Make Appointment

Chocolate Cyst “ช็อกโกแลตซีสต์” อันตรายแค่ไหน? ภัยใกล้ตัวที่ผู้หญิงควรรู้

05 Aug 2016 เปิดอ่าน 20127

ระยะหลังมานี้ ผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์กันเยอะขึ้น เพราะแต่งงานช้า มีลูกช้า ต่างจากผู้หญิงสมัยก่อนที่ไม่ค่อยเป็นโรคนี้ เพราะส่วนใหญ่แต่งงานเร็ว และมีลูกติดๆ กันหลายคน จึงลดโอกาสที่โรคจะถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิง -เรื่อง PEECHOCOPIE  

 “ช็อกโกแลตซีสต์” คือ เนื้องอกรังไข่ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นถุงน้ำที่ด้านในมีของเหลวเหมือนช็อกโกแลตข้นๆ คนทั่วไปเลยเรียกช็อกโกแลตซีสต์ แต่จริงๆ แล้วภาษาทางการแพทย์เรียกว่าโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

“ในผู้หญิงไทยทั่วไป มีโอกาสพบโรคช็อกโกแลตซีสต์ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์”

ปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ได้ แต่มีหลายสมมติฐานที่มีความเป็นไปได้ เช่น เกิดจากการที่ประจำเดือนไหลย้อนกลับไปในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดเข้าไปตามเส้นเลือดและทางเดินน้ำเหลือง

 สัญญาณเตือนภัย

  • ปวดท้องมากผิดปกติขณะมีประจำเดือน
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือเวลามีเพศสัมพันธ์
  • บางรายอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ เลยแต่เมื่อมาตรวจภายใน หมอคลำเจอก้อนผิดปกติหรือคลำเจอว่าในอุ้งเชิงกรานมีก้อนตะปุ่มตะป่ำ

 ช็อกโกแลตซีสต์แตก อันตรายไหม?

อันตรายค่ะ เพราะถ้าของเหลวที่อยู่ในถุงซีสต์กระจัดกระจายไปในร่างกายจะก่อให้เกิดการระคายเคือง เกิดพังผืดในช่องท้อง และมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน บางรายอาจปวดมากจนทนไม่ไหว หน้ามืดเป็นลมจนต้องผ่าตัดฉุกเฉิน หรือถ้าไปเกาะตามลำไส้ก็อาจทำให้ลำไส้อุดตัน

 มีวิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ไหม?

ป้องกันไม่ได้ แต่สามารถควบคุมได้ ถ้าตรวจพบว่า มีโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และถุงน้ำยังไม่ใหญ่มาก หมอสามารถควบคุมอาการได้ สำคัญคือต้องมาตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะถ้าพบสัญญาณของโรคแต่เนิ่นๆ จะมีโอกาสรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

 มีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือนมีผลต่อการเป็นช็อกโกแลตซีสต์หรือเปล่า?

จะมีเพศสัมพันธ์ก่อน หลัง หรือขณะมีประจำเดือนก็ไม่ใช่สาเหตุของโรคนี้ ส่วนอาการปวดท้องน้อยหรือปวดอุ้งเชิงกรานขณะมีการสอดใส่ลึกๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคช็อกโกแลตซีสต์ค่ะ

 ช็อกโกแลตซีสต์เกี่ยวข้องกับการมีบุตรยากอย่างไร?

โรคนี้ทำให้เกิดอาการระคายเคืองมีการอักเสบอยู่ในอุ้งเชิงกรานตลอดเวลา โดยอาการอักเสบที่ว่านี้จะทำให้ร่างกายหลั่งสารบางอย่างที่ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้เมื่อเกิดการปฏิสนธิ และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือโรคนี้อาจทำให้มีพังผืดมายึดเกาะท่อนำไข่ เวลาไข่ตกจึงไม่สามารถเข้าไปในโพรงมดลูกได้

การตั้งครรภ์ช่วยให้หายจากโรคช็อกโกแลตซีสต์ได้จริงหรือ?

จริงค่ะ เพราะอาการของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้นแปรผันตามฮอร์โมนเพศหญิง ถ้าเรายังมีฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่มากระตุ้นอยู่ ก็จะทำให้ตัวโรคยังแอคทีฟและไม่หายขาด แต่ในขณะตั้งครรภ์ฮอร์โมนเพศหญิงจะถูกกดไว้จึงทำให้อาการของโรคดีขึ้น

 การตั้งครรภ์ช่วยให้หายจากช็อกโกแลตซีสต์จริงหรือ?

ขึ้นอยู่กับขนาด ถ้าถุงน้ำมีขนาดใหญ่เกิน 4 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยยุบไปเอง แต่ถ้าแค่มีการกระจายของเยื่อบุโพรงมดลูกไปเกาะตามที่ต่างๆ ยังไม่ถึงกับเป็นก้อน หรือเป็นก้อนถุงน้ำขนาดใหญ่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะดีขึ้นหรือหายไปได้

แต่ถ้าถุงน้ำมีขนาดใหญ่เกิน 4 เซนติเมตรส่วนใหญ่จะไม่ยุบเอง ต้องทำการผ่าตัด เพราะถ้าก้อนใหญ่มากๆ ถึงจะให้ยาฮอร์โมนไปก็อาจจะทำให้ก้อนยุบแต่ไม่หายขาด สุดท้ายก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

 การผ่าตัดเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาโรคนี้หรือเปล่า?

สามารถรักษาด้วยฮอร์โมนได้ค่ะ ถ้าซีสต์ใหญ่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร ถ้าเกินกว่านั้นหรือปัญหามีบุตรยากร่วมด้วย การผ่าตัดจะได้ผลดีกว่า เพราะการให้ยาฮอร์โมนอาจช่วยได้แค่ทำให้ถุงน้ำยุบลงแต่ไม่หายขาด สุดท้ายก็ต้องผ่าตัดอยู่ดี

 การผ่าตัด รักษาช็อกโกแลตซีสต์มี 2 แบบ คือผ่าตัดแบบส่องกล้องและผ่าตัดแบบเปิด ขึ้นอยู่กับความต้องการของคนไข้และหลายๆ ปัจจัย แต่ในกลุ่มคนที่ผ่าตัดแบบยังเก็บมดลูกและรังไข่เอาไว้ มีโอกาสถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะกลับมาเป็นโรคนี้อีกภายในสองปี เพราะเป็นโรคที่แปรผันตามระดับฮอร์โมน ส่วนคนที่ผ่าตัดแล้วและไม่คิดจะมีลูกอีก หมอก็จะให้กินฮอร์โมนประเภทยาคุมกำเนิดไปเรื่อยๆ เพื่อกดอาการไว้ พอผู้ป่วยเข้าสู่วัยทอง รังไข่หยุดทำงาน อาการก็จะดีขึ้นเอง เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนมากระตุ้น

 แพทย์หญิง ถนอมศิริ สติฐิต

สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.lemonade.tv/diet-body/chocolate-cysts/