นัดพบแพทย์

การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลัง (Exercise Stress Test : EST)

09 Apr 2017 เปิดอ่าน 1868

การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลัง (exercise stress test : EST)

เป็น การตรวจสมรรถภาพของหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังด้วยการเดินบนสายพานเลื่อน เพื่อทดสอบว่าเมื่อหัวใจทำงานหนักขึ้น และกล้ามเนื้อหัวใจมีความต้องการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดขึ้นหรือไม่ โดยดูจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เปลี่ยนแปลง และการเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือเหนื่อย รวมทั้งระดับความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ประโยชน์จากการทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลัง

1. เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่าอาการ เจ็บหน้าอกเกิดจากโรคหัวใจ หรือสาเหตุอื่น รวมถึงใช้ตรวจในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจแต่ยังไม่มี อาการของโรค

2. เพื่อติดตามผลการรักษาโรคหลอด เลือดหัวใจ ทั้งก่อนผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ หรือทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ ขณะที่ให้ยารักษาและหลังจากการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ หรือทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ

3. เพื่อบ่งบอกความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และความปลอดภัยในการดำรงชีวิต และการออกกำลังกายเมื่อจะออกจากโรงพยาบาล

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ

1. พักผ่อนให้เพียงพอในวันก่อนตรวจ

2. งดสูบบุหรี่ งดรับประทานอาหารมื้อหนัก ห้ามดื่มชา กาแฟ ก่อนการทดสอบอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง

3. งดยาบางชนิดก่อนการตรวจตามคำแนะนำของแพทย์

4. เลือกสวมรองเท้าที่ใส่สบายเหมาะแก่การออกกำลังกาย การทดสอบด้วยการเดินบนสายพานเลื่อน ก่อนทดสอบ เจ้าหน้าที่จะติดแผ่นขั้วสัญญาณไฟฟ้าไว้บริเวณทรวงอก เพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจ พร้อมทั้งรัดสายวัดความดันโลหิต ขณะทดสอบ ผู้รับการตรวจต้องเดินบนสายพาน โดยสายพานจะเริ่มจากช้าๆ และเพิ่มความเร็วและความชันของเครื่องเป็นระยๆ ตามโปรแกรมที่เหมาะสมกับสภาพของผู้ทดสอบ หลังทดสอบ ผู้ทดสอบพักจนคลื่นไฟฟ้าหัวใจและความดันโลหิตกลับมาระดับปกติ เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบ สามารถทราบผลการทดสอบได้ทันที

ข้อควรระวังขณะตรวจ ถ้ามีความรู้สึกผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

1. มึนงง เวียนศีรษะ

2. รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ หายใจไม่ออก

3. รู้สึกอึดอัดบริเวณหน้าอก แขนหรือขากรรไกร ปวดหรือเป็นตะคริวที่ขา

ข้อควรระวังหลังการตรวจ หากพบอาการเจ็บแน่นหน้าอก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแพทย์โดยเร่งด่วน ผลการตรวจ ถ้าผลเป็นบวก แบ่งเป็น 3 ชนิดได้แก่

1. หลอดเลือดหัวใจตีบไม่รุนแรง ควรควบคุมปัจจัยเสี่ยง รับประทานยาสม่ำเสมอ ถ้าไม่ดีขึ้นควรได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจต่อไป

2. หลอดเลือดหัวใจตีบปานกลาง ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแผนการรักษาของแพทย์ และอาจพิจารณาฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ

3. หลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง ควรได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม

เช่น การทำบอลลูนขยายหลอดเลือด การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ

ถ้าผลเป็นลบ 1. แสดงว่าไม่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบไม่รุนแรง

2. ปรึกษาแพทย์เพื่อการปฏิบัติตัว

3. ตรวจค้นหาสาเหตุอื่นของอาการเจ็บหน้าอกต่อไป

 

ที่มา : นพ.ธีรยุทธ์ ศรีสินรุ่งเรือง

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/kayaya/2010/08/04/entry-1