ประมาณสองสามสัปดาห์ก่อน มีท่านผู้อ่านทางบ้านมีข้อสงสัยเรื่องแผลเป็นว่า “ดิฉันมีแผลเย็บบริเวณหางคิ้ว เพิ่งตัดไหมได้หนึ่งอาทิตย์ ลักษณะของแผลยังเป็นรอยแดงเป็นเส้นเล็ก ๆ เหมือนแมวข่วน มีวิธีการดูแลรักษาแผล ไม่ให้เป็นคีลอยด์ได้บ้างไหมคะ?” สบโอกาสให้หมอได้เขียนเล่าเรื่อง
คีลอยด์กันค่ะ
คีลอยด์ (Keloid) หรือแผลเป็นกล้ามปู คือ แผลเป็นที่เกิดจากการที่ผิวหนังพยายามจะสมานตัวเอง แต่ดันทำเกินความจำเป็น จึงทำให้เกิดพังผืดเป็นแผลเป็นนูนขึ้น โดยตัวมันจะไม่หยุดการสร้างพังผืดไว้ที่ขอบของแผลเหมือนกับ แผลเป็นนูน (นูนขึ้นแต่ไม่ใหญ่เกินขอบของแผลเดิม) ตัวมันสามารถงอกแขนขาออกมาจากขอบแผลเดิม จนกว่าจะพอใจแล้วจึงหยุดโตเอง นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้มันดูน่ากลัว โดยเฉพาะถ้าเป็นในบริเวณที่เห็นได้ชัด เช่น บนใบหน้า หรือ
ติ่งหู เป็นต้น
คีลอยด์จะค่อยๆโตขึ้น ในช่วงเวลา 2-3 เดือนหลังเป็นแผล พบบ้างในบางคนที่อาจโตเร็ว โดยสามารถโตได้มากกว่าสามเท่าของขนาดแผลเดิม และ
ยังสร้างความรำคาญให้แก่ผู้เป็นเจ้าของได้ ด้วยอาการ เจ็บแปลบ คัน ปวด แสบร้อน โดยเฉพาะเวลาอากาศเย็นหรือร้อนจัด ส่วนใหญ่แล้วอาการที่มักพาคนไข้มาพบหมอนั้น เห็นจะไม่พ้นเรื่องของ ความสวยงามเป็นหลัก เพราะตัวมันเองมักจะมีสีออกแดงหรือน้ำตาลเข้ม มิหนำซ้ำยังมีขอบขรุขระทำให้ดูไม่น่ารักเป็นที่สังเกตได้ง่าย จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องดังกล่าว
คีลอยด์มักพบในช่วงอายุ 10-30ปี ไม่ค่อยพบในเด็กและผู้สูงอายุ และตามรายงานพบว่าพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คีลอยด์พบในคนเอเชีย และ คนแอฟริกัน มากกว่าในคนตะวันตกผิวขาว โดยมักขึ้นหลังการเกิดแผลหรือมีการอักเสบของผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณ ติ่งหู คอ หัวไหล่ หน้าอก หน้าท้อง ส่วนบนใบหน้านั้น มักพบบริเวณแนวกราม ไม่ว่าจะเป็นแผลจากสิว โดนแมลงกัด แผลขีดข่วน หรือ แผลผ่าตัดก็ตาม
ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดคีลอยด์นั้นคืออะไร พบเพียงว่าอาจมีความเกี่ยวเนื่องกับยีน (Gene) บางตัว จากสถิติพบว่า คีลอยด์จะพบมากขึ้นหรือน้อยลงในบางเชื้อชาติดังที่กล่าวข้างต้น หรือในบางครอบครัวอาจพบสมาชิกทุกคนในครอบครัวเป็นคีลอยด์กันหมด และมักพบมากในคนกรุ๊ปเลือดเอ ข้อดีอย่างหนึ่งของคีลอยด์คือ ถึงแม้มันจะโตเร็วแต่จากสถิติยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของคีลอยด์ไปเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นคีลอยด์ง่าย คือ การป้องกันไม่ให้เกิดแผลหรือการอักเสบของผิวหนัง
พ.ญ. อนงค์ลักษณ์ รัตนศิริวิไล
แพทย์ด้านผิวหนัง สถาบันความงาม
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ขอบคุณบทความจาก : https://www.facebook.com/SamitivejClub/photos/a.114832481884565.11407.113238002044013/661304660570675/?type=1&theater