นัดพบแพทย์

จริงหรือไม่ที่โรคหลอดเลือดสมองได้รับยาไม่ทันภายใน 4.5 ชั่วโมง ยังมีโอกาสรอด

21 Sep 2016 เปิดอ่าน 1839

โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก หากเกิดขึ้นและรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมีหลากหลายมาก เนื่องจากสมองควบคุมอวัยวะแทบทุกส่วนในร่างกาย แต่อาการที่พบบ่อยและสังเกตได้ง่าย ได้แก่ หน้าเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กินข้าวกินน้ำแล้วรั่วออกทางมุมปาก พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน เสียงอ้อแอ้ นึกคำพูดไม่ออก มีอาการชา แขนขาอ่อนแรง ยกมือขึ้นแล้วมือตกลงไป อาการเหล่านี้พบมากถึง 70-80% นายแพทย์ภูชิต สุขพัลลภรัตน์ แพทย์อายุรกรรมประสาท ประจำศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 จึงแนะนำให้คนทั่วไปสังเกตจากอาการเหล่านี้เป็นหลัก ขอให้รีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไปหมายถึงเซลล์สมองที่ตายมากขึ้นเรื่อยๆ

เวลาคือปัจจัยสำคัญ
     การรักษาโรคหลอดสมองด้วยการให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ระยะเวลาที่ปลอดภัยสำหรับการให้ยาสลายลิ่มเลือดคือ 3-4 ชั่วโมงครึ่ง นับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ หากปล่อยทิ้งไว้นานกว่านั้นเนื้อสมองอาจตายไปเยอะจนไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน หรือผลข้างเคียงของยาอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้
 
ทางเลือกในการรักษา
     กรณีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลล่าช้าเกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง จนไม่สามารถรักษาด้วยการให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ ก็ยังมีทางเลือกอื่นในการรักษา แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะของโรคในขณะนั้นด้วยว่าจะเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีใด ในเบื้องต้นเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการตรวจประเมินหลอดเลือดด้วย CT สแกน ทำ MRI หรือฉีดสีดูหลอดเลือด เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคให้แม่นยำก่อน จากนั้นจึงพิจารณาเลือกวิธีการรักษาในลำดับถัดไป
นายแพทย์ภูชิตอธิบายว่า บางรายที่หลอดเลือดใหญ่อุดตันและเนื้อสมองยังไม่ตายมากจนเกินไป แพทย์จะใช้วิธีการต่างๆ เข้าไปเปิดหลอดเลือด เช่น ใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าไปบริเวณที่อุดตันและฉีดยาเข้าไปสลาย หรือใส่อุปกรณ์เข้าไปลากลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ออกมา เพื่อเปิดทางให้เลือดสามารถเข้าไปเลี้ยงสมองได้อีกครั้ง แต่ถ้าเป็นการอุดตันบริเวณหลอดเลือดฝอยที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถใส่อุปกรณ์เข้าไปเปิดหลอดเลือดได้ ก็อาจต้องยอมให้เนื้อสมองตรงส่วนนั้นตายไป และให้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดอื่นตีบตันเพิ่ม เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ซึ่งหากโรคหลอดเลือดสมองเกิดกับเส้นเลือดเล็กๆ ความเสียหายก็มักจะน้อยกว่าเส้นเลือดใหญ่อยู่แล้ว
การเปิดหลอดเลือดนิยมใช้วิธีแทงเข็มเข้าไปบริเวณขาหนีบ ถ้าผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการแทงเข็ม เช่น เลือดออกง่ายผิดปกติ หรือมีแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ทำให้แทงเข็มไม่ได้ ข้อควรระวังในการรักษาก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างจากผู้ป่วยที่รักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด
 
โรคอื่นๆ ที่มักพบร่วม
     โรคที่ตามมาจากโรคหลอดเลือดสมอง มีทั้งโรคที่เป็นผลทางตรงและทางอ้อม โรคทางตรงจะขึ้นอยู่กับว่าหลอดเลือดสมองที่มีปัญหานั้นไปเลี้ยงสมองส่วนไหน ถ้าโดนจุดที่ทำให้แขนขาอ่อนแรง ลุกเดินไม่ได้ ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแผลกดทับ หรือทำให้การหายใจ การกลืนลำบากขึ้น อาจสำลักอาหารจนเป็นสาเหตุให้ปอดติดเชื้อได้ ส่วนผลกระทบอื่นๆ ที่คนทั่วไปไม่ค่อยทราบหรือมองข้ามไป หรือบางครั้งไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง ก็เช่นโรคสมองเสื่อม หลายคนไม่ทราบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วส่งผลถึงอาการสมองเสื่อมด้วย จริงๆ เป็นสาเหตุที่พบค่อนข้างมาก เป็นอันดับสองรองจากภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์
 
ลดความเสี่ยงเลี่ยงโรคร้าย
     ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง อย่างแรกที่ทุกคนคงหลีกเลี่ยงไม่ได้คืออายุ พอสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ หลอดเลือดก็จะเสื่อมและมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ทุกคน และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือพันธุกรรม บางครอบครัวมีลักษณะทางพันธุกรรมที่หลอดเลือดเสื่อมได้ง่าย หากพ่อแม่เคยเป็นลูกก็มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงขึ้น ปัจจัยทางพันธุกรรมเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่มีส่วนที่พอจะป้องกันได้คือการควบคุมความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด หรือมีไขมันมาก ลดละเลิกการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองลงได้    
 
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://phyathaistrokecenter.com/info_view.php?inf_id=514