นัดพบแพทย์

Pregnancy Journal ไขปัญหาคาใจแม่ท้อง

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 3371

Q: อยากเรียนถามค่ะว่า ตกขาว หรือฤดูขาว  คืออะไรคะ แล้วเป็นเรื่องปกติหรือเปล่าที่ร่างกายจะผลิตออกมา

A: ตกขาว (Leukorrhea) หรือที่บางคนเรียก ระดูขาว (ไม่ใช่ฤดูขาว อย่างที่เขียนมานะครับ) คือ สารคัดหลั่งที่ผลิตออกมาจากเซลล์ในบริเวณช่องคลอด เพื่อทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้น และป้องกันการติดเชื้อต่างๆ แก่ช่องคลอด ในตกขาวปกติจะประกอบด้วยเซลล์เยื่อบุผิวหนัง สารคัดหลั่งของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง มูกจากต่อมที่บริเวณปากมดลูก เม็ดเลือดขาว และเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดที่มีประโยชน์ เช่น แลคโตบาซิลไล (Doderlein bacilli) แต่เป็นคนละสายพันธุ์กับที่อยู่ในนมเปรี้ยวนะครับ อย่าเข้าใจผิดว่าเติมนมเปรี้ยวเข้าไปในช่องคลอดได้นะครับ และรวมถึงเชื้อที่มีโทษบางชนิด โดยอยู่กันแบบสมดุลย์  แบคทีเรียทีดีคอยควบคุมไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ ที่ทำให้เกิดตกขาวผิดปกติ เช่น เชื้อรา หรือแบคทีเรียที่เป็นโทษ เจริญเติบโต แต่เมื่อใดก็ตามที่สภาพสมดุลย์ในช่องคลอดเปลี่ยนไป ซึ่งอาจเกิดจาก ความอับชื้น การใช้น้ำยาอนามัยต่างๆ การมีเพศสัมพันธ์ หรือ การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น ทำให้แบคทีเรียตัวที่ดีๆเกิดตายไป เชื้อโรคตัวร้ายต่างๆก็เจริญขึ้นมาแทนที่ ทำให้เกิดอาการผิดปกติของตกขาวขึ้น เช่น ปริมาณมากผิดปกติ (ตกขาวอาจมีปริมาณมากขึ้นในช่วงตกไข่ ขณะมีเพศสัมพันธ์ และ ระยะตั้งครรภ์) อาการคัน ตกขาวมีกลิ่นคาว หรือกลิ่นผิดปกติ ตกขาวมีสีที่เปลี่ยนไป เช่น เป็นสีเหลือง เขียว หรือน้ำตาล อาการเหล่านี้แสดงถึงความผิดปกติที่ควรต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย และได้รับการรักษา การซื้อยามาทานหรือเหน็บเอง อาจได้ยารักษาไม่ตรงกับเชื้อที่เป็น ควรไปตรวจและรับการรักษาจากแพทย์เป็นการดีที่สุด การรักษาส่วนใหญ่ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เหน็บยา หรือ รับประทานยา ประมาณ 1 สัปดาห์ก็หายเป็นปกติ แต่ที่สำคัญที่ควรระลึกไว้เสมอ คือ ถ้ารักษาหายแล้ว แต่สภาพแวดล้อมในช่องคลอดยังเหมือนเดิม อาจเกิดการติดเชื้อซ้ำได้บ่อยๆ จึงควรดูแลสุขอนามัยช่องคลอดให้ดี เช่น ดูแลช่องคลอดไม่ให้อับชื้น โดยการเช็ดหรือซับให้แห้ง หลังอาบน้ำ หรือปัสสาวะ งดการใช้น้ำยาอนามัยต่างๆโดยไม่จำเป็น (ใช้น้ำเปล่าสะอาดล้างก็เพียงพอ) เปลี่ยนชุดชั้นในบ่อยๆ ในวันที่อากาศชื้น หรือมีเหงื่อมาก และชุดชั้นในควรผึ่งแดดให้แห้งสนิท หลีกเลี่ยงการใช้แผ่นอนามัยโดยไม่จำเป็น (ใส่เฉพาะช่วงมีประจำเดือน และหลังหมดประจำเดือนควรเลิกใส่ ไม่ควรใส่ตลอดแบบทุกวันและทั้งวัน)  

Q: เวลามีประจำเดือนแล้วออกมาเป็นลิ่มเลือดหนา แบบนี้จะอันตรายหรือเปล่า และสังเกตว่าตัวเองมีประจำเดือนแต่ละครั้งจะมาเยอะมากค่ะ

A: เวลามีประจำเดือน ถ้าออกมาก เลือดจะจับตัวกันเป็นก้อน ที่เรียกว่าเป็นลิ่มเลือด ถ้าออกมากๆก็อันตรายครับ บางคนเลือดประจำเดือนออกมากจนมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติเลยก็มี บางครั้งถ้าเสียเลือดเกินขีดความสามารถของร่างกายที่จะรับได้ ก็จะเกิดภาวะช็อค (Hypovolumic shock) จากการเสียเลือดได้เช่นกัน ถ้าเลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติควรมารับการตรวจรักษากับสูตินรีแพทย์ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ ภาวะเนื้องอกมดลูก ( Myoma uteri or Fibroid) เป็นเนื้องอกมดลูกชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ เช่น บริเวณใกล้เยื่อบุโพรงมดลูก (Intramural myoma) หรืออยู่ภายในโพรงมดลูก (Submucous myoma) ก็จะทำให้การบีบตัวของมดลูกเพื่อไล่ประจำเดือนออก ทำได้ไม่ดี เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปขัดขวางการบีบตัวของมดลูก ทำให้การบีบตัวของเส้นเลือดแดงเล็กๆที่ฐานใต้เยื่อบุโพรงมดลูก (spiral arterioles)เพื่อให้เลือดหยุด เป็นไปได้ไม่ดี ยังผลให้มีเลือดออกมาก และนานกว่าปกตินอกจากนี้ ตัวเนื้องอกทำให้เพิ่มพื้นที่ผิวของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เลือดระดูออกมากกว่าปกติ ส่วนมากมักพบร่วมกับอาการปวดท้องประจำเดือน (Dysmenorrhea)

Q: อยากเรียนปรึกษาคุณหมอค่ะ ดิฉันอายุ 33 ปี ส่วนสามีอายุ 34 ปี เคยไปตรวจร่างกายก็ปกติดีค่ะ แต่ยังไม่ท้องสักที แบบนี้เป็นไปได้ไหมคะว่าจะมาจากความเครียด แล้วความเครียดมันส่งผลให้เราท้องได้ยากด้วยหรือเปล่าคะ

A: เป็นไปได้ครับ ความเครียดมีส่วนทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ซึ่งการตกไข่ และการปฏิสนธิ ต้องอาศัยฮอร์โมนหลายๆชนิดทำงานร่วมกัน เช่น เอสโตรเจน(Estrogen) กระตุ้นการตกไข่ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ช่วยในการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้นุ่มและหนาพอสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน การเกิดความเครียดอาจทำให้ระบบฮอร์โมนในร่างกายเรารวน หรือทำงานผิดปกติได้ มีการศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกา (The Ohio State University College of Medicine) ทำการตรวจวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol)และ อัลฟ่า อไมเลส  (alpha amylase) ที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด พบว่าในหญิงที่มีระดับฮอร์โมนตัวนี้สูงจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลง อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณราร่วมด้วยคือเรื่องของอายุ เนื่องจากการที่มีอายุใกล้ 35 ปีของสตรี อาจทำให้ไข่ที่นำมาใช้ในการปฏิสนธิมีความสมบูรณ์น้อยลง เนื่องจากข่สร้างติดตัวผู้หญิงมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ยิ่งมีอายุมากเท่าไหร่ ไข่ก็ยิ่งเก่าเก็บมากและมีอายุมากขึ้นเท่านั้น อาจเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิได้ ส่วนของอสุจิเพศชายนั้นต่างกัน มีการหลั่งและสร้างอยู่ตลอดจึงสดใหม่อยู่เสมอ อายุผู้ชายจึงมีความสำคัญต่อภาวะเจริญพันธ์น้อยมาก ถ้าแต่งงานและอยู่ด้วยกันตลอด มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ ไม่ได้คุมกำเนิด ไม่สามารถมีบุตรได้ตามต้องการในระยะ 1 ปี ถือว่ามีภาวะมีบุตรยาก ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อนที่จะสายเกินไป เพราะอายุยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสประสบความสำเร็จก็จะน้อยลงเท่านั้น อย่าลืมว่าการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับคน 2 คน ปัจจัยที่ทำให้มีบุตรยากจากฝ่ายชาย ร้อยละ 40-45 จากฝ่ายหญิงร้อยละ 40-45 (บางตำราให้สาเหตุทางฝ่ายหญิงมากกว่าเล็กน้อย เพราะระบบสืบพันธ์มีความซับซ้อนกว่าฝ่ายชาย) และในกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุอีกประมาณร้อยละ 10-20 ถ้าพบปัญหาจากภาวะมีบุตรยากจึงควรมารับการตรวจด้วยกันทั้งคู่ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระความรับผิดชอบของฝ่ายหญิงแต่ฝ่ายเดียว

Q: อยากทราบว่าถ้าเป็นเชื้อราในช่องคลอด ควรต้องรักษาอย่างไร แล้วจะอันตรายกับร่างกายหรือเปล่าคะ

A: การเกิดเชื้อราในช่องคลอด สาเหตุมักเกิดจากความอับชื้น ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย เช่น ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็ง หรือเนื้อที่ผิดปกติ แต่ทำให้เกิดความรำคาญจากอาการคันเป็นหลัก ทั้งในช่องคลอด และบริเวณรอบปากช่องคลอด ตกขาวจากเชื้อรา มักมีลักษณะเหนียวข้น เป็นก้อนเหมือนกาวแป้งเปียก หรือ เป็นแผ่นคล้ายนมบูด (Curd like discharge) สีออกขาวขุ่น เหลือง หรือเขียว และมักไม่ค่อยมีกลิ่น การรักษาทำได้ไม่ยาก ถ้าเป็นครั้งแรกๆ แค่เพียงเหน็บยารักษา โดยอาจเป็นยาเหน็บแค่ครั้งเดียว หรือ เหน็บ 6 ครั้งก็ได้ แต่ควรเหน็บช่วงก่อนนอนจะดีที่สุด เพราะยาจะอยู่ในช่องคลอดได้นานและออกฤทธิ์ได้ดี แต่สำหรับรายที่เป็นซ้ำบ่อยๆ อาจเกิดจากเพศสัมพันธ์ก็เป็นได้ เนื่องจากเชื้อราในผู้ชายมักไม่ค่อยแสดงอาการ จึงติดกันไปมาระหว่างคู่นอนทำให้เป็นซ้ำอยู่บ่อยๆ ในกรณีเช่นนี้ควรรักษาคู่นอนไปพร้อมๆกัน โดยผู้ชายมักใช้เป็นยาชนิดรับประทาน นอกจากนี้ในกลุ่มที่เป็นเบาหวาน หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน กลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) มีโอกาสติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น

โดย นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข

* ขอบคุณข้อมูลจาก :  นิตยสารบันทึกคุณแม่