นัดพบแพทย์

ไข้เลือดออกป้องกันได้

23 Jan 2017 เปิดอ่าน 1975

ไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน เชื้อไวรัสนี้จะอาศัยอยู่บริเวณผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงไปกัดคนจะแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายคน โดยเชื้อไวรัสเดงกี่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ หากผู้ป่วยได้รับเชื้อสายพันธุ์ใด ก็จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้นๆ ซึ่งอาจมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกี่สายพันธุ์อื่นได้อีก

โดยทั่วไปผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก การดูแลตนเองในระยะแรก จะเป็นการติดตามอาการ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ให้พอ โดยสังเกตสีของปัสสาวะจะต้องเป็นสีเหลืองอ่อน หากเป็นสีเหลืองเข้ม แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำ และรับประทานยาลดไข้ โดยใช้ยาพาราเซตามอลตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามรับประทานเกินขนาด เพราะอาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบจากยาได้ รวมทั้งห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นด้วย

  ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไข้เฉียบพลัน ซึ่งอาจสูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส ภายใน 2-7 วัน หลังจากได้รับเชื้อเข้าไป แม้รับประทานยาลดไข้แล้ว ไข้ก็อาจไม่ลดได้ และมักมีอาการเบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ในรายที่มีเกล็ดเลือดต่ำ อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆตามผิวหนัง เนื่องจากมีเลือดออกที่ผิวหนัง บางคนมีเลือดกำเดาไหล ซึ่งมักเกิดขึ้นภายหลัง 2-3 วันหลังจากอาการไข้ขึ้น นอกจากนี้อาจมีเลือดออกจากกระเพาะอาหาร อาเจียนมีเลือดปน หรือถ่ายดำ มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาและเร็ว เนื่องจากความดันเลือดต่ำ อาการนี้จะเป็นอยู่ 24-48 ชั่วโมง ซึ่งต้องได้รับการรักษาทันท่วงที หากตรวจพบว่าเลือดข้นขึ้น เกล็ดเลือดต่ำลง ต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดและเฝ้าติดตามอาการ

 ปัจจุบันสามารถนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ในบางกรณี เช่น การตรวจนับเม็ดเลือด และจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการรักษา แต่การดูแลสุขภาพก่อนป่วยย่อมดีกว่า โดยไม่ให้ยุงลายมากัด นอนในมุ้ง และถ้าต้องทำงานอยู่ในที่ที่มียุง ให้ใช้ยาทากันยุง รวมถึงการดูแลบริเวณบ้าน เลี้ยงปลาสำหรับกินลูกน้ำยุงลาย และคว่ำภาชนะที่อาจมีน้ำขัง เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายไม่ให้วางไข่

โดย : รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ

ขอบคุณบทความจาก : http://www.lokwannee.com/web2013/?p=177518