นัดพบแพทย์

11 สัญญาณเตือน อาการปวดท้องเรื้อรังในเด็ก

26 Sep 2016 เปิดอ่าน 3004

อาการปวดท้องในเด็ก  ที่จัดว่าเป็นการปวดท้องเรื้อรังตามนิยามของ Dr. Apley คือ อาการปวดท้องเป็นระยะในเด็กอายุ 4-16 ปี โดยที่อาการปวดท้องนั้นเป็นมากจนรบกวนกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก  และเป็นมานานกว่า 3 เดือน อาการปวดท้องเรื้อรังนี้ จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ปวดท้องเป็นช่วงๆ
  2. อาการปวดท้องร่วมกับการกินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียนบางครั้ง กินอาหารแล้วอิ่มเร็ว หรือ ท้องอืด เรอบ่อย
  3. ปวดท้องร่วมกับการขับถ่ายที่ไม่ปกติ เช่น มีท้องเสีย ท้องผูก หรือ มีความรู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่หมดเกลี้ยง

สาเหตุของการปวดท้องเรื้อรัง

อาการปวดท้องเรื้อรังนี้ เป็นการปวดจริง ไม่ได้เกิดจากที่การเด็กปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ไม่ได้เลียนแบบผู้ใหญ่ หรือเป็นข้ออ้างในการที่เด็กจะไม่ยอมทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุของการปวดก็มีหลากหลาย โดยพยาธิสภาพของอาการปวดมาจากการบีบตัวที่ผิดปกติ และระบบประสาทการรับรู้ความเจ็บปวดของทางเดินอาหารตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรงจนถึงทวารหนัก

ในเด็กที่ปวดท้องเรื้อรัง จะพบว่ากล้ามเนื้อของลำไส้จะมีการบีบเกร็งมากขึ้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้น ดังนั้นจึงมีอาการปวดได้ทั่วท้อง และสารที่กระตุ้นความเจ็บปวดนี้ ได้แก่ น้ำตาลชนิดต่างๆ เช่น น้ำตาลนม น้ำตาลฟรุคโตส น้ำตาลซอร์บิทอล กรดไขมันอิสระ และกรดน้ำดี มีการตรวจพบภาวะผิดปกติของการย่อยน้ำตาลนม ( lactose Malabsorption) โดยการตรวจหาแก๊สไฮโดรเจนจากลมหายใจ (H2  Breath Test) พบเป็นจำนวนถึง ร้อยละ 40 ในเด็กที่ปวดท้องเรื้อรัง  ซึ่งร้อยละ 70 ของเด็กเหล่านี้อาการปวดท้องจะหายไป   หลังจากงดการกินน้ำตาลนมไปแล้ว

ในผู้ป่วยหลายรายที่พบอาการทางกายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ซีด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เนื่องจากมีการกระตุ้นต่อระบบประสาทเวกัสด้วย

นอกจากนั้น อารมณ์และบุคคลิกภาพชนิดที่มีความกังวล ความถดถอย ความรู้สึกต่ำต้อย  ก็จะพบได้บ่อยในเด็กกลุ่มปวดท้องเรื้อรัง และจะบ่งชี้ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่จะกดดันต่อภาวะปวดท้องของเด็กด้วย

สัญญาณเตือนว่าอาการร่วมดังต่อไปนี้ต้องได้รับการตรวจพิเศษอื่นๆ

  1. ปวดมากเฉพาะที่ในตำแหน่งห่างจากสะดือ
  2. มีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย
  3. อาเจียน
  4. ปวดจนต้องตื่นนอน
  5. อาการปวดกระจายไปยังไหล่ หรือขา
  6. มีน้ำหนักลดหรือน้ำหนักไม่ขึ้น
  7. ถ่ายเป็นเลือด
  8. มีไข้ ปวดข้อ
  9. ถ่ายอุจจาระเล็ด
  10. มีอาการนอนหลับหลังจากปวดท้อง
  11. มีประวัติครอบครัวของโรคแผลเป็บติค มะเร็งทางเดินอาหาร หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง

การตรวจเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุเมื่อลูกปวดท้องเรื้อรัง

การตรวจร่างกายอาจพบเพียงแต่ การกดเจ็บบริเวณท้อง

การตรวจเลือด ปัสสาวะ การตรวจลมหายใจ การถ่ายภาพรังสี การตรวจอุลตราซาวนด์ช่องท้อง  และการส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

การรักษาอาการปวดท้องเรื้อรัง

รักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบหรือตามอาการ พยายามหาสาเหตุที่เป็นการกระตุ้นอาการปวดท้อง เช่น น้ำตาลนม (lactose) น้ำผลไม้ต่าง ๆ แล้วงดอาหารเหล่านั้น พยายามให้เด็กไปโรงเรียนตามปกติ ถึงแม้จะมีอาการปวดท้องก็ตาม การกิน เอนไซม์ช่วยย่อยนม หรือ นมโยเกิร์ต

หากมีอาการท้องผูกร่วมด้วย แนะนำให้กิน อาหารที่มีกากใยสูง

การใช้ยาคลายการเกร็งของลำไล้ จะยิ่งทำให้อาการปวดท้องเป็นต่อเนื่องอีกนาน ถ้าเด็กที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงมาก และเด็กที่ไม่สามารถกลับไปทำกิจกรรมได้เมื่อปรับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว ควรปรึกษาจิตแพทย์

รศ.พญ.บุษบา วิวัฒน์เวคิน

* ขอบคุณข้อมูลจาก : https://th.theasianparent.com/11-%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81/