การรักษาโรคหัวใจในเด็กด้วยสายสวน
เป็นการรักษาโรคหัวใจในเด็กผ่านทางการสวนหัวใจ แต่เดิมการสวนหัวใจเป็นขั้นตอนหนึ่งของการวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็ก โดยใช้สายสวนหัวใจ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตรใส่เข้าไปในเส้นเลือด (โดยทั่วไปมักใช้เส้นเลือดบริเวณขาหนีบ) แล้วค่อยๆ ปล่อยให้สายสวนหัวใจผ่านไปตามเส้นเลือดจนปลายสายผ่านเข้าไปถึงหัวใจเพื่อทำการวัดความดันในตำแหน่งต่างๆ ในหัวใจ และดูดเลือดจากบริเวณต่างๆ ในหัวใจมาทำการตรวจวิเคราะห์ หลังจากนั้นจะทำการถ่ายภาพเอกซเรย์พร้อมกับการฉีดสารทึบรังสี เพื่อแสดงความผิดปกติต่างๆ ในหัวใจ ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าขึ้น ในปัจจุบันเราสามารถใช้อุปกรณ์ผ่านเข้าไปทางสายสวนหัวใจในขณะที่ทำการสวนหัวใจ เพื่อไปทำการแก้ไขความผิดปกติของหัวใจโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด
โรคหัวใจในเด็กที่สามารถทำการแก้ไขได้โดยใช้สายสวน แบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ
1. โรคที่มีลิ้นหัวใจหรือเส้นเลือดตีบ
การแก้ไขกระทำได้โดยใช้สายสวนหัวใจที่มีลูกโป่งติดอยู่ที่ปลายสาย ผ่านเข้าไปตามเส้นเลือดจนปลายสายเข้าไปถึงหัวใจและลูกโป่งที่ปลายสายอยู่ตรงตำแหน่งที่ตีบ (ซึ่งอาจจะเป็นลิ้นหัวใจ หรือเส้นเลือด) หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เป่าลูกโป่งให้พองออก เพื่อให้ลูกโป่งค่อย ๆ ถ่างขยายรอยตีบให้กว้างออก สำหรับรอยตีบบริเวณเส้นเลือด ในบางกรณีการใช้ลูกโป่งขยายรอยตีบอาจจะไม่เพียงพอ เราจะใช้อุปกรณ์พิเศษที่มีลักษณะเป็นวงลวดโลหะ เรียกว่า stent ไปช่วยถ่างขยายบริเวณที่ตีบ เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น
2. โรคที่มีรูรั่วของเส้นเลือดหรือรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจ
การแก้ไขกระทำได้โดยผ่านสายสวนหัวใจเข้าไปตามเส้นเลือดจนปลายสายเข้าไปถึงบริเวณรูรั่ว หลังจากนั้นจะปล่อยอุปกรณ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปิดรูรั่วผ่านไปตามสายสวนหัวใจ และไปวางอยู่ตรงตำแหน่งรูรั่วเพื่อปิดรูรั่ว อุปกรณ์ที่ใช้ขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของรูรั่ว เช่น รูรั่วในเส้นเลือด ถ้ารูรั่วมีขนาดเล็กอาจใช้ขดลวดเรียกว่า coil ไปวางเพื่อปิดรูรั่ว สำหรับรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจหรือรูรั่วในเส้นเลือดที่มีขนาดใหญ่ จะใช้อุปกรณ์ที่มีรูปร่างและลักษณะต่าง ๆ กัน เพื่อความเหมาะสมสำหรับการรักษา การรักษาวิธีนี้เป็นที่ยอมรับแล้วในต่างประเทศว่าได้ผลทัดเทียมกับการผ่าตัด แต่อุปกรณ์ยังมีราคาค่อนข้างสูงในบ้านเรา
ข้อจำกัด ของการรักษาโรคหัวใจในเด็กด้วยสายสวน คือให้ผลดีในการแก้ไขความผิดปกติในโรคหัวใจบางโรคเท่านั้น ได้แก่การใช้ลูกโป่งขยายลิ้นหัวใจหรือเส้นเลือดที่ตีบ การใช้ขดลวดปิดรูรั่วของเส้นเลือด และการใช้อุปกรณ์ปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องบน ความผิดปกตินอกเหนือจากที่กล่าวยังจำเป็นต้องแก้ไขโดยการผ่าตัด
ข้อดีของการรักษาโรคหัวใจในเด็กด้วยสายสวน คือ
1. สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องดมยาสลบ (เพียงแค่ฉีดยาให้นอนหลับในเด็กเล็ก)
2. มีแผลขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ที่บริเวณขาหนีบซึ่งเกิดจาการเจาะเข้าไปในเส้นเลือด
3. ใช้เวลาพักฟื้นสั้น โดยทั่วไปจะอยู่โรงพยาบาลเพียง 2-3 วัน
การรักษาด้วยวิธีนี้จึงดีกว่าการผ่าตัดซึ่งต้องดมยาสลบ มีบาดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่บริเวณหน้าอก และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลนานกว่า (ประมาณ 7-10วัน)
ข้อเสียของการรักษาโรคหัวใจในเด็กด้วยสายสวน คือ
1. ราคาอุปกรณ์ที่ใช้ เช่นลูกโป่งหรืออุปกรณ์ปิดรูรั่ว ส่วนใหญ่ยังมีราคาสูง
2. ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ในบางกรณีอุปกรณ์ที่ใช้ปิดรูรั่วอาจเลื่อนหลุดไปอยู่ในตำแหน่งอื่นนอกรูรั่ว ซึ่งอาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้
รศ.นพ.พรเทพ เลิศทรัพย์เจริญ
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.doctordek.com/index.php/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AF/23-18