นัดพบแพทย์

“ทำอย่างไร เมื่อข้อเท้าแพลง”

08 Sep 2016 เปิดอ่าน 2290

อุบัติเหตุมักเกิดโดยไม่คาดคิด หากท่านเดินสะดุดก้อนหินเกิดข้อเท้าแพลงขึ้นมา จะช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นอย่างไร อาจารย์ นพ.มนต์ชัย เรืองชัยนิคม ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า ข้อเท้าแพลง เกิดจากการที่เส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอกมีการเคล็ด หรือฉีกขาดจากการหมุน หรือบิดของข้อเท้า มักเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าเคลื่อนไหวผิดท่าทาง

อาการโดยทั่วไปที่พบ ข้อเท้าจะปวด บวม และเคลื่อนไหวไม่ถนัด ซึ่งความรุนแรงนั้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ ถ้าข้อเท้าเคล็ด ระดับแรก จะเกิดอาการปวดเล็กน้อยเวลากด หรือขณะเคลื่อนไหวข้อ แต่ไม่มีอาการบวม สามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ ข้อเท้าแพลงแบบนี้จะหายได้ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนข้อเท้าเคล็ดระดับที่ 2 มีอาการบวมและฟกช้ำร่วมด้วย เนื่องจากเส้นเลือดเล็กๆ มีการฉีกขาด ทำให้เลือดออกใต้ผิวหนัง เวลาที่ลงน้ำหนักจะรู้สึกปวดมาก อาการแบบนี้หายได้ภายใน 4-6 สัปดาห์ ระดับที่ 3 เส้นเอ็นยึดข้อ เกิดการฉีกขาดออกจากกัน ข้อจะบวมและฟกช้ำมาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อ หรือลงน้ำหนักได้ ระดับความรุนแรงนี้ ต้องใช้เวลาในการรักษานานประมาณ 8-12 สัปดาห์จึงจะหาย

แนวทางการรักษาเบื้องต้น ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก ควรใช้ความเย็นประคบบริเวณที่บาดเจ็บ เนื่องจากความเย็นจะช่วยให้เส้นเลือดหดตัว บรรเทาความเจ็บปวดและลดอาการบวมได้ และห้ามใช้ยาหม่อง หรือครีมต่างๆ นวด เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว มีเลือดออกมากและข้อจะบวมขึ้นอีก นอกจากนี้พยายามเคลื่อนไหวข้อเท้าให้น้อยที่สุด ควรยกเท้าไว้ในระดับที่สูงขณะนั่งหรือนอน จะช่วยให้อาการบวมลดลง ไม่ควรยืนหรือนั่งห้อยขานานๆ เพราะจะทำให้ข้อเท้าบวมและปวดมากขึ้น อาจใช้ผ้ายืดพันหรือใช้ไม้เท้าช่วยพยุงขณะเดิน ถ้ามีอาการบวมมากหรือยังไม่ดีขึ้นหลังดูแลในเบื้องต้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินลงน้ำหนักแล้วปวดข้อเท้ามาก อาจเกิดจากมีกระดูกข้อเท้าแตกหักร่วมด้วย ควรต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา และควรระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการเดินบนพื้นที่ขรุขระ เพราะอาจทำให้เกิดข้อเท้าแพลงได้

ท้ายนี้ขอฝากการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าให้แข็งแรงทำได้โดยการเคลื่อนไหวใน 6 ทิศทาง กระดกขึ้น-งอลง บิดเท้าเข้า-บิดเท้าออก หมุนเท้าวนเข้า หมุนเท้าวนออก

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/Content/