นัดพบแพทย์

ไขพฤติกรรม นอนกัดฟัน

18 Aug 2016 เปิดอ่าน 1800

พฤติกรรมการนอนกัดฟัน พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถหาคำอธิบายถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการนอนกัดฟันได้ แต่กลับพบปัจจัยเสี่ยงของเด็กที่ชอบนอนกัดฟัน เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยดังต่อไปนี้

 1.สภาพจิตใจ ที่เกิดจากการความตึงเครียด ความวิตกกังวล มีส่วนไปกระตุ้นให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้

 2.สังเกตทางพันธุกรรม ในครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่นอนกัดฟัน มีพี่หรือน้องนอนกัดฟัน ลูกจึงมีโอกาสนอนกัดฟันได้เหมือนกัน

 3.เกิดจากร่างกายของตัวเด็กเอง ที่สมองและระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้นมากเกินไป จึงทำให้เกิดพฤติกรรมเช่นนั้นได้

4.ยาบางชนิด เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัว อาจกระตุ้นการนอนกัดฟัน แต่มักเกิดกับผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟันมากกว่าในเด็ก

 เด็กที่ชอบนอนกัดฟัน อาจพบร่วมกับโรคและพฤติกรรมที่ผิดปกติในขณะนอนหลับอื่นๆ ได้ เช่น นอนละเมอพูด หรือละเมอเดิน ปัสสาวะรดที่นอน นอนกรน และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นทำให้หยุดหายใจเป็นพักๆ ขณะหลับ และโรคสมาธิสั้น ซึ่งสามารถเกิดอาการควบคู่กับการนอนกัดฟันในตัวเด็กได้ ผู้ปกครองควรสังเกตด้วยว่า เด็กมีโรคอื่นๆ เกิดร่วมหรือไม่ และควรนำลูกไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคนั้นๆ ด้วย

 เด็กที่นอนกัดฟันบางคนอาจบ่นว่า ปวดตรงข้อต่อขากรรไกร ร้าวไปที่ในหู หรือปวดๆ เมื่อยๆ เวลาอ้าปาก เคี้ยวอาหาร บริเวณแก้ม หรือขมับ เพราะกล้ามเนื้อบดเคี้ยวเมื่อยล้าจากพฤติกรรมนอนกัดฟัน หรือบ่นปวดศีรษะบ่อยๆ อาการนี้อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า ลูกนอนกัดฟัน เด็กที่นอนกัดฟันจนเสียงดังมาก อาจทำให้ฟันของลูกเริ่มมีขนาดสั้นลง ก่อให้เกิดอันตรายถึงโครงสร้างของฟันได้ จนสามารถไปทะลุถึงโพรงประสาทฟันก็ได้

 ทั้งนี้ โครงสร้างของฟันภายนอกจะประกอบไปด้วย เคลือบฟัน เนื้อฟัน และเส้นประสาทที่อยู่ตรงกลาง เมื่อได้รับการสึกกร่อนมากเกิน ผลที่จะได้รับ ก็คือ เกิดอาการเสียวฟัน ฟันบิ่นแตก และฟันร้าว หรือกัดลิ้น กัดแก้ม เกิดเป็นแผลในปากบ่อยๆ เป็นต้น เพื่อช่วยป้องกันฟันสึก และลดอาการปวดเมื่อยขากรรไกร และปวดศีรษะ อาจจะจำเป็นต้องใส่เฝือกสบฟันในขณะนอน ทั้งยังลดเสียงกัดฟันได้ด้วย

 พฤติกรรมนอนกัดฟันในบางครั้งไม่มีเสียงดัง เพราะเป็นแบบกัดฟันแน่นๆ ไม่ใช่กัดแบบฟันถูไปถูมา ถ้าเป็นแบบนี้จะสังเกตยากมาก เพราะไม่มีเสียงต้องพาไปให้ทันตแพทย์ช่วยตรวจดูว่า มีฟันสึกหรือไม่ หรืออาจสังเกตจากอาการปวดขากรรไกร หรือปวดศีรษะบ่อยๆ พ่อแม่ต้องเป็นผู้สังเกต และควรรีบแก้ไขตอนที่ลูกยังเล็ก

 โดยพ่อแม่ที่นอนห้องเดียวกับลูก สังเกตพฤติกรรมของลูกได้ เพราะเด็กจะไม่รู้ตัวเองว่า นอนกัดฟัน แต่สำหรับเด็กที่ต้องนอนคนเดียว แยกห้องนอนกับพ่อแม่ คงเป็นไปได้ยากที่จะสังเกตพฤติกรรมของลูก ดังนั้นการสังเกต ถือเป็นการวินิจฉัยโรคนี้ได้ดี รวมไปถึงการสังเกตจากฟันที่สึกกร่อนออกไป หรือให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพปากฟัน สามารถทำให้ทราบว่า เด็กนอนกัดฟันหรือไม่

 เมื่อเห็นลูกนอนกัดฟันบ่อยจนรุนแรง แล้วมีอาการปวดขากรรไกร ปวดศีรษะ ฟันสึก เสียวฟัน ควรปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ (เฝือกสบฟัน) หากเด็กที่นอนกัดฟัน อย่าง 2 หรือ 3 เดือน นอนกัดฟันซัก 1 ครั้ง คงต้องดูอาการไปก่อน คอยสังเกตดูว่า ฟันของลูกมีความสึกกร่อนมากน้อยแค่ไหน คอยถามลูกว่า มีความเจ็บปวดตรงไหนหรือเปล่า หากโตขึ้นอาการยังไม่หาย คงต้องใส่เครื่องมือเฝือกสบฟัน ปกป้องไม่ให้ฟันแท้สึก   

4 วิธีการนอนที่ถูกสุขลักษณะลดการกัดฟัน

 1.ลักษณะห้องนอน ต้องเหมาะสม เงียบ สงบ แสงไม่จ้า เพื่อให้ลูกนอนหลับได้ดี

 2.ไม่ควรกินอาหารมื้อหนักก่อนจะนอนภายใน 3 ชั่วโมง แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นดื่มนมอุ่นๆ แทน เพื่อให้นอนหลับสบายมากขึ้น

 3.ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป ส่วนใหญ่เด็กจะชอบวิ่งเล่นก่อนเข้านอน อาจทำให้เด็กนอนไม่หลับได้

 4.เมื่อถึงเวลานอน ควรให้เด็กเข้านอนเป็นเวลา ไม่ควรให้ดูหนัง ดูทีวี หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สิ่งเหล่านี้ยังทำให้เด็กตื่นเต้นอยู่ตลอดได้

ผศ.ดร.ทพญ.เปรมทิพย์ ชลิดาพงศ์ 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.komchadluek.net/news/unclecham/109115