ปัจจุบันนี้โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นง่ายๆ หากไม่รู้จักดูแลตัวเองให้ดี โดยเฉพาะโรคที่มาจากเรื่องอาหารการกิน เช่น โรคริดสีดวงทวาร ที่หากรับประทานหนักแต่เนื้อสัตว์ แป้งและไขมัน แต่บริโภคผักและผลไม้สดน้อย ก็อาจจะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก ถ่ายยาก จนส่งผลให้เป็นโรคดังกล่าวได้
นพ.ณรงค์ จรัสวิโรจน์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มาให้ความรู้ในเรื่องนี้ คุณหมอกล่าวว่า เพราะโรคนี้เป็นกันมากขึ้นในเด็กวัยรุ่น ที่พบอายุน้อยสุดในวัยเพียง 13 ปี และในวัย 40 ปี เริ่มเป็นมากขึ้นในกลุ่มหญิง-ชาย ถ้าอายุ 40 ปีขึ้นไปควรไปตรวจลำไส้ใหญ่ตอนปลายเพื่อตรวจหาริดสีดวงทวาร หรือมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งทวารหนัก ป้องกันไว้ดีกว่าแก้
สาเหตุของโรค
โรคริดสีดวงทวารหนัก เป็นโรคที่มีสิ่งผิดปกติยื่นออกมาจากร่างกาย ส่วนที่ยื่นออกมานั้นมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อ และตำแหน่งที่เกิดคือบริเวณทวารหนักที่เป็นทางขับถ่าย ติ่งเนื้อที่ผิดปกตินี้เกิดจากการบวมและอักเสบของหลอดเลือดดำที่ผนังลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุด หากเกิดกับเส้นเลือดดำที่ใต้ผิวหนังบริเวณปากทวารหนักอาจจะมองเห็นได้จาก ภายนอกเรียกว่า "ริดสีดวงภายนอก" แต่ถ้าเกิดกับเส้นเลือดดำที่อยู่ลึกเข้าไปด้านในของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเรียกว่า "ริดสีดวงภายใน"
สาเหตุของริดสีดวงส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมในการขับถ่ายอุจจาระที่ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระบ่อยๆ และนานๆ ซึ่งเกิดจากอาการท้องผูก การชอบอ่านหนังสือในขณะขับถ่าย การยืนหรือนั่งท่าใดท่าหนึ่งติดต่อกันนานๆ การกลั้นอุจจาระ เป็นต้น
การเบ่งถ่ายอุจจาระนานๆ ทำให้แรงดันในช่วงท้องเพิ่มขึ้น หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักจึงเกิดการยืด โป่งพองขึ้นเป็นติ่งเนื้อ ความหนาของผนังเส้นเลือดดำจะน้อยลง เมื่อเกิดการเสียดสีกับอุจจาระที่หยาบและแข็งจะทำให้หลอดเลือดดำเกิดปริแตกหรือฉีกขาดได้ จึงเห็นเป็นเลือดสดๆ ออกมาจากทวารหนัก นอกจากนี้การร่วมเพศทางทวารหนัก ท้องผูกเรื้อรัง อาการท้องเสียเรื้อรัง ชอบใช้ยาระบายหรือยาสวนทวารอย่างพร่ำเพรื่อ ก็เป็นส่วนที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนักได้
อาการของโรค
คือเวลาถ่ายอุจจาระจะเจ็บปวดรอบทวารหนัก มีก้อนเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนัก รอบทวารหนักจะเปียกแฉะและคัน หลังการถ่ายอุจจาระจะมีเลือดสดๆ ออกมาทางทวารหนักหากคลำดูบริเวณรอบๆ ทวารหนักจะรู้สึกว่ามีก้อนเนื้อนูนหรือเป็นติ่งยื่นออกมา
ระยะของโรค
1. ระยะเริ่มแรกที่ติ่งเนื้อยังอยู่ภายในทวารหนักจะไม่ค่อยเจ็บ แต่อาจจะมีเลือดออกเป็นบางครั้งเมื่อเบ่งถ่าย
2. ระยะที่ติ่งเนื้อเริ่มโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และจะหดตัวกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เอง
3. ระยะที่ติ่งเนื้อโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่าย แต่ไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้เอง ต้องใช้มือดันกลับเข้าไปในทวารหนัก
4. ระยะที่ติ่งเนื้อยื่นออกมาและใหญ่จนไม่สามารถกลับเข้าไปเองได้ ถึงแม้จะใช้มือช่วยดันแล้วก็ตาม
การรักษา
โรคริดสีดวงทวารหนัก ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ริดสีดวงในระยะที่ 1 หากมีการดูแลรักษาปฏิบัติตามคำแนะนำอาการเจ็บปวดและเลือดออกก็จะทุเลาและหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นริดสีดวงระยะที่ 2 และ 3 จะใช้วิธีรักษาโดยการปฏิบัติตามคำแนะนำควบคู่ไปกับการใช้ยา สำหรับริดสีดวงในระยะที่ 4 (รุนแรง) มีเลือดไหลอยู่เรื่อยๆ ต้องรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโดยการใช้ยา ยาเหน็บทางทวารหนักเป็นยาใช้ภายนอก ประกอบด้วย ยาบรรเทาอาการปวด (ยาชา) ยาช่วยให้หลอดเลือดหดตัวยาปฏิชีวนะและยาลดการอักเสบ ยาโรคริดสีดวงมีทั้งชนิดขี้ผึ้งและชนิดแท่ง ใช้เหน็บวันละครั้ง
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและรักษาโรค
1. เลือกกินอาหารที่มีเส้นใยสูงเช่น ธัญพืชผัก-ผลไม้ต่างๆ เพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น
2. ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้วเป็นอย่างน้อยทุกวัน
3. อย่าปล่อยให้เกิดอาการท้องผูก การเบ่งอุจจาระจะเป็นการเพิ่มอาการริดสีดวงให้มากขึ้น
4. อย่าฝืนเบ่งอุจจาระโดยที่ไม่รู้สึกปวดถ่าย5.อย่าทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออาการริดสีดวงโดยการถูรอบๆ ทวารหนักอย่างรุนแรง
6. การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น
7. นั่งแช่ในน้ำอุ่น 10-15 นาที เพื่อลดอาการปวดริดสีดวงและการอักเสบ หากปวดมากให้กินยาแก้ปวด-อักเสบ
8. ใช้ยาเหน็บวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอนจะช่วยให้อาการริดสีดวงดีขึ้น
9. กินยาช่วยลดอาการคั่งของเลือด10.ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ให้ปรึกษาแพทย์
ขอบคุณบทความจาก : http://www.thaihealth.or.th/Content/9452-%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87.html