นัดพบแพทย์

“เครียด-เร่งรีบ”ภัยเงียบคุกคามชีวิต

13 Dec 2016 เปิดอ่าน 1783

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ชีวิตที่เร่งรีบ พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง ความเครียดที่รุมเร้าไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือชีวิตประจำวัน หากคุณเป็นหนึ่งคนที่พบกับปัญหาเหล่านี้ โอกาสที่จะเป็นโรค (Gastro-Esophageal Reflux Disease; GERD) หรือ “โรคกรดไหลย้อน” กำลังมาถึงตัวคุณอย่างจัง ไม่เว้นกระทั่งเด็กและสตรีมีครรภ์

นพ.วิชัย วิริยะอุตสาหกุล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กล่าวว่า แม้ว่า “โรคกรดไหลย้อน” จะไม่ใช่โรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง เพราะโรคนี้คือภาวะที่มีกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจรวมไปถึงเอ็นไซม์เปบซินและน้ำดี ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยปกติหลอดอาหารจะมีการบีบตัวไล่อาหารลงสู่ด้านล่าง และหูรูดจะทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อย กรด หรืออาหาร ไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร แต่ในบางคนนั้นหูรูดส่วนนี้ทำงานได้น้อยลง จึงทำให้มีกรดหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาทำให้ผนังหลอดอาหารอักเสบ

คุณหมอชี้ว่า การไหลย้อนของกรด ถ้ามีมากอาจไหลออกนอกหลอดอาหาร อาจทำให้มีผลต่อกล่องเสียง ลำคอ หรือปอดได้ ถึงแม้โรคกรดไหลย้อนจะไม่ใช่โรคก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตดังกล่าวข้างต้น แต่หากละเลยไม่ทำการรักษา อาจทำให้เรื้อรัง มีความเสี่ยงให้กลายเป็น “มะเร็งหลอดอาหาร” ได้ ทั้งนี้ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้คือ Hiatus hernia (เป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนต้นเข้าไปในกระบังลม), ดื่มสุรา, อ้วน, ตั้งครรภ์, สูบบุหรี่, กินอาหารมื้อหนักตอนดึกๆ, อาหารรสเปรี้ยว เผ็ด, อาหารมัน ของทอด, ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs, ช็อกโกแลต

สำหรับอาการและสัญญาณเตือนว่ากำลังเป็น “โรคกรดไหลย้อน” ก็คือ ปวดแสบร้อนบริเวณกลางอก และ/หรือบริเวณลิ้นปี่ (heart burn), รู้สึกมีก้อนอยู่ในคอ, กลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ, เจ็บคอหรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า หรือไอแห้ง, รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือมีรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก, มีเสมหะอยู่ในคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื่นไส้ และรู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย ซึ่งอาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นหรือเกิดได้บ่อยขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเครียดในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

การศึกษาในประเทศอเมริกาพบว่า 60% ของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนมีอาการปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง โดย 75% นอนหลับยาก 51% รบกวนการทำงาน และอีก 40% ออกกำลังกายไม่ได้ หากคุณละเลยไม่ดูแลรักษา ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิด “มะเร็งหลอดอาหาร” ได้ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมจัดการความเครียด, พฤติกรรมการรับประทานอาหาร จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรจะทำเป็นสิ่งแรก หากจำเป็นต้องรับประทานยา ควรเลือกทานยาที่สามารถป้องกันการไหลย้อนของกรด น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เพื่อรักษาอาการและถ้าหากมีอาการมากหรือบ่อยๆ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม.

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://ascannotdo.wordpress.com/tag/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/