นัดพบแพทย์

คัดกรองลำไส้ใหญ่ตรวจตับก่อนเป็นมะเร็ง

13 Sep 2016 เปิดอ่าน 2049

ลำไส้ใหญ่และตับเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ท่ามกลางเส้นทางยาวคดเคี้ยวถึง 1 เมตรของลำไส้ใหญ่ และความใหญ่ของตับที่มีน้ำหนักเกือบ 2 กิโลกรัมในผู้ชาย อาจจะมีรอยโรคเล็กๆ แทรกตัวอยู่โดยไม่แสดงอาการ นานวันเข้ารอยโรคก็ค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินแก้ ดังนั้นวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้คิดค้นเครื่องมือและวิธีการต่างๆ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะทั้งสองนี้ อันจะเป็นการ “ตรวจสอบก่อนเสื่อม”

 คัดกรองลำไส้ใหญ่ก่อนเป็นมะเร็ง

การตรวจคัดกรองลำไส้ใหญ่นับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ในเพศชายและอันดับ 5 ในเพศหญิง รอยโรคของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเบื้องต้นจะเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ก่อน และจะใช้เวลาอีก 10-15 ปีในการพัฒนาตัวเป็นเนื้อร้าย การตรวจเจอและตัดติ่งเนื้อออกก่อนจึงเท่ากับเป็นการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ดังผลการศึกษาจากวารสารทางการแพทย์หลายๆ ฉบับที่บ่งชี้ว่าการที่ตรวจคัดกรองแล้วเจอติ่งเนื้อ จากนั้นจึงตัดออก จะสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 80

ช่วงอายุที่เริ่มทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ พิจารณาได้เป็น 2 กรณี ให้เลือกใช้อายุที่น้อยกว่าดังนี้

 บุคคลปกติให้เริ่มตรวจเมื่อมีอายุได้ 50 ปี

 บุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัว (พ่อแม่พี่น้องไม่รวมน้าอา) ป่วยด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้ตามประวัติว่าญาติสายตรงของตนที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว เริ่มป่วยที่อายุเท่าไหร่ แล้วนำอายุนั้นลบไปอีก 10 ก็จะได้อายุที่ต้องเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่อายุลบ 10 มากกว่า 50 ปี ให้เริ่มตรวจที่ตอนอายุ 50 ปี ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. มีพ่อป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อตอนอายุ 50 ปี ดังนั้น อายุที่ นาย ก. ควรจะเริ่มรับการตรวจคัดกรองลำไส้ใหญ่ คือ 50-10 = 40 ปี หรือ นาย ข. มีแม่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่ออายุ 70 ปี 70-10 = 60 ซึ่งมากกว่า 50 ดังนั้น อายุที่นาย ข. ควรจะเริ่มรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ 50 ปี

 การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

 การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Stool occult blood) โดยการนำอุจจาระไปตรวจสอบว่ามีธาตุเหล็ก (ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดแดง) ปนมาหรือไม่ การตรวจควรทำทั้งหมด 3 ครั้ง คือ เก็บอุจจาระ 3 วัน แล้วส่งตรวจในคราวเดียวกัน หากได้ผลลบทั้ง 3 ครั้ง ถือว่าปกติ แต่ถ้าพบผลบวกคือมีธาตุเหล็กปนมาในอุจจาระแม้เพียงครั้งเดียวจากการตรวจ 3 ครั้ง ให้ตรวจคัดกรองด้วยวิธีอื่นต่อไป เพื่อยืนยันว่ามีมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ การตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ควรตรวจเป็นประจำทุกปี

ข้อดี ง่าย

ข้อเสีย ความไวในการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำ (ประมาณร้อยละ 30-50) และยังพบผลบวกลวงมาก (ผลการทดสอบเป็นบวก แต่ไม่มีมะเร็งลำไส้ใหญ่) เช่น ในช่วงที่รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง อย่างเช่น ต้มเลือดหมู เป็นต้น

 การตรวจหา DNA ที่เกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอุจจาระ (fecal DNA test) เป็นวิทยาการใหม่ วิธีการ อ นำอุจจาระมาตรวจหาว่ามีสารพันธุกรรมหรือ DNA ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปนอยู่หรือไม่ เพราะในลำไส้ใหญ่มีการหลุดลอกของเซลล์อยู่เสมอๆ สำหรับความถี่ในการตรวจ คือ ทุก 3 ปี

ข้อดี ความไวดีกว่าการตรวจแบบแรก คือ ประมาณร้อยละ 70-80 มีความจำเพราะเจาะจงดีขึ้น

ข้อเสีย ค่าใช้จ่ายสูง

 การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยแป้งแบเรียม (Barium enema) เป็นการนำแป้งแบเรียมสวนเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อให้เข้าไปที่ลำไส้ใหญ่ แล้วเอกซเรย์หาความผิดกติ ความถี่ในการตรวจคือทุก 5 ปี

ข้อดี ความไวในการตรวจจับประมาณร้อยละ 70-80

ข้อเสีย อาจตรวจไม่พบติ่งเนื้อที่เล็กกว่า  1 ซม.

  การทำเอกซเรย์ (CT colonography) เป็นวิทยาการใหม่ ใช้การเอกซเรย์ลำไส้ด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อดูว่มีรอยโรคหรือไม่ความถี่ในการตรวจคือทุก 5 ปี

ข้อดี ความไวในการตรวจจับประมาณร้อยละ 80-90

ข้อเสีย อาจตรวจไม่พบติ่งเนื้อที่มีขนาดเล็กกว่า 6 มิลลิเมตร

  การส่องกล้อง มี 2 วิธี ได้แก่ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ข้างซ้าย (Sigmoidoscopy) และ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ข้างซ้ายถ้าไม่เจอติ่งเนื้อ ให้มาตรวจซ้ำทุก 5 ปี แต่ถ้าพบติ่งเนื้อให้ทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด เนื่องจากมีโอกาสที่จะพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ส่วนอื่น สำหรับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด จัดว่าเป็นการตรวจที่ดีที่สุดในปัจจุบัน หากตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ ควรมาตรวจซ้ำทุก 10 ปี

ข้อดี การตรวจแบบส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมดมีความแม่นยำในการตรวจจับสูงถึงร้อยละ 95-98

ข้อเสีย ต้องทำโดยบุคลากรที่มีความชำนาญเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยยังมีจำนวนจำกัด นอกจากนี้ยังพบภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจได้ เช่น เลือดออกตรงลำไส้ใหญ่หลังจากการส่องกล้อง (เกิดได้ประมาณร้อยละ 0.01-0.1 ขึ้นกับความชำนาญของแพทย์ผู้ส่องกล้อง) หรือลำไส้ใหญ่ทะลุ เนื่องจากการส่องกล้องและเป็นการตรวจที่มีราคาแพงที่สุด เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีอื่น

  การเจาะเลือดดูค่า CEA (Carcinoembryonic Antigen) ซึ่งเป็นค่าสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณร้อยละ 40 มีค่า CEA ไม่สูง ดังนั้น การตรวจด้วยวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่พลาดโอกาสเข้ารับการรักษา ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งจำให้การรักษายากขึ้นและมีประสิทธิภาพน้อย

ก่อนที่จะรับการตรวจคัดกรองแต่ละวิธี ควรมีการเตรียมตัวให้เหมาะสม โดยทั่วไปการตรวจอุจจาระไม่ต้องการเตรียมตัวเป็นพิเศษ สามารถเก็บอุจจาระมาส่งตรวจได้เลย แต่การตรวจโดยการสวนแป้งแบเรียมการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการส่องกล้อง จะต้องมีการเตรียมลำไส้ให้สะอาดก่อนตรวจ โดยการรับประทานยาระบายจนกว่าอุจจาระที่ถ่ายออกมาจะใส ซึ่งอาจมีปัญหาสำหรับผู้ที่มีสุขภาพไม่ค่อยดี อนึ่ง ในกรณีที่ส่องกล้อง ควรงดยาคลอพิโดเกรล (Clopidogrel) เป็นเวลา 5 วัน ก่อนรับการตรวจ ส่วนยาละลายลิ่มเลือดควรงด 3-5 วัน ก่อนตรวจ สำหรับแอสไพรินสามารถรับประทานได้ตามปกติ

นอกเหนือจากการรับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีที่พิจารณาแล้วว่าเหมาะสม และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลแล้ว พวกเราควรหมั่นดูแลสุขภาพของลำไส้ใหญ่ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานเส้นใยอาหารจากผักและผลไม้ งดการสูบบุหรี่ รวมทั้งหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ถ้ามีอากรปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อยถ่ายเป็นเลือด ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไปจากปกติ อุจจาระลำเล็กลงหรือมีมูกเลือดปน เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม

  ตรวจตับก่อนเป็นมะเร็ง

ผู้ป่วยโรคตับควรจะได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ โดยผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่เป็นชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวน์ ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็ง ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตามควรจะได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ทุกๆ 6 เดือน การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI) จะทำเฉพาะบางกรณีเท่านั้น ไม่ทำกับผู้ป่วยทั่วไป เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

 ราคาแพง

 เทคนิคดังกล่าวต้องมีการฉีดสีเข้าไปในร่างกาย เพื่อทำให้เห็นตับชัดขึ้น สีเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ เช่น แพ้ ไตวายเฉียบพลัน

 รังสีจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มีความเข้มข้นมาก จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในส่วนอื่นๆ ได้

 การตรวจค่าเลือดที่เกี่ยวข้องกับตับและมะเร็งตับมีดังต่อไปนี้

• ค่าการทำงานของตับ หรือระดับเอนไซม์ของตับ ได้แก่ SGOT (AST) และ SGTP (ALT) ในกรณีที่ตับอักเสบ เซลล์ตับจะถูกทำลายมากกว่าปกติ ทำให้เอนไซม์เหล่านี้ซึ่งปกติอยู่ในเซลล์ตับ จะถูกปล่อยออกจากเซลล์ตับออกมาสู่กระแสเลือด ระดับของเอนไซม์ในกระแสเลือดจึงสูงขึ้น บุคคลทั่วไปควรทำการตรวจค่าการทำงานของตับปีละครั้ง เพื่อจะได้ทราบว่าตับมีความผิดปกติ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับหรือไม่

 • การตรวจหาร่องรอยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี เนื่องจากประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคดังกล่าวสูง และโรคดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งตับ ทุกคนจึงควรตรวจหาร่องรอยของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีควรตรวจ HBsAg ในขณะที่ไวรัสตับอักเสบซีควรตรวจ anti-HCV

• การตรวจค่า AFP (alpha-fetoprotein) บางโรงพยาบาลอาจจะตรวจค่านี้คู่กับการทำอัลตราซาวนด์ แต่ปัจจุบันค่านี้มีบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ ในการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ เนื่องจากมีข้อมูลว่าไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่นัก การตรวจค่านี้เพียงอย่างเดียวให้ความไวแค่ร้อยละ 20-30

การตรวจคัดกรองโรคตับโดยการเจาะเลือดและอัลตราซาวนด์นับว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากความผิดปกติของตับมักจะไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นออกมาภายนอก บางคนที่ตับแข็งแล้วยังไม่มีอาการก็มี และกว่าจะมีอาการแสดงออกมาโรคตับก็อาจจะถึงขั้นที่ยากแก่การรักษา อาการที่เห็นเมื่อตับมีความผิดปกติมาก ได้แก่ อ่อนเพลีย ตาเหลือง ตัวเหลือง

 สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูแลสุขภาพตับคือ การป้องกันภาวะตับอักเสบ ซึ่งทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ยาบางชนิดที่ไม่จำเป็น (เพราะยาหรือสมุนไพรบางชนิดอาจทำให้ตับอักเสบได้ แม้แต่วิตามินเอในขนาดที่มากกว่า 20,000 ยูนิตต่อวัน ก็ทำให้ตับอักเสบได้) พยายามควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะการมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์จนเป็นโรคอ้วน จะทำให้ไขมันพอกตับ ทำให้ตับอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับในที่สุด

 

ผศ.นพ.วัชรศักดิ์ โชติยปุตตะ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://health.haijai.com/2167/