ตับแข็ง คือโรคตับระยะสุดท้ายที่เกิดตามหลังโรคตับหลายชนิดซึ่งมีสาเหตุหลากหลาย เช่น ตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี การดื่มสุราต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือ โรคไขมันพอกตับ (non-alcoholic steatohepatitis หรือ NASH) โรคตับแข็งมีการเกิดพังผืดและแผลเป็นในเนื้อตับ ส่งผลให้ตับสูญเสียหน้าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การสร้างและสะสมสารสำคัญและแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมไปถึงเกิดการปิดกั้นการไหลเวียนของเลือดที่ไหลผ่านตับ
อาการของโรคตับแข็ง
ผู้ป่วยโรคตับแข็งในระยะเริ่มต้นส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก เช่น อ่อนเพลีย คันตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ขาบวม เบื่ออาหาร ต่อมาเมื่อตับถูกทำลายมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการตาเหลืองตัวเหลืองที่เรียกว่าดีซ่าน ท้องมานจากของเหลวสะสมในช่องท้อง ซึมสับสนจากของเสียคั่งในร่างกายจนส่งผลต่อการทำงานของสมอง เลือดออกในระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรงจากหลอดเลือดโป่งพองในทางเดินอาหารจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดโรคมะเร็งตับในทุกระยะของโรค
การวินิจฉัยโรคตับแข็ง
ผู้ป่วยโรคตับแข็งในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการแต่อาจตรวจพบได้จากการตรวจเลือดหรือการตรวจร่างกายประจำปี แพทย์อาจเจาะเลือดผู้ป่วยตรวจการทำงานของตับ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและปริมาณเกล็ดเลือด ตรวจค่าการแข็งตัวของเลือด รวมไปถึงตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ นอกจากนี้การตรวจอัลตราซาวนด์หรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์และการเจาะชิ้นเนื้อตับส่งตรวจทางพยาธิวิทยา อาจให้ข้อมูลในการวินิจฉัยโรคตับแข็งมากขึ้น
การดูแลผู้ป่วยโรคตับแข็ง
ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรได้รับการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ที่อ้วนควรลดน้ำหนักและงดการดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับและส่องกล้องระบบทางเดินอาหารเพื่อตรวจหาหลอดเลือดโป่งพองและป้องกันเลือดออก ผู้ป่วยควรได้รับการฉีดวัคซีนสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบเอและบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงวัคซีนโรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย pneumococcus ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาและสมุนไพรที่อาจจะเป็นอันตรายต่อตับ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ และอาหารบางชนิดที่อาจปนเปื้อนเชื้อราที่สร้างสารอะฟาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งส่งเสริมให้เกิดมะเร็งตับมากยิ่งขึ้น เช่น ถั่วลิสงบดหรือพริกป่นที่อับชื้น ผู้ป่วยที่มีอาการบวมหรือท้องมาน ควรจำกัดเกลือและหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัดผู้ป่วยโรคตับแข็งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะทุพโภชนาการซึ่งเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจึงควรได้รับพลังงานจากอาหารอย่างเพียงพอประมาณ35 ถึง 40 กิโลแคลอรี่/กก./วัน และ โปรตีน 1.2-1.5 กรัม/กก./วัน โดยควรแบ่งมื้ออาหารเป็นอาหารมื้อเล็กๆ ที่ให้พลังงานสูงและรับประทานบ่อยๆ นอกจากนี้ควรจัดอาหารว่างให้ผู้ป่วยรับประทานก่อนนอน ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
บทสรุป
การดูแลผู้ป่วยโรคตับแข็งมีเป้าหมายชะลอการเกิดพังผืดและแผลเป็นภายในตับ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมไปถึงการเกิดมะเร็งตับ ตลอดจนการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องซึ่งสามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับแข็ง
โดย นพ. ศักรินทร์ จิรพงศธร แผนกโรคระบบทางเดินอาหาร กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
ขอบคุณบทความจาก : http://www.pmkmedicine.com/health_detail.php?health_id=32