คงจะมีหลายคนเคยมีอาการ มองเห็นดาว (seeing stars) เมื่อเวลาลุกขึ้นจากท่านั่งหรือนอนเร็วๆ บางครั้งอาจเห็นดาวระยิบระยับ ได้หลายวินาที ถึงเกือบนาที อาการเหล่านี้พบได้บ่อย และโดยมากไม่เป็นอันตราย
อาการนี้คล้ายกับภาวะที่ เมื่อเราลองหลับตา แล้วเอานิ้วกดลงบนเปลือกตา เราอาจจะเห็นแสงเกิดขึ้นได้ แสงหรือดาวที่เห็นเหล่านี้ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Phosphene เป็นภาวะการมองเห็นแสงโดยที่ไม่มีแสงเหล่านั้นเข้ามาในลูกตาเราจริงๆ
เมื่อเราลุกขึ้นยืนเร็วๆ อาจเกิดภาวะความดันเลือดต่ำชั่วคราว (postural drop) เกิดจากเลือดซึ่งมาจากส่วนขา ไหลเวียนกลับขึ้นสู่หัวใจ เพื่อปั๊มไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ไม่ทัน เป็นเวลาสั้นๆชั่วคราวเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงเซลล์จอประสาทตา (retina) ได้ลดลงเป็นเวลาสั้นๆเช่นกัน
เซลล์จอประสาทตามีหน้าที่รับแสงที่ส่องผ่านเข้าลูกตา แปลงเป็นสัญญาณสื่อประสาทส่งต่อไปยังสมอง เพื่อให้สมองรับรู้ว่าเรามองเห็นแสง
หากเซลล์จอประสาทตามีเลือดไปหล่อเลี้ยงลดลงเป็นเวลาสั้นๆเช่นนี้ จะทำให้เซลล์จอประสาทตาส่งสัญญาณที่ผิดไปยังสมอง จึงทำให้สมองเข้าใจผิดคิดว่าเราเห็นแสงหรือดาวดังกล่าว ทั้งๆที่ไม่มีแสงเหล่านั้นเข้ามาในตาเรา
แสงหรือดาว ที่เห็นเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นตามหลัง การจาม หรือ การไอแรงๆ ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอธิบายได้ด้วยหลักการเดียวกันกับการลุกขึ้นยืนเร็วๆเช่นกัน
กล่าวโดยสรุป แสงหรือดาว ที่เห็นตามหลัง การลุกขึ้นยืนเร็วๆ หรือ การจาม หรือการไอแรงๆ มักหายไปได้เองภายในเวลาเป็นนาที โดยมักไม่ก่อให้เกิดโรคหรืออันตรายใดๆ แต่อาจเกิดขึ้นซ้ำๆได้
แต่หากเป็นอาการที่ อยู่ดีๆเห็นไฟแลบแว้บขึ้นมาเอง คล้ายแสงแฟลช (flashing) โดยที่ไม่ได้เกิดตามหลัง การลุกขึ้นยืนเร็วๆ หรือ การจาม หรือการไอแรงๆ แนะนำให้มาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจจอประสาทตา เพราะอาจมีความผิดปกติของจอประสาทตา เช่นจอประสาทตาฉีกขาด หรือจอประสาทตาหลุดลอก เป็นต้น ได้ในบางคน
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ในบางคนอาจเห็นแสงอีกรูปแบบหนึ่ง โดยอาจเห็นเป็นแสงจ้า หรือเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซก 10 ถึง 30 นาที ก่อนเกิดอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน (migraine) แสงที่เห็นก่อนเกิดอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนนี้เรียกว่า ออร่า (aura) โดยสาเหตุของการเกิดออร่านี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เชื่อว่าอาจเกิดจากมีความผิดปกติ ของคลื่นสัญญาณประสาท วิ่งผ่านส่วนของสมองที่ควบคุมการมองเห็น (visual cortex) ทำให้สมองเข้าใจผิดคิดว่ามีแสงเหล่านั้นเข้ามาในตาเรา ทั้งๆที่ไม่มี ซึ่งอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีออร่าเช่นนี้ ควรได้รับการตรวจรักษากับแพทย์
อ.นพ.มงคล ธาดารติ
นายแพทย์ชำนาญการ หน่วยจอประสาทตา
กลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี
ขอบคุณบทความจาก : https://www.facebook.com/AllAboutEyebyRCOPT/photos/a.651534874963755.1073741828.651515504965692/776233719160536/?type=3&theater