาสติก ซิตี้ คือ เราสามารถเพิ่มศักยภาพมันได้ ทุกวันนี้ เราไม่ได้ใช้สมองเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ สมมติคนที่เป็นโรคสมองขาดเลือด แรกๆ ก็จะอ่อนแรงอะไรก็ว่าไป แต่หลังจากนั้น สมองส่วนที่ดีจะพัฒนาขึ้นเพื่อทำงานทดแทนส่วนที่แย่ คือ มันไม่ได้งอกใหม่นะคะ เหมือนเรามีโรงงานทำขนมปัง มีคนงาน 100 คน คนงานตายไป 10 คน แต่ถ้า 90 คนที่เหลือทำงานเยอะขึ้น ก็ได้งานเท่าเดิม นั่นคือ สมองของเราสามารถพัฒนากำลังหรือศักยภาพได้ คนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่อยากเพิ่มศักยภาพสมอง ก็ทำได้หลายวิธีร่วมกัน เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ กินอาหารดีๆ ก็ช่วยให้สมองเราก็ดีขึ้นได้”

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการเปิดศูนย์สมองดังกล่าว โดย นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ประธานคณะผู้บริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพกลุ่มภาคใต้ และ กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ร่วมเสริมเพิ่มเติมว่า

“สมองของเราเพิ่มจำนวนได้ เพิ่มจำนวนเซลล์ได้ ถ้าเรากระตุ้นโดยทำให้เขามีทักษะใหม่ ฉะนั้นเราก็ทำกระบวนการโดยการออกแบบบริการใหม่ทั้งหมดหรือในแผนกหรือในศูนย์นี้ เพื่อจะสร้างทักษะใหม่ให้เกิดขึ้น ทั้งทักษะที่เขารู้ตัวและก็แบบที่ไม่รู้ตัว ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ที่เราจะเลือกวัสดุที่มีเท็กซ์เจอร์ มีการสร้างบรรยากาศทั้งกลิ่น เสียง หรือภาชนะทุกอย่างที่เลือกใช้ อย่างช้อนส้อมของเราจะจับยาก ไม่ถนัดมือ แก้วกาแฟก็เหมือนกัน ทั้งหมดเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่

เนื่องจากสมองของเราถูกออกแบบมาให้ระวังภัย เราจะบันทึกสิ่งที่เป็นภัยกับตัวเรา เราจึงจำความทุกข์ได้มากกว่าความสุข เพราะความทุกข์คือภัย เราถึงเป็นทุกข์เป็นทุกข์อยู่นี่ไงครับ (หัวเราะ) และทั้งหมดในชีวิตของเราจะถูกย่อลงให้สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ของการใช้พื้นที่ในสมอง อย่างเช่น เราแปรงฟัน เราไม่เคยคิดเลยนะว่าต้องทำยังไง เราไม่ต้องใช้สมองคิดเลย อาบน้ำก็เหมือนกัน ถ้าลองถ่ายรูปเก็บไว้ เราจะพบว่า ท่าอาบน้ำเราเหมือนเดินทุกวันโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นจึงทำให้เราไม่สามารถเพิ่มจำนวนสมองได้ เราจึงต้องสร้าง ‘ทักษะใหม่’ ให้เกิดขึ้น เพื่อให้สมองตื่นตัวและเกิดการเรียนรู้” นพ.ก้องเกียรติ เอ่ย

พร้อมให้คำแนะนำแก่คนที่ต้องการฝึกสมองว่า สามารถทำได้เองง่ายๆ ที่บ้าน เช่น เลือกใช้ภาชนะบนโต๊ะอาหารที่ไม่คุ้นเคย จากที่เคยใช้พลาสติก ก็ลองเปลี่ยนมาใช้แก้วหรือเซรามิกซึ่งแตกได้ ก็จะทำให้สมองตื่นตัวเพราะต้องระมัดระวังมากขึ้น หรืออาจจะจัดบ้านใหม่ เปลี่ยนที่วางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ เปลี่ยนพฤติกรรมให้สมองเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น เปลี่ยนเส้นทางกลับบ้านไปเส้นทางใหม่ๆ เดินในเส้นทางที่ต่างไป อาจจะอ้อมหน่อย แต่สมองก็ได้เรียนรู้และตื่นตัว เป็นต้น

ที่สำคัญ คือ ต้องไม่ลืมที่จะออกกำลังกาย เพราะออกซิเจนสามารถช่วยให้สมองคนเราทำงานได้ดีขึ้น การนอนก็เช่นกัน โดยการนอนมีความสำคัญมากเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง

“เรานอนมาตลอดชีวิต แต่เราไม่รู้ว่าคุณภาพการนอนเราเป็นยังไง ในช่วงที่เราหลับ สมองจะจัดการเอาสิ่งที่ไม่สำคัญไปทิ้ง แต่ถ้าเราไม่ได้หลับเลยหรือหลับไม่สนิทพอก็จะไม่เกิดกระบวนการนั้นขึ้นมา สมองก็จะล้า และทำงานได้ไม่ดี สุดท้ายคือเรื่อง อาหาร เราพบความสัมพันธ์ของอาหารต่อสมองเพิ่มเติมขึ้นมาก มีรายงานบอกว่า การทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนสามารถช่วยชะลอการเกิดการเสื่อมของสมองได้ประมาณ 7 ปี คำว่ากินแบบเมดิเตอร์เรเนียนก็คือการที่เรากินปลา กินเกรน กินถั่ว กินน้ำมันที่ดี เช่น น้ำมันมะกอก กินไวน์นิดหน่อย และไม่กินเค็ม” นพ.ก้องเกียรติ ให้คำแนะนำ

ลดความเสี่ยงจากโรคสมองเสื่อม
1. รับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นโปรตีนจากปลา ลดอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารรสเค็มจัด เพิ่มอาหารในกลุ่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้ และถั่ว
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. ฝึกบริหารสมอง โดยเฉพาะในงานที่ไม่เคยทำมาก่อน
4. หยุดสูบบุหรี่
5. ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

* ขอบคุณบทความจาก : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/702280