นัดพบแพทย์

“อีโคไล” ภัยร้ายใกล้ตัวลูก

18 Aug 2016 เปิดอ่าน 2726

เห็นข่าวเรื่องอีโคไลระบาดที่เยอรมัน อยากทราบว่าเกิดจากสาเหตุใดคะ แล้วจะก่อให้เกิดโรคใดบ้าง และต้องระวังตัวอย่างไร

“คนไทยรู้จักแบคทีเรียที่มีชื่อว่า อีโคไล หรือ Escherichia มานานพอควรแล้วค่ะ ในฐานะที่เป็นแบคทีเรียก่อโรค
ซึ่งอาศัยอยู่ในอยู่ในทางเดินอาหารส่วนลำไส้ของมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่น มีอยู่หลายร้อยสายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง ในขณะที่บางสายพันธุ์ของเชื้อ อีโคไล เช่น เอนเทอโรฮีโมเรจิก อีโคไล สามารถก่อให้เกิดอาการที่รุนแรง เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และเยื้อหุ้มสมองอักเสบ และอาการท้องร่วง

...ซึ่งเชื้อเอนเทอโรฮีโมเรจิก อีโคไล ทำให้เกิดโรคโดยการสร้างและปล่อยสารพิษชื่อ ชิก้า ท๊อกซิน ซึ่งสามารถทำลายเม็ดเลือดแดงและไตได้ ตัวอย่างที่สำคัญของเชื้อสายพันธุ์ เอนเทอโรฮีโมเรจิก อีโคไล เช่น สายพันธุ์ อีโคไล O157:H7 และ อีโคไล ซีโรกรุ๊ป O104 ที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุการระบาดที่เยอรมัน ณ ขณะนี้ค่ะ

…โดยปกติแล้วอีโคไลจะมีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปค่ะ โดยเฉพาะในมูลสัตว์ และแพร่สู่คนได้จากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อดังกล่าวมักปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่ได้รับการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น เนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก นมที่ไม่ได้ผ่านขบวนการทำลายเชื้อ นอกจากนี้การปนเปื้อนของเชื้อโรคจากอุจจาระสู่อาหารและน้ำ อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเตรียมและการปรุงอาหาร เชื้อจะเจริญและเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 7 - 50 องศาเซลเซียสและจะถูกทำลายได้ด้วยความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียส ขึ้นไป”

อาการของผู้ได้รับเชื้ออีโคไลจะสังเกตได้อย่างไรคะ ในเด็กต้องระวังมากน้อยเพียงใด และจริงๆ แล้วต้องกังวลกับเรื่องนี้ไหมคะ โดยเฉพาะในบ้านเรา

“สามารถพบอาการได้ตั้งแต่เริ่มท้องร่วงเล็กน้อยค่ะ จนกระทั่งเกิดภาวะลำไส้อักเสบ ร่วมกับอุจจาระเหลวมีเลือดปนหรือมีมูกเลือด ปวดท้อง อาเจียน อาจจะมีไข้ร่วมด้วย และผู้ป่วยในรายที่อาการรุนแรงจากสารพิษทำลายเม็ดเลือดแดงและไตทำให้เกิดไตวายฉับพลัน ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก (ร้อยละ 3 - 7 ของผู้ติดเชื้อ) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการมักจะหายภายใน 10 วัน 

...เชื้ออีโคไล มีระยะฟักตัวระหว่าง 3 - 8 วัน โดยเฉลี่ยแล้ว 3 - 4 วัน ส่วนใหญ่จะก่อโรคในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ เนื่องจากร่างกายของคนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการต้านทานเชื้อได้น้อยกว่าคนทั่วไป ซึ่งมักจะเป็นการระบาดแบบชนิดประปราย และน้อยครั้งที่จะมีการระบาดใหญ่เหมือนกรณีที่เยอรมันค่ะ

...สำหรับกลุ่มเสี่ยง ข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าผู้เสี่ยงได้รับเชื้ออีโคไลมากที่สุดเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ เนื่องจากร่างกายของคนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการต้านทานเชื้อได้น้อยกว่าคนทั่วไป และแม้ว่าผู้ได้รับเชื้อจะสามารถนำเชื้อชนิดนี้ออกจากร่างกายได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่เชื้อส่วนที่หลงเหลือเพียงเล็กน้อยยังสามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่นเกิดภาวะไตเสื่อม ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย แม้ในทางทฤษฎีเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ โอ -104 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ ยังไม่พบการระบาดของเชื้อนี้ในประเทศไทยและหากย้อนดูจากสถิติตั้งแต่ปี 2538 – ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้ออีโคไลป่วยถึงขั้นมาหาหมอถึงโรงพยาบาลแค่ 7 ราย และยังไม่พบผู้เสียชีวิต เนื่องจากคนไทยมีภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดนี้ได้อย่างไม่น่าเป็นห่วงมากนักค่ะ”

ถ้าพบว่ามีเชื้ออีโคไล การรักษาต้องทำอย่างไรบ้างคะ และอยากทราบวิธีป้องกันด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

“การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้โดยตรงนั้น ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาตามอาการค่ะ เช่น ให้แค่น้ำเกลือทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย และปล่อยให้เชื้อจะถูกขับออกมาจนหายไปเอง แทนการใช้ยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากจะยิ่งกระตุ้นให้เชื้อโรคผลิตสารพิษออกมามากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยทรุดหนัก อีกทั้งไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดกลุ่มสเตอรอยด์และยากลุ่มแอสไพริน เพราะยากลุ่มนี้จะมีผลต่อการทำงานของไต
...การป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากเชื้ออีโคไลที่ดีที่สุด คือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกถูกสุขลักษณะ ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ  และหากสงสัยว่าจะติดเชื้อควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที ไม่ควรซื้อยากินเอง และรักษาความสะอาดเรื่องอาหาร เช่น ผัก ผลไม้  และน้ำดื่ม ตลอดจนภาชนะที่ใช้เพื่อลดการติดเชื้อเพิ่มและกระจายเชื้อสู่คนในครอบครัวค่ะ”

พ.ญ.รัชวัลย์ เทพาวัฒนาสุข 
อายุรแพทย์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://motherandchild.in.th/content/view/955/113/