นัดพบแพทย์

Safe สายตาให้ปลอดภัย บอกลาแว่นไร้กรอบอย่างไร้กังวล

17 Aug 2016 เปิดอ่าน 1352

การใส่แว่นสำหรับคนที่มีปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียงนั้น สำหรับบางคนอาจไม่ใช่สิ่งที่ชอบนัก เพราะทำให้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่เคยทำตอนไม่ใส่แว่นหายไป จะเล่นกีฬา แต่งหน้าสวย อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ก็กลายเป็นอุปสรรคเสียแล้ว

สารพัดปัญหาสายตาที่เกิดขึ้นนี้ น.อ. (พิเศษ) นพ.อนุวัตร จิตต์จรัส จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตา และรักษาสายตา โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายไว้ว่า สายตานั้นเปรียบเสมือนกล้องถ่ายรูป ซึ่งเลนส์อาจมีความเสื่อมหลายจุดทั้งด้านหน้าและด้านหลังตามระยะเวลา เพราะสายตาคนเราไม่ได้คงที่ไปตลอดชีวิต อย่างในเด็กแรกเกิดจะสายตายาว และมองเห็นได้แค่ริมฝีปากของแม่ แต่พอเริ่มโตขึ้น กระบอกสายตาขยาย ก็จะทำให้ภาวะสายตามีความพอดี แต่ทั้งนี้ถ้ามีกรรมพันธุ์ของความผิดปกติทางสายตา หรือมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พฤติกรรมการเล่นคอมพิวเตอร์ ไอแพด หนักๆ ฯลฯ ก็อาจทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นก่อนวัย

ส่วนภาวะสายตายาวหรือเอียง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อตาล้า เปรียบเสมือนกล้องถ่ายรูปไม่สามารถซูมเข้าได้ ทำให้มองระยะใกล้ไม่เห็น ซึ่งจริงๆ แล้ว เราสามารถฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาให้แข็งแรงขึ้นได้ด้วยการฝึกมองตัวหนังสือในระยะใกล้-ไกลให้สม่ำเสมอ

ทั้งนี้ปัญหาสายตาที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีวิธีแก้ด้วยการใส่แว่น หรือคอนแทคเลนส์ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีอุปสรรคในการใช้ชีวิต ทั้งไลฟ์สไตล์ที่ชอบเล่นกีฬา หรืออาชีพที่ต้องอาศัยบุคลิกภาพที่ดี รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดตาแห้งจากการใส่คอนแทคเลนส์ โดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เผยว่า พัฒนาการด้านการรักษาสายตา เดิมทีเริ่มจากการใส่แว่น ต่อมาก็เป็นคอนแทคเลนส์ แต่สำหรับบ้านเรายังค่อนข้างอันตราย เพราะใช้กันอย่างผิดวิธี และหาซื้อได้ง่าย ไม่เหมือนในต่างประเทศที่จักษุแพทย์จะต้องเป็นผู้อนุมัติให้ใช้ การทำเลสิกจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่ไม่อยากใส่แว่นตา และคอนแทคเลนส์ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีเทคโนโลยีการทำเลสิกที่สะดวก รวดเร็ว มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง เพราะต้องวิเคราะห์ให้แน่ชัดว่า ผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติชนิดใด ต้องรักษาแบบไหน เช่น

•    พีอาร์เค (PRK : Photorefractive Keratectomy)
การรักษาภาวะสายตาผิดปกติ แบบไม่มีการแยกชั้นกระจกตา เหมาะกับผู้ที่มีตาแห้ง หรือกระจกตาบาง โดยแพทย์จะทำการลอกผิวกระจกตาชั้นบนออก จากนั้นจึงใช้เครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีใหม่ยิงเลเซอร์ความเร็วสูง เพื่อปรับความโค้งกระจกตาแล้วปิดแผลด้วยคอนแทคเลนส์ รอให้ผิวกระจกตาด้านบนปิดสนิทดังเดิมจึงนำคอนแทคเลนส์ออก

•    เลสิก (LASIK : Laser In-Situ keratomileusis)
การรักษาภาวะสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียงแบบถาวร โดยการแยกชั้นกระจกตาด้านบนขึ้นด้วยเครื่อง Microkeratome แล้วใช้เครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ ปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาในชั้นลึกลงไปตามที่จักษุแพทย์คำนวณไว้ แล้วจึงปิดผิวกระจกตาลงดังเดิม

•    เฟมโตเลสิก (FemtoLASIK : Femtosecond – LASIK)

เลสิกแบบไร้ใบมีด (Bladeless LASIK) เป็นเทคโนโลยีการทำเลสิกที่ใช้เลเซอร์ทุกขั้นตอน (All laser LASIK) ตั้งแต่แยกชั้นกระจกตาด้วยเฟมโตเซคเคิลเลเซอร์ ของ LDV และปรับความโค้งกระจกตาด้วยเครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ เพิ่มความแม่นยำ ปลอดภัย แผลหายเร็ว และเพิ่มโอกาสในผู้ที่มีกระจกตาบาง, แบน หรือโค้งผิดรูป สามารถแก้ไขโดยเทคโนโลยีใหม่นี้ได้

การรักษาภาวะสายตาผิดปกติด้วยวิธีเหล่านี้ สำคัญคือการใช้เครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการยิงเลเซอร์ที่มีความเร็วถึง 750 ครั้ง /วินาที มีระบบติดตามความเคลื่อนไหวของลูกตา 6 ทิศทาง สามารถปรับลำแสงเลเซอร์ให้ตกในตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ การรักษาจึงมีความรวดเร็ว ได้ผลดี ผู้รักษาฟื้นตัวได้เร็วกว่าวิธีเดิมๆ

การรักษาสายตาด้วยเลสิกแบบใหม่ แม้ว่าจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจมีความกังวลอยู่บ้างสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ดังนั้นควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน และควรเลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง สถานพยาบาลมีความน่าเชื่อถือ รวมถึงการดูแลดวงตาตัวเองให้พร้อมก่อนมาทำเลสิก โดยเฉพาะคนที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรงดใส่อย่างน้อย 3 -7 วัน (สำหรับเลนส์นิ่ม และเลนส์แข็ง) ไม่ควรขับรถมาเอง และควรนำแว่นกันแดดมาด้วย เพราะการตรวจจะมีการหยอดยาขยายม่านตา ทำให้สู้แสงไม่ได้ 4-6 ชั่วโมง

 

น.อ. (พิเศษ) นพ.อนุวัตร จิตต์จรัส

*ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=amuletstory&month=07-2013&date=11&group=10&gblog=125