นัดพบแพทย์

′อินเทรนด์′ อันตราย ′เครียด สูบบุหรี่ อ้วน′ มัจจุราชที่ใกล้แค่คืบ

30 Nov 2016 เปิดอ่าน 1269

...ตุบตุบ ตุบตุบ ตุบตุบ...

เสียงหัวใจเต้นดังผ่านลำโพงออกมาให้ได้ยินชัดเจน เมื่อก้าวเท้าเข้าไปยืนอยู่บนตำแหน่งพื้นที่สกรีนสติ๊กเกอร์เป็นรูปหัวใจ พร้อมกับข้อความบนจอตรงหน้าปรากฏข้อความว่า อัตราการเต้นของหัวใจคนปกติอยู่ที่ประมาณ 70 ครั้งต่อนาที

และถ้าขยับไปอีกหน้าจอ จะได้ยินเสียงหัวใจเต้นของคนเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว เสียงการเต้นของหัวใจเด็กที่มีรูรั่วของผนังหัวใจ ฯลฯ

นี่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่โรงพยาบาลโรคหัวใจกรุงเทพจัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อร่วมรณรงค์ให้คนเราหันมาดูแลหัวใจตัวเองเนื่องในวาระ "วันหัวใจโลก" (World Heart Day 2015) ในวันที่ 29 กันยายน 2558


ตัวเลขพิศวง ไม่รู้ไม่ได้

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า โรคหัวใจขึ้นชาร์ตติดอันดับ 1 ของโลกที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุด

โฟกัสลงมาที่ ประเทศไทย 17.3 ล้านคนต่อปี เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจ ขณะที่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตด้วยโรคมาเลเรีย+เอดส์+โรคปอด ถูกทิ้งห่างหลุดลุ่ยที่ 3.86 ล้านคนต่อปี

ปี 2553 โรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 2 ของโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด กล่าวคือ มากถึง 38,417 คนต่อปี โดยจำแนกออกเป็น โรคหัวใจขาดเลือด 48% โรคหลอดเลือดในสมอง 46% และโรคความดันโลหิตสูง 6%

กรมควบคุมโรคชี้ว่า ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งหมด 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้เท่ากับ 90.34 ต่อแสนประชากร

จำนวนของผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด 18,079 คน หรือเฉลี่ยเท่ากับชั่วโมงละ 2 คน

ซึ่งตัวเลขเฉลี่ยที่ว่าเมื่อจำแนกเป็นรายจังหวัดพบว่า กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจมากที่สุด มากกว่า 40% และมีแนวโน้มว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการดูแลสุขภาพตนเองเสียแต่เนิ่นๆ


โรคอินเทรนด์ของคนรุ่นใหม่


ความที่วิถีชีวิตของคนเมืองปัจจุบันเปลี่ยนไปมีชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม เช่น มีความเครียดสูงจากการงาน น้ำหนักตัวเกิน ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ รวมทั้งในกรณีป่วยเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเช่น จากที่แต่เดิมโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักพบในคนอายุ 60-70 ปี นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ บอกว่า ปัจจุบันพบในคนที่อายุน้อยลง

"อายุ 29 ปี 31 ปีก็พบมากแล้ว เนื่องจากการดำเนินชีวิตในปัจจุบันเปลี่ยนไป มีความเครียดสูง การรับประทานอาหารก็ไม่ควบคุมดีพอ นิยมอาหารง่ายๆ และเร็ว ทำให้มีไขมันในเส้นเลือดสูงขึ้น การออกกำลังกายก็น้อยลง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและเส้นเลือดหัวใจโป่งพองได้ รวมทั้งอาจจะทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองตีบได้เช่นกัน"



โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองมี 2 กลุ่ม 1.เกิดจากผนังหลอดเลือดไม่มีความยืดหยุ่น เมื่อหัวใจบีบตัว แรงกระแทกมาก เส้นเลือดก็โป่งพอง จนถึงจุดหนึ่งก็แตก 2.เส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ เกิดจากเส้นเลือดเดิมปกติ แต่ความแข็งแรงของเส้นเลือดไม่แข็งแรง เมื่อหัวใจบีบตัวแม้เส้นเลือดไม่แตกข้างนอก แต่เซาะเข้าไปในชั้นกลางและเซาะไปเรื่อยๆ ทำให้ชั้นนอกโป่งไปเรื่อยๆ แต่ชั้นในจะตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะนั้นไม่ได้

นี่เป็นสัญญาณเตือน ถ้าไปกดทับอวัยวะใด เช่น ที่ช่องทรวงอกก็จะแน่นหน้าอก ถ้ากดทับหลอดลมจะหายใจลำบาก ฯลฯ ในรายที่มีการแตกเซาะที่เส้นเลือดเลี้ยงสมองจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ทั้งนี้ ขณะที่แตกเซาะนั้น ความดันจะตก ผู้ป่วยหัวใจจะเต้นเร็ว เหนื่อยหอบ หน้ามืด เป็นลม จำเป็นต้องรีบมาโรงพยาบาล ซึ่งกลุ่มนี้ผู้ป่วยมากกว่า 50% มาไม่ถึงโรงพยาบาลเพราะเสียชีวิตก่อน และมากกว่า 90% ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดจะเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมงแรก กรณีดังกล่าวคือ หัวใจแตกเซาะทางด้านหน้า

ซึ่งถ้าเป็นการแตกเซาะทางด้านหลัง จะสามารถใส่ขดลวดเพื่อประคับประคองชีวิตได้ทัน ถ้าเข้ารับการตรวจเช็กเสียแต่เนิ่นๆ จะช่วยได้

สิ่งสำคัญคือ ถ้าควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้ก็ไม่ต้องกังวล เช่น งดสูบบุหรี่ ควบคุมโรค ออกกำลังกาย และลดความเครียด และลดน้ำหนักตัวที่มากเกิน โอกาสที่จะลดการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจก็น้อยลง

ใจเต้นผิดจังหวะ
เมื่อไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร


หัวใจเต้นแรง-รัวๆ เต้นไม่ส่ำ...เป็นอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นเวลาตกหลุมรักใครสักคน

แต่...เคยมั้ยที่จู่ๆ หัวใจก็เต้นแรงแบบรู้สึกได้อย่างไม่มีสาเหตุ เพียงพักเดียวอาการนั้นก็หายไป

อาจทิ้งช่วงยาวเป็นสัปดาห์ เป็นเดือนหรือเป็นปี เป็นเหตุให้เมื่อพบแพทย์จะยังไม่สามารถตรวจจับอาการผิดปกตินั้นได้

อาการ "หัวใจเต้นผิดจังหวะ" เช่นนี้ ในทางการแพทย์อธิบายว่า เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ เป็นที่มาของจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ในร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

การลัดวงจรของไฟฟ้าในห้องหัวใจ เป็นอย่างไร?

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระแสไฟฟ้าในหัวใจ นพ.เกรียงไกร จิรสิริโรนากร เคยให้คำอธิบายไว้ว่า จังหวะการเต้นของหัวใจถูกกำหนดโดย "สัญญาณไฟฟ้า" ที่ส่งมาจากเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจห้องบนขวา และส่งต่อไปยังห้องหัวใจที่เหลือ และลงไปยังหัวใจห้องล่างเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย

กลไกการเต้นของหัวใจนี้จะถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งจะมีแบบแผนและมีความสม่ำเสมอตามแต่กิจกรรมของร่างกายที่มากน้อยต่างกันไป

ปกติหัวใจคนเราเต้นอยู่ที่50-100 ครั้งต่อนาที หากเต้นเร็วหรือช้าเกินไป หรือมีจังหวะหัวใจที่ขาดหายไป หรือแทรกมาก่อนจังหวะปกติ นั่นคือเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

ซึ่งภาวะเช่นนี้มีทั้งไม่อันตราย และหรือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมาถึงของโรคหัวใจ

ไม่ได้ตกหลุมรัก
แต่ห้ามหัวใจเต้นแรงไม่ไหว


จะทราบได้อย่างไรว่าภาวะหัวใจที่เต้นผิดจังหวะนั้น ใช่หรือไม่

คุณหมอรอง ผอ.ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก อธิบายว่า ภาวะการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะมีหลายแบบ มีทั้งแบบที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มที่เกิดจาก "หัวใจห้องล่าง" ซึ่งแน่นอนว่าเรา-ผู้เป็นเจ้าของหัวใจไม่มีทางทราบว่าเป็นห้องล่างหรือห้องบน ต้องแพทย์เท่านั้น โดยการตรวจคลื่นหัวใจ

การรักษามี 2 วิธี คือ 1.ใช้ยา 2.ใส่สายสวนเข้าไปจี้เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะที่เป็นปกติ

ส่วนกลุ่มที่ 2 ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจาก "หัวใจห้องบน" กลุ่มนี้แม้ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มักมีโอกาสทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น โอกาสที่ลิ่มเลือดนั้นจะลอยขึ้นไปอุดตันในสมองก็มี ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอัมพฤกษ์-อัมพาตได้

การรักษาทำได้โดย 1.ใช้ยา 2.ช็อกหัวใจ และ 3.ใส่สายสวนเข้าไปจี้หัวใจให้กลับมาเต้นในจังหวะสม่ำเสมอตามปกติ

สำหรับอาการนานๆ หัวใจเต้นผิดจังหวะสักที โดยไม่ได้อยู่ในภาวะแวดล้อมที่ทำให้ใจเต้นแรง คุณหมอวิฑูรย์บอกว่า เรียกว่าอาการ "หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นครั้งคราว" ซึ่งบางครั้งการตรวจคลื่นหัวใจธรรมดาไม่สามารถบอกได้ จำเป็นต้องติดเครื่อง "โฮลเตอร์ มอนิเตอร์" (Holter Monitor) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจหัวใจเพื่อบันทึกการทำงานของหัวใจ 24 ชั่วโมง แล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

เมื่อครบ 24 ชั่วโมงจึงกลับมา เอาเครื่องมาถอปเทปดูว่า ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีลักษณะการเต้นผิดปกติของหัวใจแบบไหนมากหรือน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งอาจเกิดการเต้นที่ผิดปกติ แต่เราไม่รู้สึกตัว เพราะเกิดน้อย เช่น อาจเกิดระหว่างการนอนหลับ เครื่องโฮลเตอร์ มอนิเตอร์ จะบอกได้ ซึ่งถ้ายังไม่พบ อาจต้องติดเครื่องซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง

หรือถ้าเรามีภาวะการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ และเรารู้สึกเดี๋ยวนั้น ปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนที่สามารถบันทึกการเต้นของหัวใจได้ สามารถบันทึกและนำมาให้คุณหมอ แต่ต้องบันทึกในจังหวะที่เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งถ้าเราตรวจและทราบผลตั้งแต่เริ่มต้นจะง่ายในการจัดการ



นักกีฬาหรือไม่ ไม่ใช่ปัจจัย

ข่าวของนักกีฬาที่หัวใจวายเสียชีวิตคาสนาม แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ก็สร้างความตกใจให้กับผู้ทราบข่าว ขนาดนักกีฬาที่ออกกำลังกายเป็นประจำเหตุการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นได้ แล้วกับคนทั่วไปล่ะ

คุณหมอวิฑูรย์อธิบายว่า กรณีของกลุ่มนักกีฬาอายุน้อยที่เสียชีวิตเฉียบพลัน อาจจะเป็นเพราะมีความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ เช่น เป็นโรคบางโรค การได้รับการตรวจจากแพทย์เท่านั้นจึงจะสามารถบอกได้ว่าคลื่นหัวใจคนใดที่มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหา

"คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นโรคหัวใจ" รอง ผอ.ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกบอก และว่า

"ควรดูว่าเรามีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ เช่น สูบบุหรี่ มีไขมันในเส้นเลือด ความดันโลหิตสูง ความเครียด เบาหวาน น้ำหนักตัวเกิน ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ 2 หรือ 3 อย่างใน 6 อย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ควรเข้ามารับการตรวจก่อน เพื่อจะรู้ว่าเรามีโอกาสที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจมากน้อยขนาดไหน และเราสมควรจะป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นในอนาคต ถ้ามีอาการผิดปกติจะได้รักษาตั้งแต่เริ่มแรก"

เช่นนั้นแล้วทุกคนควรได้รับการตรวจเช็กหัวใจ?

"ควรจะเข้ารับการตรวจ" โดยเฉพาะผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มของผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจมีมากขึ้น และพบในคนอายุน้อยลง

"ปัจจุบันเราเคยพบในผู้ชายที่อายุน้อย 29 ปี อายุ 30 ปีก็มี" ส่วนในผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงคือในวัยหมดประจำเดือน หรืออายุมากกว่า 50 ปี ควรได้รับการตรวจเบื้องต้นว่ามีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

การใส่ใจดูแลหัวใจตนเองนั้น การตรวจคัดกรองถือว่ามีประโยชน์มากในการช่วยวางแผนการรักษาและป้องกัน เรียกว่า รู้ก่อนป้องกันได้ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายช่วยป้องกันและลดสาเหตุการเสียชีวิตเฉียบพลันในกลุ่มนักกีฬาอายุน้อย

 

* ขอบคุณบทความจาก : http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1443500368